พาณิชย์ เผยส่งออกพฤศจิกายนติดลบ 3.65% ด้านนำเข้าลบ 0.99% เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น ด้านระบาดโควิด-19 รอบใหม่ เชื่อไม่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ พร้อมมั่นใจทั้งปีติดลบไม่เกิน 7% ด้านปี 2564 คาดโต 4%
พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่า 18,932.66 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 3.65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) มีมูลค่า 211,385.69 ล้านบาท ติดลบ 6.92%
ขณะที่การนำเข้าในเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่า 18,880.07 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 0.99% ด้าน 11 เดือน มีมูลค่า 187,872.73 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 13.74% ส่งผลให้เดือนพฤศจิกายนเกินดุลการค้า 52.59 ล้านดอลลาร์ และ 11 เดือน เกินดุลการค้า 23,512.96 ล้านดอลลาร์
สำหรับการส่งออกในเดือน พ.ย. เป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี แม้ยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เศรษฐกิจโลกมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีข่าวดีเรื่องความคืบหน้าในการผลิต และกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิตและการบริโภค โดยสินค้าที่ขยายตัวดี เช่น สินค้าอาหาร เช่น ผัก และผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ และลดการแพร่ระบาด
ด้านตลาดส่งออก ตลาดสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่หลายตลาดกลับมาเป็นบวก เช่น ตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ขณะที่การค้าชายแดนของไทย โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV ยังได้รับผลกระทบจากการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา
“ยืนยันว่า การส่งออกจะติดลบไม่เกิน 7% แน่นอน และในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 4% โดยการส่งออกไทยได้รับปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจน ซึ่งในภาพรวมคาดว่า จะส่งผลดีต่อการส่งออกในเดือนสุดท้ายของปี และหากไทยได้รับวัคซีนช่วงกลางปี 2564 จะฟื้นความเชื่อมั่นได้เร็วขึ้น ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้” พิมพ์ชนก กล่าว
นอกจากนี้ เชื่อว่าแม้จะมีโควิด-19 ระบาดในหลายพื้นที่ แต่จากนโยบายการป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกรวมถึงไทย เชื่อว่าหลังจากนี้จะไม่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่จะปิดเป็นจุดเท่านั้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่รุนแรง ขณะเดียวกันมองว่า หากสามารถจำกัดวงของโควิด-19 ได้ และมีวัคซีน เชื่อว่าราคาน้ำมันน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ดีตามความต้องการของโลก
ส่วนปัจจัยลบที่ยังต้องติดตาม คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจยืดเยื้อ และ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อทั่วโลก สถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดสมุทรสาคร ที่จะต้องควบคุมไม่ให้เกิดการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทย ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันผู้ส่งออกประสบกับปัญหาขาดแคลนตู้สินค้า ซึ่งหลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ประเทศต่างๆ จะกลับมาส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น จึงต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกในอนาคต
ด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่ายอมรับว่าส่งผลกระทบ แต่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และมีนโยบายที่เหมาะสมออกมา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
รายงาน: ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์