×

สภาวิศวกร เปิดบทเรียนน้ำท่วมอุบลฯ หนักสุดในรอบ 43 ปี 19 อำเภอเป็นเมืองบาดาล

โดย THE STANDARD TEAM
22.11.2022
  • LOADING...
น้ำท่วมอุบลฯ

สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถือว่าหนักที่สุดในรอบ 43 ปี โดยมีระดับน้ำสูงถึง 11.51 เมตร สูงกว่าน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2562 ที่มีระดับน้ำสูง 10.97 เมตร น้ำท่วมครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่มากถึง 19 อำเภอ จากทั้งหมด 25 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 70,000 คน รวมกว่า 18,000 หลังคาเรือน 

 

สิ่งนี้ก่อให้เกิดคำถามว่า เราจะไม่มีทางหลีกเลี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากที่สร้างความเสียหายมากมายมหาศาลให้กับพี่น้องชาวไทยได้เลยหรือ? โดย สภาวิศวกร ในฐานะองค์กรที่เต็มไปด้วยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ร่วมเปิดบทเรียน ลงสำรวจพื้นที่ บูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากด้วยหลักการทางวิศวกรรม

 

เปิดสาเหตุน้ำท่วมอุบลฯ อ่วม ชี้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนมีส่วน

 

รศ.ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายกสภาวิศวกร รวบรวมข้อมูลและประเมินปัญหาน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีที่ทวีความรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา พบว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหลักมาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลให้ฤดูกาลเปลี่ยน มีฝนตกหนักและยาวนานมากกว่าทุกปี ประกอบกับพายุโนรูพัดผ่าน ทำให้สถานการณ์น้ำยิ่งรุนแรงขึ้น ปริมาณน้ำสะสมในพื้นที่มากกว่าปกติจนไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน อีกทั้งปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักอย่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลยังขึ้นสูง จึงไม่สามารถรองรับการระบายน้ำได้ทั้งหมด

 

นอกจากนี้ สภาวิศวกรเล็งเห็นว่า ถึงเวลาที่ต้องสำรวจผังเมืองอุบลราชธานีอย่างละเอียดอีกครั้ง หลังพบว่าข้อมูลเส้นทางการระบายน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันขาดการอัปเดตมาหลายปี สวนทางกับการเติบโตขยายเมืองอย่างต่อเนื่อง มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนกระจายไปทั่วพื้นที่ขวางเส้นทางการระบายน้ำ จนเป็นเหตุให้ระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ช้า และก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในที่สุด

 

19 อำเภอ กระทบหนัก ประชาชนกว่า 7 หมื่นคนอพยพวุ่น โครงสร้างบ้าน ระบบไฟฟ้าพัง

 

ทีมวิศวกรอาสา จากสภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ลงสำรวจพื้นที่น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานต่างๆ พบว่า น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายหนัก 19 อำเภอ ประชาชนมากกว่า 70,000 ชีวิตต้องอพยพไปพักพิง ณ ศูนย์อพยพ 

 

จากระดับน้ำที่ท่วมสูงจนมิดหลังคาในหลายพื้นที่ ทำให้ทั้งเมืองกลายเป็นเมืองบาดาลในฉับพลัน หลายครอบครัวต้องรีบออกจากบ้านมือเปล่า ไม่ทันได้เก็บของมีค่าออกมาด้วย จำต้องปล่อยให้ข้าวของเครื่องใช้จมอยู่ใต้น้ำ ในส่วนของอาคารบ้านเรือนที่นอกจากจะพบปัญหาจากการจมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลานานแล้ว โครงสร้างบ้านเรือนหลายหลังยังไม่ทนต่อกระแสน้ำพัดที่รุนแรง ฝาบ้านปลิวสูญหายไปกับกระแสน้ำ ตัวบ้านเคลื่อนที่ พื้นบ้านทรุดตัว ส่งผลต่อความเสียหายของบ้านทั้งหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งระบบไฟฟ้า ที่ได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตัดไฟในพื้นที่น้ำท่วมชั่วคราว เพื่อลดอันตรายจากไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน และต้องเดินระบบไฟฟ้าใหม่หลังน้ำลด

 

ทีมวิศวกรอาสารุดเข้าช่วยประชาชนพื้นที่อุบลฯ อย่างเร่งด่วน

 

จากการสำรวจความเสียหายในครั้งนี้ ทีมวิศวกรอาสาจากสภาวิศวกร ได้นำความเดือดร้อนของพี่น้องชาวอุบลฯ มาวิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับปัญหาในแต่ละพื้นที่ โดยแบ่งเป็น 2 เฟสคือ ระยะเร่งด่วน และระยะยาว 

 

เบื้องต้นระยะเร่งด่วน สภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะร่วมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ อาทิ กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อช่วยฟื้นฟูอาคารบ้านเรือน โดยเฉพาะในด้านโครงสร้าง ระบบไฟฟ้า โรคที่มากับน้ำ การมอบถุงยังชีพ และมอบความช่วยเหลืออื่นๆ ที่จำเป็น 

 

เหตุน้ำท่วมครั้งนี้ต้องมีการบูรณาการ แก้ปัญหาให้ตรงจุด

 

รศ.ดร.ปิยะบุตร เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาในระยะยาวจำเป็นต้องมีการทำงานแบบบูรณาการ ผสานองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสารจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบเฝ้าระวังอุทกภัย และการสร้างแพลตฟอร์มเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันท่วงทีที่เกิดภัยพิบัติ เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด และช่วยให้ประชาชนสามารถอพยพได้ทันเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน 

 

สภาวิศวกรเตรียมเปิดรับบริจาคช่วยเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย

 

รศ.ดร.ปิยะบุตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาวิศวกรมีความห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ โดยสภาวิศวกร และทีมวิศวกรอาสา จะเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเต็มกำลัง พร้อมทั้งรวบรวมความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ ส่งถึงผู้ประสบอุทกภัยทุกพื้นที่โดยเร็วที่สุด เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว

 

ทั้งนี้ สภาวิศวกรเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ประชาชนได้ร่วมช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัย โดยสภาวิศวกรได้มีการจัดเตรียมเปิดรับบริจาคสิ่งของยังชีพ รวมถึงอุปกรณ์ทางด้านงานช่าง และงานไฟฟ้า เพื่อนำมาช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนให้พี่น้องผู้ประสบอุทกภัย สามารถติดตามข่าวสารการเปิดรับบริจาคได้ที่ช่องทางสื่อของสภาวิศวกร

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสภาวิศวกร 1303 ไลน์ไอดี @coethai หรือติดตามความเคลื่อนไหวของสภาวิศวกรได้ที่เพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/coethailand เว็บไซต์ www.coe.or.th และยูทูบแชนแนล ‘สภาวิศวกร Council Of Engineers Thailand’

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X