×

คุยกับ ‘พีท ทสร – อั๋น วุฒิศักดิ์’ สองคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังงานแคมเปญแฟชั่นฟิล์มครั้งแรกของ CLUB 21 THAILAND

18.10.2024
  • LOADING...

หากใครเป็นสายแฟชั่นอาจจะพอคุ้นเคยกับชื่อของ CLUB 21 กันอยู่บ้าง เพราะพวกเขาคือผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นชั้นนำระดับโลกมากมายเข้ามาในประเทศไทยมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี แต่สำหรับใครที่ยังไม่เคยรู้จักพวกเขามาก่อน ล่าสุดนี้พวกเขาเพิ่งเปิดตัวแฟชั่นฟิล์มสุดเท่ออกมาถึง 3 ตัวภายใต้ชื่อแคมเปญ ‘Salute the Detail’ เพื่อชวนให้คุณสนุกไปกับการสังเกตดีเทลของแฟชั่น พร้อมทำความรู้จักว่า ‘CLUB 21’ คือใครกัน

 

และในตอนนี้ หลังจากที่แฟชั่นฟิล์มทั้ง 3 ตัวปล่อยออกมาแล้ว หลายคนที่ได้ชมอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงต้องมีภาพยนตร์ถึง 3 แบบ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เวอร์ชัน คนไม่มีมารยาทกับคนไม่มีมารยาท CLUB 21, คนโกหกกับคนโกหก CLUB 21 และ คนคลั่งรักกับคนคลั่งรัก CLUB 21 หรือทำไมพวกเขาต้องเล่นคำกับบทกลอนที่คนไทยคุ้นเคยกันด้วย แล้วความหมายของแคมเปญนี้คืออะไรกัน

 

 

งานนี้ THE STANDARD POP จึงไม่พลาดชวนคุณไปหาคำตอบจากสองบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังแฟชั่นฟิล์มสุดเท่นี้ นั่นก็คือ พีท-ทสร บุณยเนตร แม่ทัพครีเอทีฟแห่ง BBDO Bangkok และเจ้าของรางวัลระดับโลกด้านโฆษณามากมาย รวมทั้งรางวัล Gold และ Silver Lions จากเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส และ อั๋น-วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร ผู้ก่อตั้งและผู้กำกับโฆษณามากฝีมือแห่ง FACTORY01 ที่เขาเคยคว้ารางวัล Grand Prix มาร่วมพูดคุยถึงเบื้องหลังการทำงานชิ้นนี้ว่าพวกเขาทำอย่างไรให้แฟชั่นเป็นเรื่องสนุกและเข้าใจได้ ไปพร้อมๆ กับชวนให้คุณมาทำความรู้จักกับชื่อของ CLUB 21 ด้วยเช่นกัน

 

พีท-ทสร บุณยเนตร (ซ้าย) และ อั๋น-วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร (ขวา)

 

แฟชั่นดูเป็นสิ่งที่มีดีเทลเยอะ แล้วตอนที่นำโปรดักต์ต่างๆ มาทำให้เป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย เรามีแนวคิดอย่างไรในการสร้างสิ่งเหล่านี้

 

พีท ทสร: เวลาเราดูวิดีโอแฟชั่นหรือเราดู Fashion Statement เราจะเห็นว่าสิ่งนี้เข้าหาผู้บริโภคยาก ยิ่งเป็นครั้งแรกของ CLUB 21 ที่ทำแคมเปญในฐานะที่เป็นธุรกิจรีเทล ยิ่งทำให้การหยิบคาแรกเตอร์ของแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งออกมายาก ดังนั้นเราต้องสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างแฟชั่นและการค้าเข้าด้วยกันให้ได้ ในขณะที่ยังต้องรักษาตัวตนของแต่ละแบรนด์เอาไว้ให้ได้ชัดเจน

 

ตอนที่กำกับแฟชั่นฟิล์มสำหรับ CLUB 21 มีวิธีทำอย่างไรให้แคมเปญสามารถสื่อสารไปยังคนดูที่อินแฟชั่นและคนดูทั่วไปพร้อมๆ กัน

 

อั๋น วุฒิศักดิ์: ถ้าเราถอยออกมานั่งดูภาพยนตร์ตัวนี้โดยที่เราไม่รู้แฟชั่นเลยเราจะเห็นอะไรบ้าง สิ่งแรกที่เราเห็นคือบทกลอนภาษาไทยที่ใช้ในงาน เราก็จะสรุปแล้วว่ากลอนนี้คืออะไรนะ มันคือ Content-Based แล้ว สมมติว่าคอนเทนต์นี้อาจไม่ได้ถ่ายทำสวยงาม ถ่ายภาพด้วยมือถือทั่วไป แต่เมื่อร้อยเรื่องด้วยบทกลอน สิ่งนี้จะทำให้คนสนใจไม่ว่าภาพจะเป็นอย่างไรก็ตาม นี่คือหลักที่ทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วม

 

แล้วเราก็ห่อหุ้มคอนเทนต์นี้ด้วยภาพโปรดักต์ของเรา ทำให้คนเห็นคอนเซปต์ที่ครีเอทีฟตั้งใจไว้ มันก็จะดึงให้คนอยู่กับเรา คล้ายๆ กับการทำภาพยนตร์ให้เห็นว่ามี Before และ After ให้เห็นผ้าที่ซักสะอาดและไม่สะอาด ให้โชว์ทั้งเรื่องแบบนี้เลย คนจะอยู่กับผ้าซักและไม่ซักตลอดทั้งเรื่อง แล้วการเล่นคำด้วยกลอนภาษาไทยก็จะทำให้คนดูรู้สึกเอ็นเตอร์เทน ฟังกลอนแล้วนึกถึงเพื่อนคนนี้ แชร์ไปให้เพื่อนดูทาง LINE ดีกว่า เหมือนคอนเทนต์เล่นกับเขาด้วย

 

 

แคมเปญแฟชั่นฟิล์มนี้มีชื่อว่า ‘Salute the Detail’ แล้วดีเทลอะไรที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดในการทำงานโปรเจกต์นี้

 

อั๋น วุฒิศักดิ์: ผมคิดว่ามันคือความละเอียดอ่อนของความรู้สึก แม้กระทั่งการอ่านของโฆษก ถ้าฟังเผินๆ เราอาจไม่ได้รู้สึก แต่ถ้าลองไปฟังดีๆ แม้แต่เสียงโฆษกที่พูดถึงคนคลั่งรักหรือคนไร้มารยาทก็จะใช้เสียงหรือ Acting อีกแบบหนึ่ง เสียงอาจจะคล้ายกัน แต่อารมณ์ไม่เหมือนกัน

 

ส่วนงานภาพเราก็อยากให้เห็นชัดว่าคนสองคน (ในวิดีโอแคมเปญ) แต่งตัวแตกต่างกัน เราไม่ได้เปรียบเทียบว่ารวยหรือจน แต่เปรียบเทียบทางเลือกของสไตล์ว่าอีกคนใส่ชุดที่เขาเลือกอีกตัวเลือกหนึ่ง กับอีกชุดหนึ่งเป็นชุดดีไซน์จากโปรดักต์ของเรา มันอาจจะมีกลุ่มคนที่ดูแล้วอยากจะเป็นกลุ่มคนแรก ก็เป็นเรื่องทางเลือกของแต่ละคน ไม่ผิด แต่ถ้าหากคุณอยากใส่ JACQUEMUS หรือเสื้อผ้าเข้าเอวคอด มันก็เป็นทางเลือกเหมือนกัน ดีเทลตรงนี้ต้องบาลานซ์ให้ดี เราก็จะต้องระวังดีเทลตรงนี้ว่าเราจะไม่ไปตัดสินใคร

 

 

ความท้าทายในการทำแคมเปญแฟชั่นฟิล์มเพื่อถ่ายทอดแคมเปญ Salute the Detail คืออะไร

 

พีท ทสร: ความท้าทายคือ นี่เป็นครั้งแรกของ CLUB 21 ที่จะทำให้คนรู้จักว่า ‘เราเป็นใคร’ เพราะฉะนั้นการที่เราอยากให้คนรู้จักเราแบบไหนนั่นคือความท้าทาย เราก็เลยเลือกสิ่งที่ทำให้แบรนด์มีคุณค่ามากที่สุด ก็คือเรื่องดีเทลและการสไตลิ่ง ดังนั้นถ้าถามว่างานนี้ขายอะไร ก็คือขายดีเทลและความมีสไตล์ นี่คือสิ่งที่เราหยิบขึ้นมานำเสนอ และมันท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้คนหมู่มากเข้าใจเรามากขึ้น

 

อั๋น วุฒิศักดิ์: สิ่งที่ผมคิดว่าท้าทายที่สุดคือการบาลานซ์ทั้งภายในและภายนอก ภายนอกคือเราจะดีไซน์วิดีโอแบบไหนที่จะมีคนเข้าใจและไม่เข้าใจในระดับที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันก็ไม่ไป Discriminate ส่วนการบาลานซ์ภายในก็คือสิ่งที่เราอยากจะสื่อสารนี้ครอบคลุมหรือไปขัดแย้งกับแบรนด์ไหนหรือเปล่า เราต้องพยายามบาลานซ์ทุกแบรนด์ให้อยู่ใต้ร่มคันเดียวกัน เพราะเวลาแบรนด์ต่างๆ ทำแฟชั่นฟิล์มเขาก็มีสไตล์ที่แตกต่างกัน เขาอยากจะนำเสนอตัวเองให้โดดเด่นที่สุด ฉูดฉาดที่สุด เราก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ไม่ล้ำหน้าเขา แต่ต้องเห็นว่าเรามีตัวตนอยู่ตรงนี้นะ แล้วสื่อสารไปยังผู้คน อันนี้ผมว่าท้าทายมาก

 

 

นอกจากความท้าทายแล้ว ความสนุกในการทำโปรเจกต์นี้คืออะไร

 

พีท ทสร: พอมันเป็นงานประเภทใหม่ หลายอย่างเราก็ต้องลองสำรวจลงลึกถึงดีเทล เหมือนเป็นการทดลองไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นตัวภาพยนตร์เลยครับ ตอนที่ได้ดูภาพยนตร์ของพี่อั๋นทำก็รู้สึกว่าปกติแล้วเราจะไม่ค่อยเห็นพี่อั๋นทำท่านี้นี่ เป็นท่าทีใหม่ๆ ในการทำงานที่ทำให้รู้สึกว่า ตายแล้ว นี่มันเป็นรสชาติที่ดีจังเลย

 

อั๋น วุฒิศักดิ์: ของผมคงเป็นเรื่องเทคนิค มันเป็นเทคนิคคล้ายแขนหุ่นยนต์ นักแสดงคนเดียวกันเล่นสองบทในกระจกสะท้อน เราก็ต้องโปรแกรมให้มันเป็นไปตามนั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปด้วยกัน ก็เรียกว่าหาเรื่องใส่ตัวดีกว่า (หัวเราะ) อะไรแบบนี้ยาก เพราะต้องกำกับให้นักแสดงยังอินอยู่กับอารมณ์ แต่บล็อกกิ้งก็ต้องไปด้วยกัน โดยมันก็ต้องไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเราอยากให้มันอนาล็อกและดูไม่เทคนิคเกินไป อย่างฉากโทรศัพท์ตก มันมีทางตกเหมือนกัน ตรงนี้คือเสน่ห์ของ Performance Art ที่มันมีความเป็นจริง ไม่ได้ทำ CG ซึ่งเราก็ถ่ายทำไปหลายเทคเลย

 

 

อะไรคือสิ่งที่ทำให้งานแฟชั่นฟิล์มตัวนี้แตกต่างจากงานที่เคยทำมา และเราเรียนรู้อะไรจากการทำโปรเจกต์นี้บ้าง

 

พีท ทสร: พอได้อยู่เอเจนซีนานๆ จะไม่ค่อยมีโอกาสทำงานเกี่ยวกับแฟชั่นแบรนด์สักเท่าไร แต่มันเหมือนกับว่านี่คงเป็นครั้งแรกที่เราได้ทำโฆษณาของแฟชั่นแบรนด์ เราก็ต้องไปหาข้อมูลเยอะมาก ต้องรู้จักแบรนด์ของเขา รวมทั้งทำความรู้จักธุรกิจของการจัดจำหน่ายที่มีแฟชั่นแบรนด์ต่างๆ มันเลยทำให้เราต้องทำการบ้านเยอะมาก อย่างน้อยเราต้องรู้จักดีเทลให้เท่ากับลูกค้า ดีเทลโปรดักต์แต่ละชิ้นมีเยอะมาก ต้องไปหาข้อมูลว่าคืออะไร เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับผลงานนั้นๆ

 

อั๋น วุฒิศักดิ์: สำหรับมุมมองของคนทำวิดีโอ ถ้าเปรียบเทียบกับโฆษณาเมื่อก่อน ลูกค้าทุกคนหวังว่าคนทั่วประเทศจะเข้าใจตรงกันเป็น ซึ่งเป็นแบบ One-Way Communication แต่เดี๋ยวนี้วิดีโอยุคใหม่ดีไซน์ให้คนเฉพาะกลุ่มเข้าใจ ซึ่งวิดีโอตัวนี้เนื่องจากว่าเป็นแฟชั่น สิ่งนี้ต้องการความ Exclusivity ถูกดีไซน์ขึ้นมาโดยมีเจตนาว่าอาจมีคนไม่เข้าใจหรือไม่เห็นด้วย เพื่อสร้างช่องว่างระหว่างคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พอมีช่องว่างนี้คนก็จะยิ่งรักงานนี้มากขึ้น

 

ส่วนเรื่องการเรียนรู้ก็คือ เสื้อผ้ามันเป็นเรื่องของประสบการณ์ ไม่ว่าจะคนใส่หรือคนที่เราเจอ เราเห็นเสื้อผ้าในชีวิตจริงกับที่ได้สัมผัสไม่เหมือนกัน เพราะคนที่ดูจากหนังสือหรือจากภาพยนตร์ กับการที่ได้เป็นคนยัดกระดุมเข้าไปเองหรือเห็นสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองมันคือประสบการณ์จริงๆ และความท้าทายคือ เราจะทำอย่างไรให้คนดูผ่านสื่อสองมิติได้สัมผัสกับประสบการณ์นั้นในระดับที่เหมาะสม มันต้องเรียนรู้จุดนี้ ต้องสัมผัสเสื้อผ้าแต่ละตัวเลย

 

 

เชื่อว่าหลังจากที่หลายๆ คนได้อ่านแนวคิดเบื้องหลังการสร้างแฟชั่นฟิล์มในแคมเปญ Salute the Detail จากสองผู้สร้างสรรค์มากฝีมือที่อยู่เบื้องหลังงานนี้ น่าจะทำให้เจอคำตอบที่เราอาจเคยสงสัย และยังได้ทำความรู้จักกับ CLUB 21 Thailand อีกด้วย แล้วคุณล่ะชื่นชอบแฟชั่นฟิล์มตัวไหนจากทั้งหมด 3 เวอร์ชันนี้?

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories