ในวันที่ AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในประเด็นร้อนที่สังคมมักจะหยิบยกมาถกเถียงกันบ่อยครั้ง คือเรื่องที่ว่า ‘ผลงานจาก AI ควรได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่’ และในขณะที่เสียงของสังคมแตกออกเป็นสองส่วน มีนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของสหรัฐอเมริกาคนหนึ่งที่ขอสู้สุดตัว เพื่อเรียกร้องให้ผลงานจาก AI ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต่างกับผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นด้วยตัวเอง
นักวิทย์คอมสู้ หวังกฎหมายสหรัฐฯ คุ้มครองผลงานจาก AI
เรื่องราวเริ่มต้นจากปี 2018 สตีเฟน ธาเลอร์ (Stephen Thaler) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เคยยื่นขอจดลิขสิทธิ์ให้กับ ‘A Recent Entrance to Paradise’ ผลงานประเภททัศนศิลป์ที่เขาอ้างว่าระบบ AI ของตนเองที่มีชื่อว่า DABUS เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นเองโดยไม่มีการป้อนข้อมูลคำสั่งใดๆ จากมนุษย์
แต่แล้วในปี 2022 สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐฯ ปฏิเสธคำร้องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าผลงานศิลปะจำเป็นจะต้องสร้างสรรค์จากฝีมือมนุษย์ จึงจะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ก่อนที่ต่อมาในปี 2023 ผู้พิพากษาศาลแขวงของสหรัฐฯ จะยืนยันคำตัดสินของสำนักงานลิขสิทธิ์ โดยกล่าวว่าการที่มนุษย์มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะนั้นถือเป็นข้อกำหนดพื้นฐานด้านลิขสิทธิ์ โดยอิงจาก “ความเข้าใจอันเป็นที่ตกลงกันมานานหลายศตวรรษ”
ไม่ยอมแพ้ ขอยื่นอุทธรณ์ต่อ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2024 ธาเลอร์ร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ประจำเขตโคลัมเบีย (U.S. Court of Appeals for the District of Columbia Circuit) พิจารณาที่จะกลับคำตัดสินของสำนักงานลิขสิทธิ์ที่ระบุว่า ผลงานที่จะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ต้องมีมนุษย์เป็นผู้รังสรรค์ เนื่องจากตัวเขามองว่าหากสหรัฐฯ ให้ลิขสิทธิ์แก่งานที่สร้างสรรค์จาก AI ก็จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายของกฎหมายด้านลิขสิทธิ์ได้ในขอบเขตที่กว้างขึ้นกว่าเดิม
ในระหว่างการพิจารณา ธาเลอร์กล่าวว่า หากมาไล่ดูกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ แล้ว ไม่มีข้อใดที่กำหนดชัดเจนว่าจำเป็นจะต้องมีมนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์เท่านั้น โดยผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานอาจครอบคลุมได้ทั้งคน องค์กร หรือเครื่องจักรก็ได้ และการปกป้องผลงานศิลปะที่สร้างโดย AI ควรต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการสร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงานต่อไป
สำนักข่าว Reuters ได้ทำการสอบถามไปยัง ไรอัน แอบบอตต์ ทนายความของธาเลอร์ ซึ่งเขาเปิดเผยว่าตนเองไม่เห็นด้วยกับการตีความในรูปแบบนี้ โดยกล่าวว่าตลอดช่วงเวลากว่าศตวรรษที่ผ่านมา กฎหมายลิขสิทธิ์นั้นครอบคลุมต่อผลงานที่มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้รังสรรค์ โดยยกตัวอย่างว่าบริษัทต่างๆ ก็สามารถได้รับการพิจารณาให้เป็นเจ้าของผลงานได้ภายใต้กฎหมาย Copyright Act
ทั้งนี้ สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐฯ ยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ที่สุดแล้วเรื่องนี้จะจบลงเช่นไร
แฟ้มภาพ: Guillaume Via Getty Image
อ้างอิง: