พุธที่ 25 ม.ค. สำนักข่าวทั่วโลกรายงานข่าวกรณีนักวิทยาศาสตร์จีนในมณฑลเซี่ยงไฮ้ประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งลิงแสม (long-tailed macaques) ด้วยกระบวนการเดียวกับการโคลนนิ่งแกะดอลลี่เป็นประเทศแรกของโลก โดยเจ้าลิงน้อย 2 ตัวที่เกิดจากการโคลนนิ่งมีชื่อว่า ‘หัวหัว (Hua Hua)’ และ ‘จงจง (Zhong Zhong)’ ซึ่งคำว่าจงหัวมีความหมายว่าชาวจีน
https://www.youtube.com/watch?v=h7CeVCbCZLM
หัวหัวและจงจงลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรกที่แผนกประสาทวิทยา สถาบันวิทยาศาสตร์จีนในเซี่ยงไฮ้ (Chinese Academy of Sciences (CAS)) เมื่อ 6 และ 8 สัปดาห์ที่แล้วตามลำดับ นับเป็นผลสำเร็จจากการวิจัยเทคนิคการโคลนนิ่งที่เรียกว่า การโอนถ่ายย้ายเซลล์นิวเคลียสของร่างกาย (somatic cell nuclear transfer) ที่คล้ายคลึงกับกระบวนการโคลนนิ่งแกะดอลลี่ และแตกต่างจากกระบวนการให้กำเนิดลิงเพศเมียโคลนนิ่งตัวแรกของโลกเมื่อปี 1999 อย่างเจ้าเททรา (Tetra) ที่ใช้กระบวนการแบ่งตัวอ่อน
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์บางส่วนมองว่าความเหมือนทางพันธุกรรมบางอย่างระหว่างมนุษย์และลิงจะทำให้ผลงานวิจัยและการโคลนนิ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยหาหนทางยับยั้งโรคร้ายของมนุษย์ในระยะยาว ขณะที่บางส่วนกลับมองต่างว่ามันอาจจะนำไปสู่การโคลนนิ่งมนุษย์ในอนาคต ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภัยคุกคามเผ่ามวลมนุษยชาติ
มัมมิ่ง พู (Muming Poo) ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยาประจำศูนย์วิทยาศาสตร์จีน เพื่อความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์สมองและเทคโนโลยีอัจฉริยะให้สัมภาษณ์กับ AFP ว่า “อุปสรรคต่างๆ ได้ถูกพังทลายลงงานชิ้นนี้”
พู บอกต่อว่าการวิจัยโคลนนิ่งลิงเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ทางการศึกษาเพื่อการแพทย์เป็นหลัก เพื่อป้องกันอัตราการสูญพันธ์ุของสัตว์จำพวกไพรเมตและลิง แต่ก็เผยว่าเป็นไปได้ที่อนาคตจะใช้กระบวนเดียวกันนี้โคลนนิ่งมนุษย์ “ที่สหรัฐอเมริกามีการนำเข้าลิงจำนวนกว่า 30,000-40,000 ตัวต่อปีเพื่อใช้ในการทดลองกับบริษัทยา
“ภูมิหลังทางพันธุกรรมของพวกมันเป็นตัวแปรของทุกอย่าง พวกมันมีอัตลักษณ์ที่ต่างกัน ฉะนั้นพวกคุณจึงจำเป็นต้องมีลิงเป็นจำนวนมหาศาล ด้วยเหตุผลทางจริยธรรม ผมคิดว่าลิงโคลนนิ่งจะช่วยลดจำนวนการใช้ลิงจริงๆ กับการทดลองยาได้มหาศาล”
มีการเปิดเผยว่าลิงมักจะถูกนำไปใช้วิจัยเพื่อการแพทย์และรักษาโรคทางสมอง เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคมะเร็ง และความผิดปกติในการทำงานของกระบวนการเผาผลาญและระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ ซึ่งงานวิจัยโคลนนิ่งลิงในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ เพราะนอกจากจะช่วยลดอัตราการสูญพันธ์ุได้แล้ว ไพรเมตก็ยังเป็นเผ่าพันธ์ุสัตว์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถโคลนนิ่งได้ยากมากถึงมากที่สุดเมื่อเทียบกับสัตว์อื่นๆ เช่น สุนัข แมว และหมู
อ้างอิง: