กาแฟกำลังแพงขึ้นอีก! สาเหตุจากสภาพอากาศ-ภัยแล้งรุกราน กระทบผลผลิตเมล็ดกาแฟในเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล ด้านชาวสวนหลายรายหันไปปลูกทุเรียนแทน
Nikkei Asia รายงานว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เริ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน สร้างการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและเกิดภัยแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในเวียดนาม ต้องเจอปัญหาต้นกาแฟเจริญเติบโตได้ไม่ดีเท่าเดิม ทำให้ผลผลิตมีปริมาณน้อยลงทุกปี และต้นทุนเมล็ดกาแฟโดยเฉพาะพันธุ์โรบัสต้าก็มีราคาแพงขึ้น
หากย้อนไปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคากาแฟโรบัสต้าอยู่ที่ 68,000 ดอง (ราว 100 บาท) ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 76% ซึ่งนับเป็นราคากาแฟเวียดนามสูงที่สุดในรอบ 30 ปี โดยในช่วงเดือนตุลาคม-กันยายน 2023 อุตสาหกรรมการผลิตกาแฟของเวียดนามมีมูลค่ารวม 29.2 ล้านถุง ลดลง 9.8% ทำให้วัตถุดิบไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตลาดกาแฟเวียดนามเติบโตเร็ว OR แท็กมือ CRG เปิด Café Amazon สาขาที่ 14 ที่นครโฮจิมินห์
- ล้วงลึกเหตุผลที่ ‘วัฒนธรรมกาแฟเวียดนาม’ ยังไม่ถูกกลืนกินจากยักษ์ใหญ่อย่าง ‘Starbucks’
- กาแฟแพง! ล่าสุดราคาตลาดโลกพุ่งทำจุดสูงสุดใหม่รอบ 10 ปี ขณะที่ผู้จัดการกองทุนลุยซื้อต่อเนื่อง
ปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตกาแฟน้อยลงไปเรื่อยๆ อีกส่วนหนึ่งเกษตรกรจำนวนมากก็เริ่มหันไปปลูกทุเรียนแทน ด้วยความที่ทุเรียนได้รับการขนานนามว่าเป็นราชาผลไม้และกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในจีน จนทำให้ในปี 2023 เวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีนทะลุ 2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าตัว
แน่นอนว่าอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกกาแฟของเวียดนามที่เริ่มลดลงด้วยเช่นกัน เพราะปัจจุบันเวียดนามเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล ส่วนการบริโภคภายในประเทศเริ่มขยายตัวมากขึ้น หากสังเกตจะเห็นว่าตลาดร้านกาแฟในเวียดนาม โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Starbucks และร้านกาแฟรายอื่นๆ มีการขยายสาขาเพื่อรองรับผู้บริโภคที่เริ่มนิยมดื่มกาแฟอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับร้านกาแฟ Café Giảng แหล่งกำเนิดของกาแฟไข่ ตั้งอยู่ในย่านเก่าของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า เมื่อต้นทุนของเมล็ดกาแฟและต้นทุนสินค้า เช่น ไข่ แพงขึ้น เราไม่สามารถขึ้นราคาได้อย่างง่ายดาย เพราะต้องรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้ ตอนนี้จึงได้แค่ตรึงราคาเอาไว้ก่อน ซึ่งราคาของกาแฟไข่อยู่ที่ 35,000 ดอง (ประมาณ 50 บาท) ต่อถ้วย ถ้าเทียบกับ Starbucks ก็ถูกกว่าครึ่งหนึ่ง
ทั้งนี้ เพื่อรองรับการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น เชนร้านกาแฟหันมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ กันอย่างคึกคัก เพื่อรองรับคอกาแฟที่เป็นคนรุ่นใหม่ แถมยังต้องรักษาวัฒนธรรมร้านกาแฟนั่งดื่มชิลๆ เอาไว้ด้วย เพราะคนวัยทำงานหรือวัยหนุ่มสาวเวียดนามชอบดื่มกาแฟริมถนน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเอกลักษณ์ของเวียดนามไปแล้ว
อ้างอิง: