เมื่อวานนี้ (3 กรฎาคม) มีการเปิด Clubhouse พูดคุยในหัวข้อ ‘เปิดโรงเรียนไม่ได้ กระทบการศึกษาอย่างไร’ มีนักวิชาการ ครู และ นักเรียน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สะท้อนปัญหา ระบายความในใจ และเสนอทางออกจำนวนมาก เช่น ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูโรงเรียนวัดธาตุทอง, บอส ตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลว, ตัวแทนกลุ่มเด็ก 2564 และนักเรียนจากสถานศึกษาหลายแห่ง จัดโดย อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2565 ด้านการศึกษา
ตัวแทนกลุ่มผู้เรียนพบว่า มีความไม่พร้อมของอุปกรณ์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต เด็กถูกผลักภาระจนกระทบกับสุขภาพ การบ้านมากเกินไป เรียนหน้าจอนานจนเหนื่อยล้า ปวดหัว สายตาพร่ามัว เกิดภาวะเครียด เรียนได้ไม่เต็มที่
ในส่วนของผู้ปกครองพบว่า ต้องแบกรับหนี้สินจากการจัดหาอุปกรณ์ แบ่งเวลาในการร่วมเรียนออนไลน์ไปพร้อมกับการทำงานหาเลี้ยงชีพ
ในขณะที่ครูประสบปัญหาขาดอุปกรณ์เพื่อจัดการสอน ไม่มีงบประมาณสนับสนุน ครูต้องจัดหากันเอง ต้องเตรียมการสอนมากขึ้น ค้นหารูปแบบการสอนและเทคนิคที่จูงใจด้วยตัวเอง ถูกผลักเป็นเหยื่อรับบาปสังคมตราหน้า เพราะจัดการเรียนไม่ดี ภาระงานเพิ่มขึ้นจากนโยบายให้อิสระของกระทรวง แต่คำว่า ‘อิสระ’ นี้ กลับกลายเป็นบ่วงที่ทำให้ราชการกลัว ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าปรับเปลี่ยน
อรุณี กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณด้านการศึกษาปี 2565 นอกจากตัดลดงบประมาณในส่วนสำคัญลง ยังไม่มีการวางงบประมาณเพื่อสอดรับกับสถานการณ์การเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงที่เกิดโรคระบาด มากไปกว่านั้นคือกระทรวงศึกษาธิการกลับตั้งเป้ายกระดับ PISA หรือโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติให้เข้มข้นขึ้นในสถานการณ์นี้ ซึ่งสวนกระแสโลก ที่แต่ละประเทศมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์เปราะบางให้มีคุณภาพ ไม่ทิ้งเด็ก ครู และผู้ปกครองไว้ข้างหลัง ซึ่งประเด็นเหล่านี้ตนจะนำไปผลักดันต่อในชั้นคณะอนุกรรมาธิการงบประมาณด้านการศึกษา ร่วมกับ ชนก จันทาทอง ส.ส. หนองคาย ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการด้านการศึกษา และ ส.ส. รวมทั้งสมาชิกพรรคเพื่อไทยในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2565 ต่อไป