×

ศาลแพ่งยกฟ้อง ‘ไอลอว์’ ฟ้องนายกฯ-หลายหน่วยงาน ขอเพิกถอน ม.9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชี้ปฏิบัติโดยชอบตามกฎหมายไม่เลือกเฉพาะผู้ชุมนุม

โดย THE STANDARD TEAM
25.07.2023
  • LOADING...
ไอลอว์

วันนี้ (25 กรกฎาคม) ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ตัวแทนกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก และ อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ แนวร่วมม็อบคณะราษฎร เป็นโจทก์ฟ้อง 

 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ. เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.), สำนักนายกรัฐมนตรี, กองบัญชาการกองทัพไทย, กระทรวงการคลัง และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นจำเลยที่ 1-6 เรื่องละเมิด ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศข้อกำหนดในมาตรา 9 ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เรียกค่าเสียหายจำนวนทุนทรัพย์ 4,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 นับแต่วันฟ้อง

 

คำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์ทั้งสามถูกดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ จากการร่วมปราศรัยในการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ซึ่งข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศดังกล่าว ให้จำเลยที่ 3-6 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง และให้ สตช. จำเลยที่ 6 ลบล้างประวัติอาชญากรแก่โจทก์ทั้งสามด้วย

 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นสมควรวินิจฉัยประการแรกก่อนว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีเหตุต้องออกข้อกำหนดฯ และจำเลยที่ 2 มีเหตุต้องออกประกาศฯ ตามฟ้อง เพื่อบังคับใช้ในสถานการณ์ดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่าที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่า การออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ของจำเลยที่ 1 และการออกประกาศหัวหน้ารับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ของจำเลยที่ 2 เป็นบทกฎหมาย ละเมิดและลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของโจทก์ทั้งสาม รวมถึงประชาชนที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น ที่บุคคลมารวมตัวกันเป็นการชั่วคราวในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 

 

ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 4 บัญญัติรับรองไว้ว่า “บุคคลทุกคนย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” นั้น แต่เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธดังกล่าวไม่ใช่เสรีภาพที่มีการรับรองและคุ้มครองไว้อย่างสมบูรณ์เด็ดขาด หากแต่รัฐสามารถจำกัดเสรีภาพดังกล่าวได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 44 วรรคสองว่า การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธจะกระทำมิได้ 

 

เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น 

 

โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย”

 

และวรรคสองบัญญัติว่า “กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง”  

 

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีเหตุผลความจำเป็นของการประกาศใช้โดยเป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และบัญญัติด้วยว่าพระราชกำหนดนี้ยังมีบทบัญญัติบางประการที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

 

ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 5 บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น และนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ร่วมกันป้องกัน แก้ไขปราบปราม ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชน ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ”

 

มาตรา 7 วรรคสี่บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจหรือทหาร ซึ่งมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี ผู้บัญชาการตำรวจ แม่ทัพ หรือเทียบเท่า เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ และกำหนดให้เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่และบังคับบัญชาข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนี้ ให้การปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการและข้าราชการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นไปตามการสั่งการของหัวหน้าผู้รับผิดชอบนั้น”

 

มาตรา 9 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย”

 

จะเห็นได้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 5 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมาตรา 9 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดต่อไปนี้ 

 

มาตราที่ 1-6 และมาตรา 7 วรรคสี่ ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการทหารซึ่งมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าแม่ทัพหรือเทียบเท่าเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ และกำหนดให้เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน 

 

โดยมาตรา 10 นายกรัฐมนตรีอาจมอบอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบตามมาตรา 7 วรรคสี่ เป็นผู้ใช้อำนาจออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 แทนก็ได้

 

นอกจากนี้ ตามมาตรา 17 ยังบัญญัติว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก. นี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีที่จำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 

 

ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังกล่าวนี้ เป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการบริหารสถานการณ์ที่กระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน จำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารเพิ่มขึ้น

 

สำหรับการแก้ไขปัญหาในแต่ละสถานการณ์ให้สำเร็จลุล่วงไปได้โดยเร็ว ในระยะเวลาชั่วคราวจนกว่าจะมีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เพียงเท่าที่จำเป็น และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและกระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิต และมีระยะเวลาเป็นการชั่วคราว และถือเป็นอำนาจอธิปไตยของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายใดๆ ที่มีอยู่ให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยพิบัติสาธารณะ และการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย 

 

เนื่องจากในปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีความร้ายแรงมากยิ่งขึ้นจนอาจกระทบต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต และก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ รวมทั้งทำให้ประชาชนได้รับอันตรายหรือเดือดร้อนจนไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข และไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปกติได้ สมควรต้องกำหนดมาตรการในการบริหารราชการสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินไว้เป็นพิเศษ เพื่อให้รัฐสามารถรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาความปลอดภัย และรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งปวงให้กลับสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ 

 

เมื่อพิจารณาถึงข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ข้อ 3 ประกาศเรื่องห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อโควิด-19 (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 30 กันยายน 2564 แล้ว เป็นกรณีมีเหตุอันสมควรตามความจำเป็น และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและกระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิต และมีระยะเวลาเป็นการชั่วคราว ทั้งยังมีผลบังคับกับประชาชนทั่วไป ตามความรุนแรงของสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ มิใช่เฉพาะเจาะจงกับโจทก์ทั้งสามหรือกลุ่มผู้ใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมืองเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

 

เมื่อตามการนำสืบของโจทก์มีเพียงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลของผู้ร่วมชุมนุมและผู้ถูกดำเนินคดี ภาพข่าวจากสื่อ และข้อมูลทางสถานการณ์ผู้ป่วย อันเป็นความเห็นทางกฎหมายและข้อมูลทางการแพทย์เท่านั้น ทั้งๆ ที่โจทก์ทั้งสามก็ทราบว่าในช่วงการชุมนุมรวมตัวกันในวันเกิดเหตุดังกล่าวมีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ไม่เคยปรากฏในประเทศไทยและที่ใดในโลก และไม่เคยปรากฏเหตุการณ์ที่สามารถระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลและวัคซีนการป้องกันโรค แต่จำเลยทั้งหกมีพยานหลักฐานยืนยันถึงที่มา ขั้นตอน และวัตถุประสงค์แห่งการประกาศใช้ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าว ผ่านการกลั่นกรองของคณะทำงานโดยการบูรณาการร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง มิใช่แต่การใช้ดุลพินิจหรืออำนาจเด็ดขาดเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 และ 2 แต่เพียงผู้เดียว 

 

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดยังถือเป็นเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งกระทบต่อความปลอดภัยของสาธารณะ และเหตุดังกล่าวยังไม่คลี่คลาย อันถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยที่ 1 และ 2 จึงมีอำนาจออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 (ฉบับที่ 15) และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในแต่ละฉบับ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงโดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น อันเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงโดยเร็ว ภายใต้เงื่อนเวลาหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่ และตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ 

 

โดยไม่ปรากฏว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสาม แต่พฤติการณ์ในการชุมนุมรวมตัวกันของโจทก์ทั้งสามอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไม่มากก็น้อย อันเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการแก้ไขสถานการณ์ของรัฐ กรณีนี้อาจถือได้ว่าการชุมนุมของโจทก์ทั้งสามมิได้เป็นไปโดยสงบ 

 

พยานหลักฐานของจำเลยทั้งหกมีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสามข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การออกข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและข้อมูลหลักฐานทางการแพทย์แล้ว และตามเนื้อความแห่งข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวไม่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพเกินความจำเป็นและเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ขัดต่อหลักความชัดเจนแน่นอนและคาดหมายได้ของการกระทำของรัฐ ไม่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองและการรักษาอำนาจทางการเมืองของจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2

 

จึงรับฟังได้ว่า ข้อกำหนดที่ออกโดยจำเลยที่ 1 และ 2 ตามฟ้องชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของโจทก์ทั้งสอง เมื่อฟังได้ว่าการออกประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว การกระทำของเจ้าพนักงานในสังกัดจำเลยที่ 6 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามเช่นกัน จึงไม่มีเหตุจะเพิกถอนข้อกำหนดและประกาศดังกล่าว และไม่มีเหตุให้จำเลยทั้งหกต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม กรณีนี้จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไป เพราะไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงคดีพิพากษายกฟ้อง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising