×

เกษตรกรหายวูบ 4 ล้านคนใน 10 ปี ปมรายได้ต่ำกว่าอาชีพทั่วไป 4 เท่า CNH เล็งนำเทคโนโลยีบรรเทาวิกฤต

30.07.2024
  • LOADING...
เกษตรกร รายได้

‘ทำไปก็ไม่รวย’ คำพูดที่เป็นเหมือนภาพจำเชิงลบกับอาชีพเกษตรกร โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ในตอนนี้มีแนวโน้มไม่อยากจะกลับไปเป็นเกษตรกร

 

แน่นอนว่าปัญหาผู้สูงอายุถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นความท้าทายหลักทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย ปัจจัยนี้ผนวกกับอัตราการเกิดที่ลดลงทำให้ผลกระทบของแรงงานที่ขาดแคลนแผ่ขยายไปในหลายอุตสาหกรรม และภาคเกษตรก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าว

 

แต่สิ่งที่เข้ามาซ้ำเติมความน่าดึงดูดของการเป็นเกษตรกรในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมาคือเรื่อง ‘รายได้’

 

ข้อมูลจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเผยว่า รายได้แรงงานในภาคเกษตรต่อคนอยู่แค่ประมาณ 128,000 บาทต่อปี ในขณะที่อุตสาหกรรมนอกภาคเกษตรเฉลี่ยที่ 580,000 บาทต่อปี และแม้ว่าแรงงานไทยเกือบ 30% จะเกี่ยวข้องกับการเกษตร แต่คนกลุ่มนี้กลับทำรายได้เพียงแค่ 8.6% ของ GDP ทั้งประเทศ

 

การทำมากแต่ได้ผลตอบแทนน้อยเช่นนี้จึงเป็นปัญหาหลักของอุตสาหกรรม จนเป็นหนึ่งในสาเหตุที่จำนวนเกษตรกรหายไปจากระบบไป 4 ล้านคนจากปี 2555 ที่มี 15.4 ล้านคนมาเหลือ 11.9 ล้านคนในปี 2565 

 

คำถามที่ตามมาคือ เกษตรกรไทยยังไปต่อได้ไหม

 

คำตอบในประเด็นนี้คือยังไปได้ แต่แน่นอนว่าหนทางข้างหน้าไม่ง่าย ซึ่งสัญญาณบวกในตอนนี้ของภาคเกษตรไทยจากมุมมองของ ธิติ มหบุญพาชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาภักดีพณิชยการและเทคโนโลยี กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า “ปัจจุบันเราเริ่มเห็นเทรนด์ที่คนรุ่นใหม่บางกลุ่มหันมาสนใจอาชีพเกษตรกรเยอะขึ้น แต่ต้องยอมรับว่ายังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่ ฉะนั้นการนำเสนอภาพลักษณ์ด้วยการสร้างสินค้าเกษตรมูลค่าสูงจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนั่นจะช่วยให้ภาพจำเก่าๆ ที่ดูไม่ดีของอาชีพนี้ดีขึ้น”

 

โจทย์ใหญ่ของเกษตรกรไทยคือการพยายามหาจุดแข็งของแต่ละจังหวัด ซึ่งธิติมองว่าทรัพยากรธรรมชาติของไทยนั้น ‘มีอยู่หลากหลายมาก’ แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือเกษตรกรยังไม่ปรับใช้เทคโนโลยีให้เป็นข้อได้เปรียบ โดยบางครั้งก็มาจากสาเหตุที่ขาดความรู้และยังยึดติดกับความสำเร็จเดิม หรือแม้กระทั่งตามกระแสจนเป็นเหตุให้สินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งล้นตลาด

 

อย่างไรก็ตาม ความหวังที่จะพลิกโฉมอาชีพนี้ให้กลับมาเป็นอาชีพที่ ‘น่าทำ’ อีกครั้ง คือการปรับใช้เทคโนโลยีเข้ากับการตัดสินใจเชิงเกษตร โดยการขับเคลื่อนและริเริ่มจะมาจากคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานเกษตรกร

 

ล่าสุด ธิติและผู้นำด้านเกษตรรวมทั้งสถาบันการศึกษาของหลายจังหวัดจึงตัดสินใจร่วมมือกับบริษัท  ซีเอ็นเอช ประเทศไทย เพื่อมอบความรู้เรื่องเทคโนโลยีเกษตรผ่านโครงการฝึกงานนักศึกษาให้สามารถกลับไปถ่ายทอดความเข้าใจใหม่ๆ ที่บ้านเกิดตัวเอง

 

มาร์ค บรินน์ กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่น บริษัท ซีเอ็นเอช กล่าวว่า “ซีเอ็นเอชมุ่งสนับสนุนภาคการเกษตรด้วยเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับงานของเกษตรกร รวมทั้งการสนับสนุนการเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมในประเทศไทย”

 

นอกจากนี้บริษัทยังร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาภักดีพณิชยการและเทคโนโลยีผ่านโครงการทุนการศึกษา และร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในการออกแบบหลักสูตรการฝึกภาคปฏิบัติกับโครงการฝึกงาน เพื่อขยายความร่วมมือไปสู่การวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร

 

‘การศึกษา’ และ ‘เทคโนโลยี’ ถือเป็นหนทางที่จะช่วยกระจายรายได้ให้ทั่วถึงในหลายส่วนของประเทศในยุคนี้ และแก้ไขเรื่องปัญหาแรงงานเกษตรขาดแคลน ซึ่งทั้งหมดคือความหวังที่ว่าสักวันเราคงเห็นผู้คนสามารถสร้างตัวที่บ้านเกิดของตัวเองได้ ไม่ต้องคอยมาดิ้นรนอยู่แค่ในเมืองหลวง และเฝ้านับถอยหลังให้ถึงวันหยุดเทศกาลเพียงเพราะจะฝ่ารถติดเพื่อกลับไปใช้เวลากับครอบครัว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X