×

ชาวมุสลิมไม่หยุดแบน Coca-Cola ฉุดรายได้ในตลาดตุรกีหดตัว เปิดทางแบรนด์ท้องถิ่นที่เป็นคู่แข่งโกยรายได้พุ่งขึ้น 10 เท่า

03.01.2025
  • LOADING...
Coca-Cola

อีกไม่นาน Coca-Cola อาจสูญเสียยอดขายน้ำอัดลมในตุรกี หลังชาวมุสลิมคว่ำบาตร ต้านแบรนด์เชิงสัญลักษณ์ของสหรัฐฯ ตัวการหนุนอิสราเอลทำสงครามในกาซา ฉุดรายได้ลดลงต่อเนื่อง เปิดทางให้แบรนด์น้ำอัดลม Cola Turka ที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นสร้างรายได้พุ่งขึ้น 10 เท่า

 

Nikkei Asia รายงานว่า Coca-Cola หรือเรียกสั้นๆ ว่า Coke แบรนด์น้ำอัดลมยักษ์ใหญ่กำลังเผชิญกับความท้าทายในประเทศที่มีประชากรมุสลิมจำนวนมาก ทั้งตุรกีและประเทศอื่นๆ เพราะถูกผู้บริโภคคว่ำบาตรเพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์มาตั้งแต่ปีที่แล้ว แน่นอนว่ากระทบรายได้ของ Coke อย่างหนัก 

 

ผลพวงของการคว่ำบาตรดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อน้ำอัดลมคู่แข่ง Cola Turka ซึ่งจากเดิมสินค้าผลิตจากบริษัทท้องถิ่นของตุรกี แต่เมื่อปี 2016 บริษัทแม่จากญี่ปุ่น DyDo Group Holdings ซื้อกิจการไป แต่ชาวตุรกียังคงมองว่าเครื่องดื่มนี้เป็นผลิตภัณฑ์ในประเทศ แม้จะเชื่อมโยงกับบริษัทญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นก็ยังเป็นมิตรกับตุรกีและไม่ได้มีความรู้สึกต่อต้านเหมือนกับแบรนด์จากสหรัฐฯ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

แม้ปัจจุบัน Cola Turka ยังครองส่วนแบ่งตลาดน้ำอัดลมในประเทศตุรกีน้อยกว่า Coca-Cola และ PepsiCo แต่ยอดขายของ Cola Turka ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2024 เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า ถ้าเทียบจากปีก่อน ซึ่งบางครั้งความต้องการที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้แบรนด์ผลิตสินค้าไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ

 

บิลา เจ้าของร้านขายขนมขบเคี้ยวในเมืองอิสตันบูล กล่าวว่า ร้านค้าเริ่มสต็อก Cola Turka แทนผลิตภัณฑ์ Coke มาตั้งแต่ปี 2024 เพราะร้านค้าส่วนใหญ่แสดงจุดยืนไม่สนับสนุนประเทศที่มีแนวคิดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 

 

อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้แบรนด์ท้องถิ่นอย่าง Cola Turka ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น รวมถึงยังดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสนใจผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอีกด้วย

 

สะท้อนให้เห็นว่าพลังและพฤติกรรมของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่แสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองและความเห็นอกเห็นใจกัน โดยเฉพาะประเทศตุรกีซึ่งเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรหลัก ได้แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ในสงครามกาซา และรู้สึกไม่พอใจที่อิสราเอลทิ้งระเบิดในกาซา สร้างความเสียหายและคร่าชีวิตพลเรือนจำนวนมาก

 

เห็นได้จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในกาซาซึ่งรายงานว่า มีชาวปาเลสไตน์มากกว่า 45,000 คน เสียชีวิตจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่เริ่มต้นในเดือนตุลาคม 2023 สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านแบรนด์ระดับโลกที่มีจุดกำเนิดมาจากสหรัฐฯ และประเทศในยุโรป ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวการสนับสนุนอิสราเอล


ทั้งนี้ แบรนด์ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้มีแค่ Coke แต่รวมถึง Starbucks และ Nestlé ซึ่งถูกคว่ำบาตรเช่นกัน แม้ Starbucks จะออกแถลงการณ์ปฏิเสธว่าบริษัทไม่เคยนำผลกำไรมาใช้สนับสนุนกองกำลังทหารเลยก็ไม่ช่วยให้กลับมาทำรายได้เหมือนก่อนช่วงที่ยังไม่มีสงคราม

 

ภาพ: Capturing Images / Shutterstock 

อ้างอิง:

 

 
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X