สำนักข่าว CNN เผยแพร่บทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญ กรณีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวาระพิเศษที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันพรุ่งนี้ (24 เมษายน) เพื่อหารือแนวทางยุติวิกฤตความขัดแย้งในเมียนมา ภายหลังการทำรัฐประหารและการใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงทั่วประเทศอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 730 คน
การประชุมครั้งนี้เป็นที่จับตามองจากชาวเมียนมาและทั่วโลก เนื่องจากมีการเชิญ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้นำรัฐประหาร ไปร่วมประชุมในฐานะตัวแทนรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร ที่มองว่าอาเซียนกำลังพยายามหยิบยื่นความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหารด้วยการให้ที่นั่งในวงประชุมระดับภูมิภาค
โดยนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การประชุมวาระพิเศษนี้อาจเป็นโอกาสนำไปสู่ทางออกของปัญหาความขัดแย้งที่กำลังบานปลาย แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็นเกมพนันที่มีความเสี่ยงในการขยายความขัดแย้งให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในภูมิภาคมากขึ้นด้วย
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ หรือ UN ชี้ว่า บทบาทของอาเซียนในตอนนี้สำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา พร้อมเรียกร้องให้ชาติสมาชิกอาเซียนใช้อิทธิพลของตนเพื่อป้องกันสถานการณ์ในเมียนมาไม่ให้เลวร้ายไปมากกว่านี้ และหาทางออกจากวิกฤตครั้งนี้อย่างสันติ
บทวิเคราะห์ยังระบุถึงความเห็นนักวิชาการหลายคนที่มองว่าผู้แทนรัฐบาลทหารมีความจำเป็นในการร่วมวงประชุมอาเซียน และเห็นว่าอาเซียนก็ควรเชิญผู้แทนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลคู่ขนานที่ก่อตั้งโดยกลุ่มนักการเมืองฝ่ายต่อต้านรัฐประหารเข้าร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออกของวิกฤตในเมียนมาอย่างสันติเช่นกัน
ชาร์ลส์ ซานติเอโก ประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) และสมาชิกรัฐสภามาเลเซีย กล่าวว่า “อาเซียนไม่อาจหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาได้อย่างเพียงพอ โดยปราศจากการรับฟังและพูดคุยกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หากจุดประสงค์ของอาเซียนคือการเสริมสร้างประชาธิปไตยตามที่ระบุไว้ในกฎบัตร พวกเขาจะต้องให้ที่นั่งที่โต๊ะประชุมแก่พวกเขา (ผู้แทนรัฐบาลเอกภาพ)”
ด้าน ดร.ซาซา โฆษกของ NUG ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงอาเซียนก่อนหน้านี้ ระบุว่า NUG มีความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมในการเข้าร่วมประชุมผู้นำอาเซียน พร้อมเตือนว่า การพบปะกันระหว่างอาเซียนกับผู้นำกองทัพเมียนมาควรเกิดขึ้นหลังรัฐบาลทหารยุติการเข่นฆ่าและคุกคามประชาชน รวมถึงปล่อยตัวนักการเมืองและคืนอำนาจให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ซึ่งท่าทีล่าสุดของ NUG เมื่อวานนี้ (22 เมษายน) พบว่าได้มีการส่งจดหมายไปยัง องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ Interpol เรียกร้องให้จับกุม พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก่อนที่เขาจะเข้าร่วมการประชุมในจาการ์ตา
อาเซียนกำลังเดินไต่เชือก
บทวิเคราะห์ชี้ว่า การดำเนินการเพื่อยุติความขัดแย้งในเมียนมาตอนนี้ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนสูงสุดของอาเซียน เนื่องจากสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้นำกองทัพไม่มีการส่งสัญญาณถึงความตั้งใจในการบรรเทาการใช้กำลังเพื่อควบคุมสถานการณ์ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตและถูกจับกุมจากการประท้วงต่อต้านกองทัพเพิ่มขึ้นทุกวัน เช่นเดียวกับการตัดระบบสื่อสารอย่างอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
ขณะที่เมียนมาตกอยู่ในความเสี่ยงกลายเป็นรัฐล้มเหลว หากสถานการณ์ความรุนแรงยังดำเนินต่อไป ผลที่ตามมาอาจทำให้ผู้อพยพจำนวนมากหลั่งไหลออกนอกประเทศ นำมาซึ่งปัญหาการก่ออาชญากรรม การค้ามนุษย์ และยาเสพติดข้ามชายแดนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่กระทบทั้งเมียนมาและประเทศในภูมิภาคอาเซียน
ท่าทีของอาเซียนในการเชิญผู้นำรัฐบาลทหารเข้าร่วมวงประชุมครั้งนี้ จึงเปรียบเหมือนการเดินไต่เชือกที่มีความเสี่ยงไม่น้อย โดยการประชุมร่วมกับรัฐบาลทหารอาจทำให้เกิดความแตกแยกและความไม่พอใจระหว่างประชาชนชาวเมียนมากับอาเซียน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองยืนยันว่า การยุติสถานการณ์นองเลือดในเมียนมานั้นจำเป็นที่จะต้องมีผู้แทนกองทัพเข้าร่วมด้วย
“ฉันคิดว่าไม่มีทางแก้ไขวิกฤตได้โดยไม่ต้องมีตะมะดอว์ (Tatmadaw) หรือกองทัพเมียนมาอยู่ที่โต๊ะ เพราะพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ดังนั้นพวกเขาจึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา” เอลินา นัวร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการความมั่นคงทางการเมืองของสถาบันนโยบายสังคมเอเชีย (Asia Society Policy Institute) กล่าว พร้อมชี้ว่า การพูดคุยกับกองทัพเมียนมานั้นดีกว่าการโดดเดี่ยวพวกเขา เห็นได้จากบทเรียนในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ซึ่งเมียนมากลายเป็นรัฐที่ถูกโดดเดี่ยวอย่างยาวนาน ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร
“พวกเขาเคยผ่านเรื่องนี้มาก่อน และพวกเขาจะทนต่อไปหากจำเป็น ถ้าพวกเขาถูกโดดเดี่ยวอีกครั้ง” นัวร์กล่าว
นอกจากนี้ผลกระทบที่ตามมาคือความน่าเชื่อถือของอาเซียนที่อาจเกิดความเสียหาย หากไม่ประสบผลสำเร็จใดๆ ในการระงับหรือบรรเทาความรุนแรงในเมียนมา และอาจถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพในการจัดการกับวิกฤตด้านมนุษยธรรม ซึ่งคุณค่าในการเป็นสะพานและหุ้นส่วนประชาคมนานาชาติของอาเซียนอาจตกอยู่ในอันตราย หากวิกฤตในเมียนมาขยายตัวและกระทบไปทั่วภูมิภาค
“ความสามารถของอาเซียนในการจัดการวิกฤตในเมียนมานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผมนึกภาพออกว่าผู้นำยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำอเมริกัน (จะ) ต้องการออกห่างจากพวกเขา เพราะคงไม่อยากเห็นการประคบประหงมเผด็จการหัวรุนแรง” ชองจาเอียน รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าว
อาเซียนมีอำนาจแค่ไหน ในการยุติความขัดแย้งของเมียนมา
นักวิเคราะห์ชี้ว่า ชาติสมาชิกอาเซียนนั้นอาจร่วมกันใช้อำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ โน้มน้าวให้รัฐบาลทหารเมียนมาเปลี่ยนเส้นทางในการจัดการสถานการณ์ภายใน ตัวอย่างคือ ประเทศไทย ที่มีพรมแดนทางบกติดกับเมียนมาเป็นระยะทางยาวกว่า 2,416 กิโลเมตร อีกทั้งยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีการค้าขายข้ามพรมแดนกับเมียนมาในปี 2019 คิดเป็นมูลค่ากว่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีสิงคโปร์ที่เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของเมียนมา แต่สิ่งสำคัญคือ ทั้งไทยและสิงคโปร์นั้นต่างไม่อยากที่จะใช้อิทธิพลดังกล่าวเพื่อแทรกแซงสถานการณ์ของเพื่อนบ้าน
“สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากพอ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน อินเดีย หรือฝ่ายอื่นๆ ที่จะกดดันรัฐบาลทหารได้ด้วยตัวเอง” นัวร์กล่าว
เอวาน ลักส์มานา นักรัฐศาสตร์และนักวิจัยอาวุโสของศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (Center for Strategic and International Studies: CSIS) ในกรุงจาการ์ตามองว่า รัฐบาลทหารเมียนมานั้นอาจต้องการที่จะร่วมมือกับกลุ่มอาเซียนในการแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยช่องทางการทูตมากกว่าการร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เพราะความเชื่อมั่นและนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน
“เนื่องจากเรื่องนี้มีการจัดการภายในครอบครัวอาเซียน จึงมีความไว้วางใจเล็กน้อยว่าเราสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ภายในภูมิภาคของเรา ภายในกลุ่มของเราเอง และไม่เกี่ยวข้องกับภายนอก” เขากล่าว
ภารกิจที่หนักหนาสาหัส
แล้วผลที่จะออกมาจากการประชุมอาเซียนในวันพรุ่งนี้คืออะไร
ลักส์มานากล่าวว่า อินโดนีเซียได้ระงับความพยายามผลักดันให้มีการยุติการสู้รบ เพื่อเปิดทางให้มีความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยภารกิจสำคัญแรกที่ชาติสมาชิกอาเซียนต้องทำคือ การสนับสนุนการยุติความรุนแรงและส่งมอบความช่วยเหลือ ก่อนจะเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยหาทางออก
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนยังให้ความเห็นสำหรับท่าทีของเมียนมาที่แตกต่างกัน โดยบางคนเสนอให้มีการตั้งทูตพิเศษของอาเซียนหรือคณะทำงาน เพื่อเดินทางไปยังเมียนมา และบางคนเรียกร้องให้มีการลงโทษเมียนมาด้วยการระงับความเป็นสมาชิกภาพของอาเซียน
ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนนั้นเรียกร้องอาเซียนให้ระงับการขายอาวุธและคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแก่ผู้นำรัฐบาลทหาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา และต้องการให้ที่ประชุมอาเซียนเรียกร้องให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย แสดงความรับผิดชอบต่อการรัฐประหารและเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้นด้วย รวมทั้งแสดงจุดยืนของอาเซียนในการยืนหยัดเคียงข้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ใช่รัฐบาลทหาร
แต่คาดว่าการที่จะให้ 9 ชาติสมาชิกเห็นพ้องกับการดำเนินการ เช่น การตั้งกรอบการทำงานเพื่อแก้ไขวิกฤตในเมียนมานั้น ดูจะเป็นภารกิจที่ยากลำบาก เนื่องจากนโยบายหลักของอาเซียนคือการไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน อีกทั้งหลายประเทศยังเผชิญปัญหาการเมืองภายในของตนเอง ซึ่งบทวิเคราะห์ยังยกตัวอย่างของไทยที่เผชิญการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2014 และตอนนี้ยังคงต้องรับมือกับการประท้วงของกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย ส่วน สปป.ลาว และเวียดนามเองต่างก็เป็นประเทศที่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพภายในประเทศอย่างเข้มงวด
และนอกจากนี้ยังมีวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรค ทำให้การพยายามช่วยเหลือและยุติความขัดแย้งในเมียนมายากลำบากมากยิ่งขึ้นด้วย
ภาพ: Ye Aung THU / AFP
พิสูจน์อักษร: ชฎานิสภ์ นุ้ยฉิม
อ้างอิง: