CODA โคด้าหัวใจไม่ไร้เสียง คือภาพยนตร์อบอุ่นหัวใจส่งท้ายปีจากฝืมือการกำกับของ Sian Heder มือเขียนบทจากซีรีส์ยอดฮิต Orange Is the New Black (2013) ที่ได้เสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์และผู้ชมอย่างล้นหลาม อีกทั้งยังได้รับรางวัลมาแล้วหลายเวที โดยเฉพาะ Sundance Film Festival ที่คว้ารางวัลมาได้ถึง 4 สาขา ได้แก่ Audience Award, Directing Award, Grand Jury Prize และ U.S. Dramatic Special Jury Award
ไม่เพียงเท่านั้น CODA ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Golden Globe Awards ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Troy Kotsur) และรางวัล Critics Choice Awards ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม, นักแสดงดาวรุ่งหญิง (Emilia Jones) และนักแสดงสนับสนุนชาย (Troy Kotsur) อีกด้วย
จากทั้งหมดที่กล่าวมาก็น่าจะมีพลังมากพอที่จะชักชวนให้เราใคร่ครวญสงสัยว่าอะไรคือเหตุผลที่ส่งให้เรื่องราวของหญิงสาวผู้หลงใหลในเสียงเพลงและครอบครัวไร้เสียงของเธอ สามารถเอาชนะใจผู้ชมและนักวิจารณ์ได้อย่างท่วมท้นขนาดนี้
CODA โคด้าหัวใจไม่ไร้เสียง จะพาผู้ชมไปติดตามเรื่องราวของ รูบี้ (Emilia Jones) เด็กสาวที่เกิดและเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่พ่อ (Troy Kotsur) แม่ (Marlee Matlin) และพี่ชาย (Daniel Durant) ต่างเป็นคนหูหนวก เธอจึงต้องเป็นล่ามประจำบ้าน และต้องคอยช่วยเหลือการทำประมงของครอบครัวอยู่ตลอดเวลา และช่วงเวลาเดียวที่ทำให้เธอรู้สึกผ่อนคลายมากที่สุดคือการได้ร้องเพลงเพียงลำพัง
กระทั่งวันหนึ่งรูบี้ได้ตัดสินใจสมัครเข้าชมรมร้องประสานเสียง เพื่อหวังว่าจะได้ใกล้ชิดกับ ไมลส์ (Ferdia Walsh-Peelo) ชายหนุ่มที่เธอแอบชอบ ก่อนที่การตัดสินใจครั้งนี้จะพาเธอมาพบกับ เบอร์นาโด วิลลาโลโบส (Eugenio Derbez) ครูสอนดนตรีที่มองเห็นในความสามารถของเธอ เบอร์นาโดจึงเสนอให้เธอลองสอบชิงทุนที่สถาบันดนตรีเบิร์กลีย์ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอต้องตัดสินใจว่าเธอจะเลือกทำตามความฝัน หรือเลือกที่จะอยู่บ้านเกิดเพื่อคอยช่วยเหลือครอบครัวหูหนวกต่อไป
จุดเด่นข้อหนึ่งของ CODA คือปมปัญหาของเรื่องที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก (และอาจจะไม่ได้แปลกใหม่เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ในแนวเดียวกัน) แต่กลับแข็งแรงและมีพลังมากพอที่จะชักชวนให้เราอยากติดตามเรื่องราวไปจนถึงตอนจบ นั่นคือเรื่องราว Coming of Age ของเด็กสาวอย่างรูบี้ ที่เกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่สมาชิกทุกคนหูหนวก
ไล่เรียงตั้งแต่การดำเนินชีวิตประจำวันของเธอที่ต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 เพื่อไปออกหาปลากับครอบครัว ต้องคอยอยู่ช่วยเป็นล่ามต่อรองราคาเพื่อไม่ให้ครอบครัวถูกโกง ก่อนที่จะต้องรีบปั่นจักรยานไปโรงเรียนต่อ ซึ่งก็ไม่วายจะถูกทุกคนล้อเลียนเรื่องครอบครัวของตัวเองและกลิ่นคาวปลาที่ติดอยู่บนเสื้อ ไปจนถึงบรรยากาศการพูดคุยด้วยภาษามือบนโต๊ะอาหารที่เงียบสงบแต่กลับวุ่นวายจนทำให้เธอต้องปวดหัว
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ได้ขับเน้นให้ผู้ชมค่อยๆ ทำความรู้จักและทำความเข้าใจว่ารูบี้ต้องกลายเป็นผู้ใหญ่ในคราบของเด็กสาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งมันยังขับเน้นให้ผู้ชมได้เห็นอย่างชัดเจนว่าพื้นที่ปลอดภัยเพียงแห่งเดียวที่เธอจะสามารถเป็นตัวเองได้คือการร้องเพลง
ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ก็ไม่ได้เล่าเรื่องราวของรูบี้เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ยังพาเราไปทำความรู้จักกับสมาชิกทุกคนในครอบครัวอย่างครบถ้วน ไม่ว่าเป็น แฟรงค์ พ่อจอมโวยวายที่ไม่ค่อยจะระวังคำพูดเท่าไหร่นัก แจ็คกี้ แม่ที่เหมือนจะเข้าใจความรู้สึกของรูบี้ดี แต่ความเป็นจริงกลับไม่ใช่แบบนั้น และ ลีโอ พี่ชายที่ไม่ค่อยจะได้เรื่องได้ราวเท่าไร แต่ก็พยายามจะเป็นพี่ชายที่ดีของน้องสาว
ซึ่งการที่ภาพยนตร์พาเราไปทำความเข้าใจความรู้สึกของรูบี้และสมาชิกภายในครอบครัวควบคู่กันไป มันก็ยิ่งเสริมให้เราเห็นว่าเหตุผลในการกระทำหรือการตัดสินใจของแต่ละฝ่ายต่างก็มีน้ำหนักเท่าๆ กัน ไม่ใครถูกหรือผิดเสมอไป ซึ่งมันก็ส่งผลให้ปมปัญหาหลักของเรื่องค่อยๆ เข้มข้นมากยิ่งขึ้น และทำให้เราอยากจะเอาใจช่วยให้รูบี้ให้ผ่านปมปัญหาต่างๆ ไปได้อย่างราบรื่น
และอีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่เราอยากให้ผู้อ่านทุกคนได้ไปรับชมเรื่องราวของเขาด้วยตัวเองคือ เบอร์นาโด วิลลาโลโบส ครูสอนวิชาร้องเพลงที่มองเห็นในความสามารถของรูบี้และพยายามจะผลักดันให้เธอทำตามความฝัน ซึ่งเราคิดว่าบทบาทของเขาจะมอบบทเรียนบางอย่างให้แก่ผู้ใหญ่ (รวมถึงผู้ที่ทำงานเป็นครูเช่นเดียวกับเขา) ได้ลองทบทวนดูอย่างแน่นอน
และมวลอารมณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้การแสดงอันยอดเยี่ยมของ Emilia Jones ที่นอกจากจะมีเสียงร้องอันทรงพลังเป็นอาวุธ เธอยังตีความและถ่ายทอดความรู้สึกของรูบี้ผ่านสีหน้า แววตา ไปจนถึงการใช้ภาษามือ เพื่อให้ผู้ชมมีความรู้สึกร่วมไปกับตัวละครได้อย่างครบถ้วนทุกมิติ
ไปจนถึงสมาชิกภายในครอบครัวทั้ง 3 คนอย่าง Troy Kotsur, Marlee Matlin และ Daniel Durant ที่แม้ว่าพวกเขาจะใช้ภาษามือในการสนทนาก็ตาม แต่พวกเขาก็ถ่ายทอดความสัมพันธ์ของครอบครัวชาวประมงครอบครัวนี้ออกมาได้อย่างน่าประทับใจ กล่าวคือ พวกเขาทำให้เราต้องตกหลุมรักในความสัมพันธ์ที่ไม่ได้สมบูรณ์พร้อม จนสามารถทำให้เราเสียน้ำตาได้อย่างไม่ยากเย็น
ในภาพรวมแล้ว CODA ถือเป็นภาพยนตร์อบอุ่นหัวใจส่งท้ายปีที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการชักชวนคนในครอบครัว ครูกับลูกศิษย์ หรือคนที่คุณรัก เข้าไปรับชมเรื่องราวของรูบี้และครอบครัวไร้เสียงของเธอ เพราะเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องราวของพวกเขาและเธอจะเข้ามาเติมเต็มพลังใจให้กับผู้ชม ไปพร้อมกับการค้นหาความหมายของคำว่า ‘ครอบครัว’ ที่มีแต่ ‘เสียงของหัวใจ’ เท่านั้นที่คุณจะได้ยิน
CODA โคด้าหัวใจไม่ไร้เสียง มีกำหนดเข้าฉาย 30 ธันวาคมนี้ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่างได้ที่นี่