×

CNBC ประมวลสถานการณ์วัคซีน 6 ประเทศ พบ 5 ใน 6 ที่กลับมาระบาดระลอกใหม่ใช้วัคซีนจากจีนเป็นหลัก

09.07.2021
  • LOADING...
สถานการณ์วัคซีน

สถานีโทรทัศน์ CNBC จัดทำรายงานพิเศษ รวบรวมและวิเคราะห์สถานการณ์โควิดใน 6 ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนแพร่หลายครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว โดยเปรียบเทียบอัตราการฉีดวัคซีนกับอัตราการติดเชื้อ พบว่า 5 ประเทศจากทั้งหมด 6 ประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อจำนวนมากระลอกใหม่ ล้วนเป็นประเทศที่ใช้วัคซีนที่ผลิตจากจีนเป็นวัคซีนหลักในการฉีดให้กับประชาชน

 

ผลลัพธ์ของรายงานครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางข้อกังขาและความพยายามค้นหาคำตอบเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิดที่ทางจีนผลิตขึ้น

 

โดย CNBC เริ่มต้นคัดเลือกประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนระดับสูงและมีอัตราผู้ติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์มากกว่า 1,000 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน โดยใช้ข้อมูลจาก Our World in Data จนถึง ณ วันที่ 6 กรกฎาคม ก่อนพบว่ามี 36 ประเทศที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว จากนั้นจึงคัดเลือกเฉพาะประเทศที่มีการฉีดให้กับประชาชนแล้วมากกว่า 60% จนได้มาเป็น 6 ประเทศ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เซเชลส์ (Seychelles), ชิลี, อังกฤษ, อุรุกวัย และมองโกเลีย ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียงสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษเท่านั้นที่ไม่ได้ใช้วัคซีนจากจีนเป็นวัคซีนหลัก นอกนั้น 5 ประเทศ ล้วนพึ่งพาวัคซีนจากจีนทั้งสิ้น

 

ทั้งนี้ เมื่อดูสถานการณ์การระบาดใน 6 ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก เทียบกับอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่รายสัปดาห์ต่อประชากร 1 ล้านคน ตั้งแต่เดือนมกราคม – วันที่ 6 กรกฎาคม พบว่า อัตราการติดเชื้อรายใหม่ใน 5 ประเทศล้วนเพิ่มขึ้น ยกเว้นอังกฤษที่ลดต่ำลงจนเห็นได้ชัด ก่อนมาขยับเพิ่มในช่วงเดือนกรกฎาคม แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับ 5 ประเทศที่เหลือ

 

สำหรับมองโกเลียมีรายงานว่าได้รับวัคซีน Sinopharm จำนวน 2.3 ล้านโดส ซึ่งมากกว่าวัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย ที่ 80,000 โดส และ Pfizer ที่ 255,000 โดส

 

ด้านชิลีใช้วัคซีน Sinovac จำนวน 16.8 ล้านโดส และ Pfizer 3.9 ล้านโดส ส่วนยูเออีและเซเชลส์ใช้วัคซีน Sinopharm เป็นตัวหลัก ก่อนที่ไม่กี่เดือนต่อมาจะมีวัคซีนยี่ห้ออื่นเข้ามาเสริม ขณะที่อุรุกวัยใช้ 2 วัคซีนหลักควบคู่กัน คือ Sinovac และ Pfizer

 

ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษจะเห็นได้ว่าทางรัฐบาลมีการอนุมัติใช้วัคซีนหลากหลายยี่ห้อ ทั้ง Moderna, AstraZeneca, Pfizer และ Johnson & Johnson ทำให้อัตราการติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างมาก ยกเว้นในช่วงเดือนมิถุนายนเข้าสู่เดือนกรกฎาคมที่มีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดลตา

 

ทั้งนี้ มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่รายสัปดาห์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยอัตราการฉีดวัคซีนนี้ประเมินรวมจากผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม พบว่า ยูเออีมีอัตราฉีดวัคซีนที่ 74.0% เซเชลล์ 72.1% ชิลี 67.3% อังกฤษ 66.8% อุรุกวัย 66.5% และมองโกเลีย 63.0%

 

แม้จะไม่อาจสรุปได้อย่างชัดเจนว่าอัตราการระบาดของประเทศที่มีการใช้วัคซีนของจีนเป็นผลจากประสิทธิภาพของวัคซีน เนื่องจากกรณีการแพร่ระบาดของโควิดมีหลายปัจจัยและหลายเงื่อนไขเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พอจะสรุปได้ก็คือว่า วัคซีนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% ดังนั้นคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็มีโอกาสติดเชื้อได้อยู่ ในขณะเดียวกัน การที่ไวรัสมีความสามารถในการกลายพันธุ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไวรัสสามารถเอาชนะวัคซีนได้

 

ทั้งนี้ นักระบาดวิทยาแนะนำว่า นานาประเทศไม่ควรหยุดหรือยกเลิกการใช้วัคซีนจากจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ซัพพลายของวัคซีนขาดแคลนในประเทศยากจนและประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งไม่สามารถแข่งขันกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปในการเข้าถึงวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ ได้ เพราะฉะนั้นมีให้ฉีดเพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจึงดีกว่าไม่มีเลย กระนั้นหลายฝ่ายก็เรียกร้องให้บรรดาประเทศร่ำรวยเร่งให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เพื่อให้เกิดการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

 

ขณะเดียวกัน ทางด้านบริษัทผู้ผลิตวัคซีนชั้นนำอย่าง Pfizer-BioNTech ได้ออกมาประกาศว่ากำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อกรกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาขึ้นมาโดยเฉพาะ หลังจากที่ไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวขยับกลายเป็นสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในหลายประเทศ รวมถึงในสหรัฐอเมริกา ที่ไวรัสดังกล่าวกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่มีผู้ติดเชื้อในประเทศมากขึ้น

 

Pfizer-BioNTech กล่าวว่า แม้ทางบริษัทจะเชื่อว่าวัคซีนเข็มที่ 3 ซึ่งเพิ่มเติมจากการฉีด 2 เข็มในปัจจุบันจะมีศักยภาพเพียงพอต่อการรับมือกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ แต่ทางบริษัทก็ไม่อาจนิ่งนอนใจและยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์ รวมถึงดำเนินการพัฒนาเพื่ออัปเดตวัคซีนที่มีอยู่ในเวลานี้

 

แถลงการณ์ของบริษัทเปิดเผยถึงสาเหตุที่ต้องเดินหน้าพัฒนาวัคซีนนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากหลักฐานรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอลที่พบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงหลังจากที่ฉีดเข้าร่างกายไปแล้ว 6 เดือน บวกกับการที่ไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา เริ่มเป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก

 

ข้อมูลข้างต้นรวมกับรายงานการวิเคราะห์การศึกษาในเฟสที่ 3 ของบริษัท ทำให้ทาง Pfizer-BioNTech เชื่อว่าจำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ภายใน 6-12 เดือน หลังจากที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแรกแล้ว โดยการทดสอบทางคลินิกเพื่อยืนยันสมมติฐานดังกล่าวจะมีขึ้นอย่างเร็วที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ทันทีที่ได้รับอนุญาตจากทางการ

 

การประกาศของ Pfizer-BioNTech ในครั้งนี้ ยังมีขึ้นในวันที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกประกาศห้ามไม่ให้มีผู้ชมเข้าชมการแข่งขันทุกสนาม ทุกประเภทกีฬาในปีนี้ หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโควิดซึ่งมีการกลับมาระบาดระลอกใหม่เพราะสายพันธุ์เดลตา

 

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

 อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising