วันนี้ (23 มีนาคม) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะงัก รวมถึงกระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีมูลค่า 20,642 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.47% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง และฐานสูงของอาวุธในการซ้อมรบในปีก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธ ยุทธปัจจัย การส่งออกของไทยขยายตัว 1.51%
ทั้งนี้ การนำเข้ามีมูลค่า 16,745 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.3% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 3,897 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาทเดือนกุมภาพันธ์ 2563 การส่งออกมีมูลค่า 622,310 ล้านบาท หดตัว 8.51% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 512,083 ล้านบาท หดตัว 8.24% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 110,226 ล้านบาท
ขณะที่การส่งออกไปตลาดสำคัญหลายตลาดปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการส่งออกไทยไปยังตลาดหลักหดตัว 21.5% ตามการลดลงของการส่งออกไปสหรัฐฯ หดตัว 37% เนื่องจากฐานของการส่งออกอาวุธในการซ้อมรบขยายตัวสูงในปีก่อน แต่หากหักอาวุธในการซ้อมรบออกแล้ว การส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวสูงถึง 18.3% นอกจากนี้การส่งออกไปสหภาพยุโรปขยายตัว 1.7% ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัว 11.1%
อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 3% โดยสินค้าที่หดตัว ได้แก่
- ข้าวหดตัว 26.6% โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ จีน แอฟริกาใต้ แคนาดา และโกตดิวัวร์
- ผัก ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป หดตัว 16.2% โดยเฉพาะในตลาดจีน ฮ่องกง และเวียดนาม
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 11.1% โดยเฉพาะในตลาดจีน อินโดนีเซีย ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้
- น้ำตาลทราย หดตัว 3.8% โดยเฉพาะในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เมียนมา และจีน
ส่วนสินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่
- ยางพารา ขยายตัว 6.2% โดยเฉพาะตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ บราซิล และสเปน
- อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 12.6% โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย และอินเดีย
- สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัว 19.9%
- ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 4.7%
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 5.2% มีกลุ่มสินค้าที่หดตัว ได้แก่
- อาวุธ กระสุน รวมทั้งส่วนประกอบ หดตัว 100%
- อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ หดตัว 31.5%
- สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว 10.7%
- รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 4.7%
- เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัว 10.6%
ขณะที่สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่
- ทองคำ ขยายตัว 178.4%
- เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ขยายตัว 60.8%
- เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ขยายตัว 6.5%
- ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 11.9%
- รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัว 28.9%
สุดท้ายนี้ มองว่าแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563 จะได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์โควิด-19 ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะสั้น-กลาง และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์