×

หนึ่งเสียงบน Clubhouse ที่สะเทือนไปถึงดาวอังคาร

10.03.2021
  • LOADING...
Clubhouse

HIGHLIGHTS

  • Clubhouse ถูกดูแลและพัฒนาโดยทีมงานเพียง 10 ชีวิต ได้เปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รองรับการใช้งานเฉพาะในระบบ iOS และให้ลงทะเบียนใช้งานผ่าน Invitation-Only เท่านั้น
  • จากจำนวนผู้ใช้งานเพียง 600,000 users ในเดือนธันวาคม 2563 ได้มีผู้ลงทะเบียนเข้ามาใช้งานเพิ่มทะลุ 6 ล้านแอ็กเคานต์เพียงเวลา 2 สัปดาห์หลังจากนั้น โดยปัจจุบันถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของแอปพลิเคชันยอดฮิตของ Social Media Network ใน App Store รองจาก Facebook, Messenger, WhatsApp และ Discord 
  • เพราะว่ามันสดใหม่ (Live) ใช้งานง่าย (Easy) และสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนฟัง (Interactive) ได้มากกว่า จึงมีหลายต่อหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า Clubhouse จะเข้ามาแทนรายการวิทยุหรือรายการพอดแคสต์หรือไม่ และนักการตลาดก็ยังตั้งคำถามถึงการสร้างรายได้จากแอปพลิเคชันนี้ 
  • ที่แน่ๆ ผู้สร้างแอปพลิเคชันได้ตอบคำถามว่า เขายังสนับสนุนให้ Content Creator สร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ แต่มั่นใจว่าในเร็ววันผู้ใช้งานคงได้เห็นทิศทางการสร้างรายได้จาก Clubhouse อย่างแน่นอน 

นับตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป อยากชวนให้สมาชิกคลับกดปุ่ม ‘Leave Quietly’ สักครู่ ส่วนผู้อ่านที่กำลังรอ Invitation อยู่ ก่อนที่จะเข้าสู่คลับ อยากชวนให้ลองจินตนาการถึงบรรยากาศแคมปิ้งสมัยเรียนมัธยม หรือว่า Barcamp ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งบรรยากาศเหล่านั้นคือบรรยากาศที่เกิดขึ้นใน Clubhouse แอปพลิเคชันที่สื่อสารกันแบบเรียลไทม์ ผ่านแชตเสียง 

 

หลังจากที่เจ้าแอปพลิเคชันซึ่งดูแลและพัฒนาโดยทีมงานเพียง 10 ชีวิต ได้เปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แม้จะรองรับการใช้งานเฉพาะในระบบ iOS และให้ลงทะเบียนใช้งานผ่าน Invitation-Only เท่านั้น แต่ในระยะเวลาไม่ถึงปี บริษัทสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์จาก Sillicon Valley อย่าง พอล ดาวิสัน และ โรแฮน เซธ ก็สามารถพาเจ้าโซเชียลแอปพลิชันนี้ไปได้ไกลในระยะเวลาอันสั้น เกินกว่าที่สตาร์ทอัพน้องใหม่รายไหนจะทำได้

แม้เดือนแรกจะมียอดดาวน์โหลดเพียง 1,500 ครั้ง แต่ก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากถึง 180 ราย และได้มีการรายงานจาก CNBC ในเดือนถัดมาว่า บริษัทแห่งนี้มีมูลค่าอยู่ที่ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวันสุดท้ายของเดือนมกราคมที่ผ่านมา Clubhouse ได้เขย่าความสนใจคนทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อ อีลอน มัสก์ ได้เข้ามาร่วมห้องสนทนา Elon Musk on Good Time เพื่อพูดคุยถึงการลงทุนใน Crypto, อนาคตของ AI, วัคซีนโควิด-19, การเดินทางไปยังอวกาศและภารกิจการสร้างอาณาจักรบนดาวอังคาร! 

 

จากจำนวนผู้ใช้งานเพียง 600,000 users ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็มีผู้ลงทะเบียนเข้ามาใช้งานเพิ่มทะลุ 6 ล้านแอ็กเคานต์เพียงเวลา 2 สัปดาห์หลังจากนั้น และปัจจุบัน Clubhouse ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของแอปพลิเคชันยอดฮิตของ Social Media Network ใน App Store  ซึ่งรองจาก Facebook, Messenger, WhatsApp และ Discord ไปเรียบร้อยแล้ว

 

Clubhouse is a space for casual…

เพราะเจ้าแอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงเวลาที่โลกกำลังประสบกับภาวะแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงที่ผู้คนทั่วทุกมุมโลกต่างอยู่ในโหมดกักตัว  

 

หนึ่งปีที่ผ่านมา นอกจากมันจะพาบรรดาคนเหงาใน Silicon Valley ข้ามผ่านช่วงเวลาของการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) แล้ว ต้นปีนี้มันยังได้พาบรรดาคนโสดจากทั่วโลกเดินทางข้ามผ่านวันวาเลนไทน์มาอย่างครึกครื้นด้วย ซึ่งเราเองก็ค่อนข้างแน่ใจว่ามันมีดีพอตัวที่สามารถดูดเวลาของบรรดาสตาร์ทอัพ นักธุรกิจ นักการตลาด นักสื่อสาร หรือแม้กระทั่งนักการเมืองเอง ต่างก็ย้ายจากโซเชียลแพลตฟอร์มอื่นๆ มารวมตัวกัน เปิดฟอรัมและเปิดเวทีเสวนาบนแพลตฟอร์มนี้ 

 

เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์นับจากต้นเดือนกุมภาพันธ์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้บน Clubhouse ในเมืองไทยก็เติบโตแบบก้าวกระโดด (Exponential Growth) จากห้องสนทนาที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมเพียงหลักสิบ ก็ค่อยๆ ขยับขยายไปสู่หลักพัน และข้ามขีดความจุในทุกๆ วัน จากการพูดคุยสั้นๆ ก็เริ่มมีบทสนทนาใหม่ๆ หลั่งไหลเข้ามา ช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงมีห้องสนทนา 24 ชั่วโมงเกิดขึ้นมากมาย และอย่าแปลกใจหากพบว่ามีใครหลายคนยอมเสียสละเวลานอนติดกันหลายๆ คืน เพื่อมานั่งแช่อยู่ในห้องสนทนา ซึ่งเป็นไปได้ว่าเจ้าแอปพลิเคชันนี้มันได้สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนในประเด็นเล็ก-ใหญ่ จึงทำให้คนแปลกหน้าที่สนใจเรื่องเดียวกันได้มาพูดคุยกันอย่างถึงพริกถึงขิง บรรยากาศเช่นนี้เองทำให้เรานึกถึงการตั้งวงสนทนาใน Houseparty ยุคก่อนโควิด-19 อย่างไรอย่างนั้นเลย 

 

…, drop-in audio conversations

เมื่อฟังก์ชันการใช้งานบนเจ้าแอปพลิเคชันนี้ได้มอบประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ใช้งาน เมื่อใช้งานง่าย สื่อสารกันได้ด้วยเสียง และโต้ตอบกันได้ในทันที โซเชียลแอปพลิเคชันจึงตอบโจทย์ความต้องการด้านอารมณ์ของมนุษย์ในช่วงเวลาที่โลกเข้าสู่โหมด Social Distancing 

 

สำหรับสมาชิกคลับ ไม่ว่าคุณจะเป็น Audience ถูกเชิญขึ้นไปเป็น Speaker หรือรับบทเป็น Moderator ก็ตาม ในบางประเด็นคุณอาจจะเป็นเพียงผู้ฟัง และบางครั้งคุณอาจจะสลับขึ้นไปแสดงความคิดเห็นบน Virtual Stage ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่หลั่งไหลเข้ามาในแต่ละวัน ทำให้บรรยากาศห้องสนทนาในแต่ละช่วงเวลาเปลี่ยนไป แน่นอนว่ามันทำใครต่อใครต่างก็ไม่อยากพลาดช่วงเวลาสำคัญไปแม้แต่วินาทีเดียว (Fear of Missing Out) และนี่คงเป็นเสน่ห์ที่ผู้ใช้งานตกหลุมรัก


โลกในโหมด Social Distancing กับผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น ‘สิบล้าน’ ในเวลา 10 เดือน
เที่ยงคืนวันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2020 (ตามเวลาประเทศไทย) ทีมผู้ก่อตั้งที่นำโดย พอล ดาวิสัน ได้เปิดห้อง ‘Clubhouse Townhall’ เพื่อบอกข่าวสำคัญรวมถึงอัปเดตถึงทิศทางการพัฒนาแอปพลิเคชันในวันที่ยอดผู้ใช้งานทั่วโลกทะลุ 10 ล้านในเวลาเพียง 10 เดือน

 

ทว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ใช้งานจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีทั้ง Creator และผู้ใช้งานทั่วไปหลั่งไหลเข้ามา ในอัตราการเติบโตเช่นนี้ทำให้ทีมนักพัฒนาตระหนักถึงเสถียรภาพของแอปพลิเคชันและความสามารถในการรองรับจำนวนผู้ใช้งานในห้องต่างๆ อีกทั้งความปลอดภัยทางด้านข้อมูลผู้ใช้งานด้วย โดย พอล ดาวิสัน เล่าว่า สิ่งที่เขาและทีมให้ความสำคัญและโฟกัสอยู่ในตอนนี้คือการพัฒนาโปรดักต์ให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานอย่างสูงสุด ทั้งคุณภาพของเสียงและความสามารถในการรองรับผู้เข้าร่วมในแต่ละห้องสนทนาด้วย  

 

เขาเล่าว่า “ผมยังจำได้ดีถึงวันที่เราเริ่มต้นเข้าไปเปิดห้องสนทนา วันนั้นมีคนเข้าร่วม 200 คนก็ว้าวแล้ว ในตอนนั้นยังไม่รู้และนึกไม่ถึงเลยว่าเราจะขยับขยายจำนวนผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร คิดแค่ว่าควรจะเป็นพันดีไหม” เขายังเล่าต่อถึงการสเกลอัพที่รองรับจำนวนผู้เข้าร่วมที่เพิ่มขึ้นอย่างเกินคาดในวันที่ อีลอน มัสก์ เข้ามาใช้งาน ซึ่งสามารถรองรับผู้เข้าร่วมห้องสนทนาเพิ่มขึ้นได้ 5,000 คน และทีมพัฒนาเองก็คาดหวังว่าห้องสนทนาจะสามารถรองรับผู้เข้าร่วมได้มากขึ้นอีกเรื่อยๆ โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมนักพัฒนาได้เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นวันละ 1,000 users “ในวันนี้เราก็สามารถเพิ่มขีดความสามารถมาได้ถึง 9,000 แล้ว และเราคาดหวังว่าในอนาคตมันจะสามารถจุคนได้อย่างไม่มีข้อจำกัด” ชายหนุ่มนักพัฒนาเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น และเขายังบอกด้วยว่า เร็วๆ นี้ทีมพัฒนาเพิ่ง Recruit นักพัฒนา Android เข้ามาร่วมพัฒนาแล้ว ในอนาคตไม่ไกลผู้ใช้งาน Android ก็จะสามารถเข้ามาใช้งาน Clubhouse ได้แน่แท้

 

—With friends and other interesting people around the world

กระแสของแอปพลิเคชัน Clubhouse ในเมืองไทย ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับโซเชียลแอปพลิเคชั่นอื่นๆ แล้ว อาจจะกล่าวได้ว่าเจ้า Clubhouse นี้กำลังถูกครอบครองโดยคนตัวเล็กและเหล่า Creator โดยแท้

 

ไม่ใช่เพียงศิลปิน ดารา หรือเน็ตไอดอล ที่ได้รับความสนใจเฉกเช่นยุคก่อนๆ หรือแพลตฟอร์มเดิมๆ แต่เหล่าคนดังในแวดวงการธุรกิจ สตาร์ทอัพ นักวิชาการ ผู้รู้เฉพาะทาง และนักการเมืองเอง ก็มียอดผู้ติดตามที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดห้องสนทนาด้วย นอกจากวงสนทนาของคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยแล้ว ในเวลานี้เจ้า Clubhouse เองก็ยังได้เชื่อมโยงคนไทยในต่างแดนให้ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็นต่างๆ ในบรรยากาศการพูดคุยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย 

 

ช่วงเวลากว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ทุบสถิติยอดผู้เข้าร่วมห้องสนทนาอย่างล้นทะลัก แม้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้เพิ่มความจุขึ้นทุกวันก็ตาม

 

ใน Town Hall ครั้งล่าสุด พอลได้บอกกับผู้ใช้งานว่า เขาก็คาดไม่ถึงว่าอนาคตของ Clubhouse จะเติบโตอย่างไร ช่วงที่ผ่านมาเขาเองได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้ใช้งานเช่นกัน สุดท้ายแล้วมันอาจจะกลายเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่อาจจะข้ามขีดความสามารถของแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนก็ได้

 

กระแสของ Clubhouse ได้เรียกความสนใจผู้ใช้งานชาวไทยอีกหน เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ใช้ชื่อแอ็กเคานต์ Tony Woodsame เข้ามาร่วมห้องสนทนาที่ชื่อ ‘ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้’ ในคืนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้เข้าร่วมครั้งนี้ยังได้ทำลายสถิติการเข้าร่วมข้องสนทนาของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่เข้ามาใช้งานวันแรกเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนั้นระบบสามารถรองรับผู้ใช้งานได้เพียง 5,000 users จากตัวเลขผู้เข้าร่วมห้องสนทนาหลักและห้องเสียงสะท้อน ก็อาจจะสะท้อนถึงการเติบโตของผู้ใช้งานในเมืองไทยที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย 

 

Hop in as a listener and hear what others are talking about.

เพราะว่ามันสดใหม่ (Live) ใช้งานง่าย (Easy) และสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนฟัง (Interactive) ได้มากกว่า จึงมีหลายต่อหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า Clubhouse จะเข้ามาแทนรายการวิทยุหรือรายการพอดแคสต์หรือไม่

ข้อสงสัยนี้ถูกอธิบายโดยทีมผู้ก่อตั้งว่า Clubhouse แม้จะอยู่ใน Secment ของ Audio แต่มันแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ แม้จะคล้ายกับรายการพอดแคสต์และรายการวิทยุ แต่มันแตกต่างในมิติของพฤติกรรมผู้ใช้งาน ณ ขณะที่ใช้งาน มันให้ความรู้สึกเหมือนกับคุยโทรศัพท์ มันพิเศษที่ความสดใหม่ ใช้งานง่าย และได้สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานคนอื่นๆ ที่อยู่ในห้องสนทนาเดียวกัน ณ ขณะนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือความแตกต่างที่ Clubhouse ให้ประสบการณ์ที่ต่างจากรายการวิทยุและรายการพอดแคสต์ 

 

ชายหนุ่มผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชันนี้บอกว่า นอกจาก Live Concert, Live Event หรือแม้แต่ Live Conferences แล้ว เขาเองก็ตื่นเต้นที่จะได้เห็นบริบทที่แปลกใหม่ของการแปลงคอนเทนต์ขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มของเขา ในขณะเดียวกันเขาและทีมก็จะพัฒนาระบบเพื่อให้ผู้ใช้ได้ความสร้างสรรค์คอนเทนต์ออกมาได้อย่างเต็มความสามารถ “เราสนุกที่จะเห็นมันนะ” 

 

ชายหนุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์ยังให้ทริกกับผู้ใช้งานด้วยว่า การจะเล่น Clubhouse ให้สนุกนั้นต้องกล้าที่จะ Hop ไปยังห้องต่างๆ ยกมือถาม และกล้าพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

 

อนาคตของ Clubhouse ในมิติของแฟชั่น และการไปต่อในบริบทของคอมมูนิตี้

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พอลถูกสัมภาษณ์โดย The Business of Fashion ร่วมกับ เวอร์จิล แอบโลห์ ดีไซเนอร์ชื่อดังของแบรนด์ระดับโลกอย่าง Louis Vuitton ว่า วงการแฟชั่นจะเข้าไปอยู่ใน Clubhouse ได้อย่างไรเมื่อแฟชั่นต้องอยู่ในรูปแบบของเสียง 

 

ชายหนุ่มผู้ก่อตั้งได้ให้ความเห็นว่า แอปพลิเคชันของเขานั้นมีฟังก์ชันการใช้งานที่ตรงข้ามกับแอปพลิเคชันอื่นๆ ก็จริง แต่ Creator หรือแบรนด์ก็สามารถสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับคอมมูนิตี้ได้ โดยอาจจะมุ่งไปที่การสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ อย่างเช่น การเชิญกูรูหรือผู้นำเทรนด์ในคอมมูนิตี้นั้นๆ ที่เป็น Creator มาพูดถึงเทรนด์ หรืออาจจะมาแบ่งปันว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหน อย่างไร หรืออาจจะให้พวกเขาเล่าถึงประสบการณ์ก็ได้ว่าพวกเขาสนุกกับการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการเหล่านั้นอย่างไร  

 

เมื่อกลางสัปดาห์ พอลก็ยังได้ให้สัมภาษณ์บน Clubhouse ในห้องสนทนาของ โจ โรแกน ถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันว่า สิ่งที่พวกเขาทำนั้นมันเป็นการยกระดับการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนผ่านโลกออนไลน์ เพื่อสร้างประสบการณ์เสมือนจริงร่วมกับผู้ใช้อื่น เฉกเช่นกับ Tinder ที่เชื่อมโยงคนแปลกหน้าที่มองหาสิ่งที่คล้ายกันให้ได้มาเจอกันผ่านแอปพลิเคชัน จากนั้นก็เริ่มสร้างประสบการณ์ร่วม ด้วยการเปิดห้องสนทนา ทำความรู้จักกันผ่านการพูดคุยบนแอปพลิเคชัน นั่นเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ในโลกแห่งความเป็นจริง และเป็นสิ่งที่เรามุ่งมั่นจะทำ

 

นอกจากนี้บรรดานักการตลาด แบรนด์ และนักผลิตคอนเทนต์ ก็ยังตั้งคำถามถึงการสร้างรายได้จากแอปพลิเคชันนี้ ซึ่งพอลก็ได้ตอบคำถามใน Town Hall ครั้งล่าสุดว่า เขาสนับสนุนให้ Content Creator สร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ส่วนทิศทางในการสร้างรายได้ เขายังไม่ได้เปิดเผยอย่างแน่ชัด แต่มั่นใจว่าในเร็ววันผู้ใช้งานคงได้เห็นทิศทางการสร้างรายได้จาก Clubhouse อย่างแน่นอน 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:  

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X