×

เอหิปัสสิโก (Come and See) ก้าวแรกไม่เป็นไร ก้าวต่อไปเจอกำแพงมนุษย์

11.04.2021
  • LOADING...
เอหิปัสสิโก (Come and See) ก้าวแรกไม่เป็นไร ก้าวต่อไปเจอกำแพงมนุษย์

 

กระแสของ เอหิปัสสิโก (Come and See) หนังสารคดีว่าด้วยการติดตามเหตุการณ์และผู้คนโดยรอบ กรณีการตามจับกุมตัว พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวพันกับคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เมื่อตอนปี 2560 ยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง จนต้องเพิ่มโรงฉายทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 

 

และท่ามกลางหนังที่ยืนโรงฉายในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งมีทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เอหิปัสสิโก ผลงานกำกับของ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ (2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว) ซึ่งถือเป็นหนังสารคดีฟอร์มเล็ก มีโรงฉายในจำนวนจำกัด กลับได้รับความสนใจและพูดถึงในวงกว้าง ทั้งที่หน้าหนังก็ไม่ได้มีตัวชูโรงอย่างคิงคองหรือก็อดซิลล่า หากแต่ความน่าสนใจและเนื้อในของหนังอยู่ที่การติดตาม สืบเสาะเข้าไปในสถานการณ์ประเด็นความขัดแย้งทางสังคม ความคิดที่อ่อนไหวและเปราะบางมากที่สุดเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ความเชื่อและศาสนา     

     

ซึ่งส่วนหนึ่งคงต้องยกความดีความชอบให้คณะกรรมการของสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม นะครับที่เคย ‘ลังเล’ ว่าจะให้หนังได้เข้าฉายดีไหม ก่อนที่สุดท้ายท้ายสุดจะยอมให้ฉายในเรต ‘ทั่วไป’ (เนื่องจากเจอกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถาโถม) อย่างที่เราทราบๆ กัน 

 

ก่อนจะเข้าไปสู่เนื้อหา สิ่งที่ต้องชื่นชม ไก่ ณฐพล เป็นอย่างแรกคือ สายตาของนักทำหนังสารคดีที่มองเห็นว่ากรณีเหตุการณ์  ‘ธรรมกาย’ มันเต็มไปด้วยมิติที่น่าสนใจใคร่รู้ และเหมาะควรแก่การพาตัวเองเดินเข้าไปร่วมสำรวจ บันทึก และสืบเสาะได้ในหลากหลายแง่มุม 

 

 

ขณะเดียวกัน ในความน่าสนใจ คนทำหนังเองก็ต้องหาญกล้าไม่แพ้หลวงปู่เค็ม ในการจะพาตัวเองเดินดุ่มเข้าไปในกองไฟ เพราะอย่างที่เราทราบๆ กันว่าประเด็นอันว่าด้วยความเชื่อ ความศรัทธา ศาสนา ที่เป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติ (และยิ่งเมื่อมันผูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ) นั้นก็ทั้งอ่อนไหว แหลมคม ต่อการจะนำพามาซึ่งดราม่าและข้อถกเถียงต่างๆ ได้ด้วยเช่นกัน 

 

จากสถานการณ์ที่มีจุดเริ่มต้นจากคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ก่อนที่หลักฐานจะผูกโยงเข้าไปเกี่ยวเนื่องกับวัดพระธรรกาย และพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาส ผู้ซึ่งเป็นที่เคารพและเสื่อมใสของศิษยานุศิษย์จำนวนมากมาย

 

ขณะเดียวกัน ผู้คนในสังคมจำนวนมากมายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ก็มีปฏิกริยาในแง่ลบทั้งต่อพฤติกรรมการเผยแพร่หลักคิด คำสอนทางพุทธศาสนา และหลักประเพณี พิธีกรรมทางพุทธที่บิดเบี้ยว ผิดแผก จากที่ภาพที่ตนเองคุ้นชิน ชนิดที่ถ้าแจกแจงความแตกต่างก็อาจจะต้องใช้เวลาได้เป็นวันเป็นสัปดาห์ และทั้งหมดทั้งมวลนำพามาซึ่งกระแสวิพากษณ์วิจารณ์ การติดตามข่าวการทำหน้าที่ของรัฐ (ที่ในเวลานั้นเป็นรัฐบาลซึ่งมาจากการรัฐประหาร… ที่ไม่อยากให้พูดว่าตนเองมาจากการรัฐประหาร ตามคำบอกเล่าของหนึ่งในบุคคลที่เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ในหนัง)

 

 

ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดความเชื่อตรงนี้นี่เอง ที่ผู้เขียนมองว่าสำหรับใครก็ตามแต่ ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธ ชาวไม่พุทธ ฝ่ายสนับสนุนวัด ฝ่ายไม่สนับสนุนวัด นั้นล้วนแล้วแต่ควรเดินเข้ามาดู ควรพินิจพิจารณาว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และมันสะท้อนภาพของสังคมไทยในแง่มุมไหนได้บ้าง  

 

สำหรับการทำหน้าที่ภาพยนตร์สารคดี เอหิปัสสิโก ซึ่งวางโพสิชันของตัวเองให้เป็นเพียงผู้เข้าไปเฝ้ามอง ติดตาม ทักถามถึงสิ่งที่หลายๆ คนในสังคมสงสัย เคลือบแคลงใจ จากคู่กรณีทางความคิดความเชื่อทั้ง 2 ฝั่ง หนังให้โอกาสในการที่ทางวัดธรรมกายจะพูดหรืออธิบายในสิ่งที่อยากบอก ขณะเดียวกันหนังก็เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายตรงข้ามได้เล่าบอกในมุมมองของตัวเองด้วยเช่นกัน  

 

ส่วนที่ถือเป็นไฮไลต์ชนิดที่ผู้ชมจะพลาดไม่ได้ คือการทำหน้าที่ประหนึ่งรายการ คนค้นฅน เวอร์ชัน ไก่ ณฐพล ด้วยการพาผู้ชมไปติดตาม ทำความรู้จักกับชีวิตและวิธีคิดของ ‘คนใน’ ของวัดพระธรรมกาย’ ที่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงไม่มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสกันง่ายๆ หากไม่ได้เป็นองคาพยพหนึ่งๆ ของวัด 

 

ก่อนที่ในช่วงสุดท้ายและบทสรุป หนังพาผู้ชมย้ำไปบนถนนที่พุ่งตรงไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างศิษยานุศิษย์กับเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อนำไปสู่การปิดล้อม ค้นหาพระธัมมชโย ที่หลายคนบอกว่าทั้งระทึก น่าตื่นเต้น (แต่ถ้าเคยตามข่าวเรื่องนี้มาก่อนอย่างผู้เขียน ก็อาจจะรู้สึกเฉยๆ) 

 

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยความตั้งใจที่จะวางโพสิชันของหนังให้เป็นเพียงผู้บันทึกและติดตาม (บางส่วน บางเสี้ยว) ของ ‘หนึ่งในเหตุการณ์ความขัดแย้ง’ ที่โด่งดังและได้รับความสนใจมากที่สุดของแวดวงพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ผู้เขียนก็รู้สึกว่าได้ความอ่อนยวบด้วยเช่นกัน ในการนำพาผู้ชมไปสู่ ‘การทำความเข้าใจ’ ถึงบริบทความขัดแย้งทางความคิดความเชื่อของกลุ่มคนทั้งสองฝั่ง ที่เคยนำพาผู้ชมไปติดตามพร้อมกับตั้งหลายๆ คำถามในใจเมื่อตอนเริ่มต้น  

 

แล้วจนกระทั่งเมื่อหนังเดินทางไปสู่ช่วงท้าย ที่เรื่องราวดำเนินไปสู่การฉายภาพฟุตเทจเหตุการณ์ปิดล้อมเพื่อค้นหาพระธัมมชโย หนังก็ได้พลิกผันประเด็นไปสู่อีกบริบท ที่คู่ความขัดแย้งเปลี่ยนเป็น ‘ศิษยานุศิษย์ของวัดพระธรรมกายกับเจ้าหน้าที่รัฐ’ 

 

ภาพของคนตัวเล็กๆ นั่งสมาธิ สวดมนต์ คล้องแขนเป็นกำแพงมนุษย์เพื่อกดดันกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐให้ต้องถอยร่น กลายเป็นซีนติดตรึง สั่นสะเทือนจนเราอาจจะหลงลืมประเด็นความขัดแย้งเมื่อแรกเริ่มไปสู่ประเด็นใหม่ที่ใหญ่กว่า ซึ่งแม้จะไม่เสียหาย แต่ก็น่าเสียดายเช่นกัน 

 

สุดท้ายนี้ การที่หนังใช้ชื่อว่า ‘เอหิปัสสิโก’ ซึ่งแปลจากภาษาบาลี อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในพุทธพจน์ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกของพุทธศาสนา สื่อความหมายได้ว่า

 

‘เป็นธรรมที่ควรเรียกให้มาดู’ 

 

หน้าที่ของ เอหิปัสสิโก (Come and See) ที่ร้องเรียกผู้คนให้เข้ามาดูธรรมนี้จึงสำเร็จแล้ว แต่หลังจากเดินออกมาจากโรงแล้วนี่ล่ะ จึงเป็นเวลาที่ผู้ชมอย่างเราๆ ท่านๆ ซึ่งก็ไม่จำเป็นเลยว่าจะนับถือศาสนาใด ในการจะใช้สติพิจารณา วิเคราะห์ สืบค้น ต่อยอดแง่มุมที่ตัวเองสนใจใคร่รู้ เพื่อต่อยอดไปสู่ปัญญาเฉพาะตนต่อไป 

 

ชมตัวอย่าง เอหิปัสสิโก (Come and See):

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising