×

รู้จักวิชาแม่ของ Coding ในระบบการศึกษาไทย กับคำตอบที่มากกว่า ‘ไม่ใช้คอมฯ ได้จริงหรือ’

โดย THE STANDARD TEAM
19.08.2019
  • LOADING...
Coding

HIGHLIGHTS

9 MINS. READ
  • ‘การเขียนโปรแกรมภาษาเบสิกเบื้องต้น’ ปรากฏในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ปี 2528
  • ภาษาโค้ดคอมพิวเตอร์ต้องเริ่มอ่านโค้ดให้เข้าใจและมีกระบวนการคิดก่อน  พอคิดเป็นจึงจะเริ่มเขียนได้
  • เมื่อมาถึงขั้นตอนของการเขียนโค้ดจริง นักเรียนก็จะอ่านและเขียนโค้ดได้ในระดับหนึ่งโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ แต่เมื่อใดก็ตามที่อยากเห็นผลลัพธ์ของโค้ดนั้น คอมพิวเตอร์จึงเริ่มมีความจำเป็น

เมื่อ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวระหว่างการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีใจความว่าจะบรรจุวิชาที่ชื่อว่า Coding (ซึ่งหากแปลตรงตัวก็น่าจะหมายถึงการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์) เข้าไปในหลักสูตรการเรียนของเด็กไทย ก็มีทั้งเสียงตอบรับและตั้งคำถามจากหลายด้านในสังคม 

 

แต่คงไม่มีประโยคไหนที่เป็นที่สนใจเท่ากับประโยคที่ว่า “ไม่จำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์ก็ได้ในการเรียน Coding” ประโยคนี้ทำให้บรรดาคนในวงการคอมพิวเตอร์ออกมาอธิบาย ถกเถียง ให้ความเห็นอย่างกว้างขวาง และนี่ก็เป็นหนึ่งในคำถามที่เราจะหาคำตอบไปด้วยกัน

 

แต่ก่อนจะเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันคงต้องเท้าความไปถึงอดีตก่อน

 

ข้อมูลจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ในปี 2531 ของ สกุลรัตน์ รัตตนุสสรณ์ ระบุว่ากระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้หลักสูตรวิชาคอมพิวเตอร์ครั้งแรกในปี 2528 ประกอบด้วย 2 รายวิชาคือ ‘ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์’ และ ‘การเขียนโปรแกรมภาษาเบสิกเบื้องต้น’ เป็นวิชาเลือกของหมวดวิชาคณิตศาสตร์ นับเป็นปฐมบทของการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนมัธยมของประเทศไทย 

 

 

Coding

หนังสือเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรมภาษาเบสิกเบื้องต้น ตามหลักสูตรวิชาคอมพิวเตอร์ที่ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2528
ภาพ: ipst.ac.th

 

จากนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนไปใช้หลักสูตรประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ฉบับปรับปรุง ปี 2533 รายวิชาด้านคอมพิวเตอร์จึงทยอยขยายลงมาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนชั้นมัธยมปลายมีการเรียนการสอนที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น มีจำนวนรายวิชามากขึ้น เช่น ตารางทำงานและการประยุกต์ขั้นสูง, การจัดการฐานข้อมูลขั้นสูง, การเขียนโปรแกรม 1-2 ฯลฯ ถึงจุดนี้มีบางรายวิชากลายมาเป็นวิชาบังคับเลือกของนักเรียนแล้ว

 

ต่อมาในปี 2544 มีการประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สาระการเรียนรู้ว่าด้วย ‘เทคโนโลยีสารสนเทศ’ จึงเป็นสาระการเรียนรู้พื้นฐาน หรือเท่ากับวิชาบังคับที่นักเรียนทุกคนต้องได้เรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาเป็นต้นมา และเนื้อหาว่าด้วยภาษาเขียนโปรแกรมก็ถูกบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของวิชานี้ด้วย

 

แต่ที่น่าสนใจคือในปี 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการตัดสินใจโยกเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร’ ซึ่งเดิมอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงาน อาชีพและเทคโนโลยี ไปอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แทน พร้อมให้ชื่อใหม่ว่า ‘วิทยาการคำนวณ’ และอยู่ภายใต้สาระการเรียนรู้เทคโนโลยี ซึ่งถ้าลองเปิดหนังสือเรียนดูแล้วจะพบว่าวิชาวิทยาการคำนวณนี่ล่ะที่มีเนื้อหาทั้งเรื่องคอมพิวเตอร์และการเขียนโปรแกรมอยู่ด้วย

 

หรือว่านี่คือวิชา Coding?

 

Coding

 

วิทยาการคำนวณ ไม่ใช่ Coding แต่ Coding คือส่วนเล็กๆ ของวิทยาการคำนวณ

 

ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปพูดคุยกับ ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาหลักสูตรของวิชานี้

 

เขายืนยันว่าวิชาวิทยาการคำนวณไม่ใช่วิชา Coding หรือวิชาเขียนโปรแกรม และแยกกันแบบเด็ดขาด

 

วิชานี้มี 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 การคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) ส่วนที่ 2 พื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัล และส่วนที่ 3 การรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร 

 

“ส่วนที่เป็นคำว่า Coding (การเขียนโค้ด) เป็นแค่ส่วนหนึ่งของหัวข้อการคิดเชิงคำนวณ มีการสอนว่าเขียนโปรแกรมอย่างไร และผูกโยงกับคำว่า Programming ในฐานะที่ไปช่วยเขียนตำราในระดับ ป.1-6 และไปช่วยบ้างในระดับมัธยม ต้องเรียนว่าเนื้อหาทั้งหมดไม่ได้ตั้งใจว่าจะให้เด็กเป็นโปรแกรมเมอร์” ผศ.ดร.สุกรี บอกกับ THE STANDARD

 

เขาบอกว่าภาษาที่ใช้สอนในส่วน Coding จะใช้สำหรับโรงเรียนที่มีความพร้อมเท่านั้น หมายถึงมีเครื่องคอมพิวเตอร์ มีครูสอน และเด็กอยากจะเรียน เพราะหลักสูตรจะกำหนดไว้อย่างกว้างๆ และให้แต่ละโรงเรียนไปปรับให้เหมาะกับแต่ละบริบท 

 

“สิ่งแรกที่อยู่ในใจคนเขียนหลักสูตรคือต้องมีโรงเรียนที่ไม่พร้อม เราต้องเตรียมให้โรงเรียนเหล่านี้ให้ได้ว่าทำอย่างไร”

 

นั่นหมายถึงบางโรงเรียนอาจจะสอนได้เต็มที่ถึงขั้นเก่งกาจ หรือบางโรงเรียนอาจจะสอนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

Coding

 

แล้วเราจะเรียนวิทยาการคำนวณกันไปเพื่ออะไร

 

“ฝึกให้เด็กมีกระบวนวิธีคิด และให้เขาคิดเป็นหลักการ เป็นเหตุและผล เป็นขั้นเป็นตอน” นี่คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุดจากหนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาหลักสูตรอย่าง ผศ.ดร.สุกรี

 

และถ้าเจาะไปที่ส่วนของการเขียนโค้ด ผศ.ดร.สุกรี ขยายความว่ามันคือเครื่องมือสำหรับเป็นพื้นฐานในการอธิบายเรื่องอื่น

 

“ผมจะบอกว่าสมัยเด็กๆ ที่ผมเรียนกราฟ (ในวิชาคณิตศาสตร์) เมื่อสัก 30 ปีที่แล้ว คำว่ากราฟมันอยู่ในบทที่ชื่อว่าภาคตัดกรวย เป็นบทที่เห็นภาพได้ยากมาก แต่ถ้าเขาเรียนภาษาไพธอน (ภาษาสำหรับเขียนโค้ดชนิดหนึ่ง) เขาสามารถที่จะพล็อตกราฟใดๆ ก็ได้ที่เขางง เช่น x2 + y2 = 7 แบบนี้ เขาสามารถปรับตัวเลข ปรับค่าต่างๆ แล้วเขาจะรู้เลยครับว่า อ๋อ ถ้ารัศมีเพิ่มขึ้นเท่านี้ กราฟจะเป็นแบบนี้ ลดลงเท่านี้แล้วกราฟจะเป็นแบบนี้”

 

Coding

 

และหากไม่พูดถึงส่วนที่ว่าด้วยการเขียนโค้ด วิชาวิทยาการคำนวณก็ปรับใช้ได้กับหลายสิ่งในชีวิต แม้แต่งานศิลปะ

 

“ลูกสาวผมได้การบ้านมา เป็นการจำลองตัวเองเข้าไปอยู่ในซูเปอร์ฮีโร่ แล้วเขาอยากเข้าไปอยู่ใน Hunger Games อยู่ในวงไฟ ดังนั้นเขาต้องวาดสีโปสเตอร์ให้เป็นไฟ พ่อแม่ก็ปวดหัวครับ ไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยไปหาเพื่อนที่เป็นอาจารย์อยู่คณะสถาปัตย์ฯ วาดสีน้ำเก่งมาก พาไปให้เขาเรียนวิธีวาดไฟ อาจารย์วาดให้ดูสามขั้น เขาทำได้เลย นั่นคืออัลกอริทึม (ขั้นตอนวิธี) ในทางศิลปะ

 

“ผมเรียนถ่ายรูป ผมชอบถ่ายรูป มันก็มีกฎ​วิธีคิด การแหกกฎ แหกวิธีคิด เงื่อนไขไหนที่จะเหมาะสม ถ้าแบบนี้แล้วจะเป็นแบบนั้น ถ้าคนที่อยู่ในศาสตร์ต่างๆ เขามีกระบวนวิธีคิด เขาจะสามารถผลิตชิ้นงานออกมาได้ไม่เหมือนกับที่เขาเคยทำมาก่อน 

 

“ในหลักสูตรตั้งแต่ ป.1 เราจะสอนให้เขาใช้บัตรคำสั่งเป็นขั้นๆ หนูเดินตรงไป 5 ก้าวนะลูก แล้วเลี้ยวขวา แล้วค่อยเลี้ยวซ้าย แต่ถ้าหนูเลี้ยวซ้ายก่อนเลี้ยวขวาเนี่ย มันจะไปอีกทางหนึ่งนะลูก มันอาจจะติดจนไปถึงปลายทางไม่ได้

 

“เราสอนให้เขารู้จักว่าในชีวิตคนเนี่ย จริงๆ แล้วความขัดข้องหรือปัญหาบางอย่างไม่ใช่เพราะชีวิตมันแย่หรือระบบทั้งหมดมันแย่ วิชานี้บอกว่าเด็กๆ อาจจะรู้ว่าผลลัพธ์ในชีวิตมันล้มเหลว แต่ว่าบางทีมันอาจจะเกิด Bug (ข้อผิดพลาด) ในชีวิตของเขานิดหนึ่ง พอเขา Debug (แก้ข้อผิดพลาด) ชีวิตแล้ว ปัญหาของเขาก็สามารถแก้ได้ คือไม่ใช่ว่าปลายทางมันแย่ แล้วสุดท้ายไม่ย้อนกลับมาที่การหาสาเหตุแล้วแก้ไข”

 

Coding

 

ใช้คอมพิวเตอร์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า ‘จะสอนอะไร’

 

หนึ่งในคำถามคาใจของสังคมกับการสอนเขียนโค้ดคือไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ได้จริงหรือ

 

“ไล่ทีละระดับก่อน ถ้าเป็นระดับเด็กๆ น้องๆ พวกเราเริ่มจาก Unplugged (ไม่ใช้คอมพิวเตอร์) ก่อนเสมอ” คือคำยืนยันจากหนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาหลักสูตรคนนี้

 

เขาเล่าให้เราฟังว่าการเรียนการสอนในระดับเด็กเล็กจะเริ่มสอนด้วยการให้นักเรียนจำลองตัวเองเป็นหน่วยประมวลผลกลางของคอมพิวเตอร์ (CPU) แล้วอ่าน ‘บัตรคำ’ ซึ่งนักคอมพิวเตอร์จะรู้อยู่แล้วว่าบัตรคำพวกนี้คือพื้นฐานคำสั่ง แต่จะไม่ใช่คำสั่งที่ใช้ในคอมพิวเตอร์จริงๆ เนื่องจากเข้าใจยาก คำสั่งที่ให้เด็กเรียนจึงเป็นคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ หรือคำสั่งที่ให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นขั้นตอน เช่น ให้เดินไปข้างหน้า 3 ก้าว เป็นต้น จากนั้นจึงตรวจสอบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น กลับไปแก้ไขข้อผิดพลาด แล้วก็ใช้กับการแก้ปัญหาอื่นต่อในโลกแห่งความจริง เช่น จะหาเส้นทางเดินที่สั้นที่สุดในแผนที่อย่างไรให้ถึงจุดหมาย เป็นต้น  

 

 

Coding

หนังสือเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ ภาพหน้าปกแสดงถึงการสอนพื้นฐานคำสั่งและการประยุกต์ใช้
ภาพ: ipst.ac.th

 

และเมื่อมาถึงขั้นตอนของการเขียนโค้ดจริง นักเรียนก็จะอ่านและเขียนโค้ดได้ในระดับหนึ่งโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ แต่เมื่อใดก็ตามที่อยากเห็นผลลัพธ์ของโค้ดนั้น คอมพิวเตอร์จึงเริ่มมีความจำเป็น

 

“เมื่อใดก็แล้วแต่ที่เราอยากเห็นกราฟ ใช้คอมพิวเตอร์สิ แต่เมื่อใดก็แล้วแต่ที่เราอยากฝึกให้เขาคิดเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ต้องใช้ก็ได้ ไล่มา a+b ทำซ้ำไป 10 ครั้ง ถ้า a มากกว่า b ให้เอา c มาเก็บค่าของ a ไว้ เด็กๆ ก็จะสามารถคิดในวิธีการ แล้ววันหนึ่งเขาจะสามารถเอาอันนี้ไปใช้ในชีวิตจริง เมื่อเขาคุ้นแล้ว เมื่อมันฝังเข้าไปในตัวเขาจนกลายเป็นทักษะกระบวนการคิดแล้ว มันจะทำให้เขาวางแผนการคิดได้”

 

ผศ.ดร.สุกรี เปรียบเทียบกับภาษาไทยว่าภาษาไทยมีทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน แต่ปกติเราจะฝึกภาษาไทยจากการอ่านก่อน เพราะมีวัตถุดิบมากที่สุด ตามด้วยการฟัง เพราะมีวัตถุดิบน้อยลง ต้องไปหาฟังจากเจ้าของภาษา และเมื่ออ่านได้ ฟังได้ จึงพูดได้ และเขียนได้ เช่นเดียวกับภาษาเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ที่ต้องอ่านโค้ดเข้าใจและมีกระบวนการคิดก่อน พอคิดเป็นจึงจะเริ่มเขียนได้

 

เขาจึงสรุปว่าในแต่ละชั้นมีความจำเป็นในการเรียนเขียนโค้ดไม่เท่ากัน ความจำเป็นอาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับโรงเรียนด้วย แต่ยืนยันว่าหลักสูตรนั้นยืดหยุ่นพอที่จะรองรับความพร้อม-ไม่พร้อมของโรงเรียนอยู่แล้ว

 

ความพร้อมของครู กับวิธีคิดแบบคนเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

แน่นอนว่ามีคำถามถึงความพร้อมของครู เพราะวิชานี้หากสอนแล้วไม่เข้าใจอาจจะสร้างทัศนคติที่ไม่ดีให้กับผู้เรียนไปอีกยาวนาน

 

ผศ.ดร.สุกรี เห็นว่าถ้าเป็นแหล่งต้นทางคือผู้จัดทำหลักสูตรอย่าง สสวท. นั้นมีการจัดทำสื่อและคู่มือครูไว้แนะแนวทางให้ครูแล้วเป็นจำนวนมาก แต่สำหรับครูในโรงเรียนมัธยม เขายอมรับว่าสิ่งที่ครูจำเป็นต้องทำคือไปศึกษาเนื้อหาใหม่ๆ เหล่านี้ เพราะเขาเองก็เคยต้องไปเรียนในสิ่งที่ไม่เคยรู้เพื่อมาสอนให้ได้เช่นกัน

 

“ผมเข้าใจเลยครับ ผมก็สอนหนังสือ และวิชาที่ผมสอนคือวิชาใหม่ ผมเองก็ต้องไปเรียนก่อน ทุกวันนี้สอนอะไรก็แล้วแต่ที่ผมไม่เคยเรียนมาตั้งแต่ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกด้วยซ้ำไป ไม่เคยเรียนเลยครับ แต่ต้องมานั่งเรียน นั่นคือวิธีคิดของคนเป็นครู มันคือ Lifelong Learning (การเรียนรู้ตลอดชีวิต) เราก็ต้องไปศึกษา

 

Coding

 

“ในชีวิตของครูอีกหลายคน อีก 20 ปีข้างหน้ามันก็ต้องมีวิชาใหม่ มีเรื่องใหม่ มีเนื้อหาใหม่ที่เกิดขึ้นที่ครูเหล่านี้ไม่เคยเรียนจากชั้นที่เตรียมความเป็นครูออกมา เราเตรียมแหล่งเรียนรู้ให้ครูได้ใช้ มีคู่มือ มีแบบฝึก มีอะไรหลายๆ อย่างให้คุณครู เพราะฉะนั้นผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของความเป็นครูและด้วยแหล่งเรียนรู้ที่เราเตรียมให้ คิดว่าคุณครูเองก็สามารถที่จะเรียนได้ ในเมื่อเด็กๆ เรียนได้ คนที่สอนอยู่ก่อนหน้านี้หรือคนที่ขลุกอยู่กับอะไรมาก่อนหน้านี้สามารถเป็นคนที่นำทางให้เขาเรียนได้ และเด็กๆ เองเมื่อเขาเข้าใจก็มีแหล่งเรียนรู้ออนไลน์เต็มไปหมดเลย ยกตัวอย่างภาษา Scratch มีแหล่งเรียนรู้ให้เด็กๆ เข้าไปแล้วเจอแบบฝึกหลายสิบแบบที่เขาเข้าไปเรียนได้

 

“เคยมีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งที่คุณครูสอนผมแล้วพูดประโยคนี้ ถ้าคุณสอนหนังสือเด็กแล้วเด็กไม่เก่งกว่าคุณ ประเทศนี้กำลังจะแย่ เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นครูแล้วเราเตรียมทุกอย่างให้เขาพร้อมแล้ว ผมเชื่อมั่นว่ามันไม่ได้เป็นอุปสรรคว่าวิชาใหม่แล้วจะสอนลำบาก ผมเชื่อว่าเด็กๆ จะเข้าใจวิชานี้ได้จากทั้งคุณครู ทั้งหนังสือ แหล่งเรียนรู้ออนไลน์หลายๆ แหล่ง ไม่ต้องผูกติดอยู่ที่คุณครูคนเดียวก็ได้”

 

และสำหรับข้อสังเกตที่ว่าเด็กไทยอาจจะอยู่ในภาวะที่เรียน ‘มากเกินไป’ ผศ.ดร.สุกรี ตอบว่าเขาก็เป็นพ่อของลูก 2 คน และเขาคิดว่าพ่อแม่จำเป็นจะต้องเลือกใช้เวลาของเด็กอย่างเหมาะสม วิชาใดที่อยากเก่ง วิชาใดที่ไม่ต้องเก่ง วิชาใดที่จะใช้เวลานอกห้องเรียน หรือวิชาใดที่จะไม่ใช้ แม้การบ้านที่มากไปในบางวันจะดึงเวลาของเด็กๆ ออกจากเวลาแห่งการค้นหาสิ่งใหม่ๆ แต่เขาก็ยังเชื่อว่ายังมีเวลาเหลืออีกไม่น้อยในแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับการบริหารเวลา

 

ทักษะเทคโนโลยีที่เหมาะกับทุกคนตลอดไป = ไม่มี

 

เมื่อเทคโนโลยีเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และหลักสูตรการศึกษาก็คล้ายจะเรียกร้องให้ผู้เรียนต้องเข้าใจมันเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ที่จริงแล้วทักษะทางเทคโนโลยีอะไรที่เป็นหัวใจสำคัญที่คนไทยต้องมีกันแน่

 

ผศ.ดร.สุกรี นิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนบอกว่า “ไม่มี One size fit all หรอก ไม่มีคำตอบที่เหมาะสำหรับทุกคนจริงๆ”

 

เขาบอกว่าเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าวันนี้ผู้ใช้ถูกรวมศูนย์อยู่ที่เทคโนโลยีเพียงไม่กี่ชนิด แต่วันหน้าเทคโนโลยีหลากหลายมากขึ้น ผู้ใช้งานอาจจะกระจายตัวออกไป 

 

Coding

 

“คนจะดู YouTube ตอนนี้ก็ไม่ได้ดูในคอมพิวเตอร์ ไปดูใน Smart TV แล้วต่อไปคนอยากรู้อะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็อาจจะไปถาม Amazon, Echo หรือ Google Home ลำโพงอัจฉริยะ หรืออาจจะยกมือถือขึ้นมาถาม Siri ผมมองว่าวันหนึ่งมันรวมศูนย์ วันหนึ่งมันกระจายตัว และวันหนึ่งมันอาจจะรวมศูนย์กลับไปอีก โลกมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกคนก็ทราบว่าโลกดิจิทัลเปลี่ยนเร็วมาก วันหนึ่ง Windows อาจจะหายไปก็ได้ เด็กกลุ่มหนึ่งก็บอกว่าผมไม่ได้โตมากับ Windows แต่ผมโตมากับ Mac มันคงยากที่จะระบุว่าเขาจะต้องรู้อะไรใน 3 ปีข้างหน้า แต่วันนี้พอจะบอกได้ว่าเขาต้องรู้เท่าทันมือถือนะ

 

“วันหนึ่งหลักสูตรเหล่านี้ก็ต้องถูกเปลี่ยนใหม่ ร่างใหม่” 

 

Coding

 

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าขอให้รู้วิชาวิทยาการคำนวณทั้ง 3 หัวข้อไว้บ้าง แค่เข้าใจแก่นของวิชาก็จะเป็นประโยชน์สำหรับชีวิตของหลายๆ คน

 

“กระบวนการคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนนั้น เมื่อเราเรียนอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น เราจะประยุกต์ใช้ได้มากขึ้น เมื่อเราเข้าใจดิจิทัลมากขึ้น เรารู้ว่ามันทำงานอย่างไร พอเราเจอปัญหาใหม่ในชีวิต เราอาจจะไปหยิบส่วนนั้น ส่วนนี้ ส่วนโน้นมาใช้ก็ได้ การรู้เท่าทันสื่อก็สำคัญครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคนี้ที่ผมมั่นใจว่าสื่อหลายแห่ง นักการเมืองหลายคน คนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากปวงชนหลายคน ใช้สื่อและสารสนเทศบิดให้แต่ละคนเข้ามาเห็นด้วย เข้ามาช่วย เข้ามาต่อต้านอีกฝ่ายหนึ่ง ประเทศเราผ่านเรื่องราวของการทะเลาะกันมาเยอะมาก เราบังคับคนกลุ่มหนึ่งให้เชื่ออีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้หรอกครับ แต่การเข้าใจว่าตัวเองคิดจากพื้นฐานอะไร การรู้เท่าทันในแต่ละส่วน ตรงนี้ต่างหากที่ผมคิดว่าสำคัญในบางช่วงเวลาของชีวิต”

 

เด็กไทยมีแหล่งเรียนรู้หรือไม่… หลังบ่ายสองโมง

 

แม้ทักษะเทคโนโลยีจะไม่ตายตัวและเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา แต่ทักษะที่ ผศ.ดร.สุกรี อยากให้คนไทยมีติดตัวก็คือทักษะของ ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ เพื่อให้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา

 

หากแต่เขาเองก็ยอมรับว่าสิ่งที่ประเทศไทยยังขาดคือ ‘แหล่งเรียนรู้’

 

“ผมเคยไปอัมสเตอร์ดัม ผมเจอว่าข้างหนึ่งคือพิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะ อีกข้างหนึ่งคือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอัมสเตอร์ดัม (Rijksmuseum) ผมได้เห็นฝีแปรงของแวนโก๊ะ เราซึมซับสิ่งเหล่านี้ได้ ไม่ใช่ผ่าน YouTube แต่เราซึมซับผ่านโลกจริงๆ ที่เด็กๆ เขาเข้าไปเจอ ประเทศเราขาดเรื่องนี้ครับ เรื่องที่ให้เด็กใช้เวลาแล้วไปตามความฝันของเขา

 

“เด็กๆ ที่เลิกเรียนบ่ายสองโมงแล้วอยากจะเป็นศิลปินแห่งชาติอย่างอาจารย์เฉลิมชัยเขาจะไปที่ไหนครับ วัดร่องขุ่นเหรอ มันไกลไปไหม

 

“เขาอยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ของ NASA เขาจะไปที่ไหนครับตอนบ่ายสอง วันหนึ่งถ้าเขาอยากจะสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ หลังบ่ายสองแล้วเขาจะไปไหน” 

 

Coding

 

เขาบอกกับเราว่าถ้าบทสัมภาษณ์นี้ไปถึงรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี เขาก็ ‘ขออนุญาต’ ฝากคำถามนี้ย้อนกลับไปว่า ถ้าวันหนึ่งเราอยากเห็นนักเรียน ลูกศิษย์ ลูกหลานของเราเป็นอะไร วันนี้คงต้องถึงเวลาทำแล้ว เพราะเราขาดมาเยอะมากแล้ว

 

“อยากให้มีอาจารย์เฉลิมชัยอีก 100 คน เราต้องทำอะไรบ้าง

อยากให้มียานอวกาศของประเทศไทยออกไปนอกโลก เราต้องทำอะไร

อยากเห็นสตาร์ทอัพของไทยแข็งแรงจนไปแข่งขันกับ Google หรือ Facebook ได้ วันนี้เราต้องทำอะไรหลังบ่ายสองโมง”

 

เขาปิดท้ายการสนทนากับเราด้วยคำถามนี้

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • วิทยานิพนธ์ ‘การเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ค 031 และ ค 032 ตามการรายงานของครูและนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย’ (ปี 2531) ของสกุลรัตน์ รัตตนุสสรณ์
    cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/48570
  • หนังสือเรียนรายวิชาเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) สสวท. http://oho.ipst.ac.th/ipst-cs-books/
  • ห้องสมุด สสวท.
    elib.ipst.ac.th
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising