×

กลุ่ม Climate Strike Thailand ยื่นจดหมายเรียกร้องให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภาวะฉุกเฉิน

20.09.2019
  • LOADING...

วันนี้ (20 กันยายน) ผู้นำเยาวชนจากกลุ่ม Climate Strike Thailand ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินขบวนยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภาวะฉุกเฉิน

 

ตั้งแต่เวลา 09.00 น. หลิง-นันทิชา โอเจริญชัย ผู้นำและผู้ประสานงานกลุ่ม Climate Strike Thailand พร้อมด้วย ลิลลี่-ละลิน สถิตธนาสาร ผู้นำกลุ่ม Bye Bye Plastic Thailand เริ่มเดินนำขบวนเยาวชนออกจากโรงแรมเสนา เพลส ย่านสะพานควาย ไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

 

ผู้ร่วมเดินขบวนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติ ที่นัดหมายภายในโรงเรียนเพื่อหยุดเรียนมาเข้าร่วมเดินขบวนรณรงค์ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาวต่างชาติ ต่างชูป้ายข้อความรณรงค์ แต่งกายหลากสีสัน และมีการแสดงแซกโซโฟนพร้อมกับตะโกนระหว่างทางว่า “พวกเราต้องการเห็นสภาพภูมิอากาศไม่เปลี่ยนแปลงในตอนนี้”

 

นอกจากนี้กลุ่มอนุกรรมการนักเรียนจากโรงเรียนเซนต์ดอมินิก 6 คน แต่งกายชุดนักเรียนเข้าร่วมเดินรณรงค์ในครั้งนี้ด้วย เนื่องจาก กานต์ ศุกระกาญจน์ นักเรียนชั้น ม.6 เคยเข้าร่วมเดินขบวนกับกลุ่ม Climate Strike Thailand มาก่อน แต่พบว่ามีนักเรียนไทยเข้าร่วมเดินน้อยมาก จึงชวนเพื่อนอีก 5 คนมาร่วมเดินขบวนในวันนี้ เพื่อแสดงจุดยืนในนามของเยาวชนไทย

 

เมื่อเดินทางถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ชุมนุมประท้วงจะแกล้งนอนตาย เป็นสัญลักษณ์ของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนที่นันทิชาจะประกาศว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้รับทราบเรื่องการประท้วงแล้ว

 

นันทิชาเป็นตัวแทนกลุ่มเยาวชนยื่นจดหมายเปิดผนึกให้แก่ อดิศร นุชดำรงค์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภาวะฉุกเฉิน รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลงดการใช้พลังงานจากถ่านหิน แต่ให้เริ่มใช้พลังงานหมุนเวียน 50% ในปี 2025 และ 100% ในปี 2040 

 

หลังจากนั้น ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงกล่าวทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ในปี 2030 ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องทำต่อไป ในส่วนปัญหาของภูมิภาค ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ที่มีแผนการจัดการขยะพลาสติกและมีแผนอื่นๆ ที่จะดำเนินการต่อไป ก่อนจะเกี่ยวก้อยกับ ลิลลี่-ละลิน สถิตธนาสาร เพื่อเป็นการให้คำสัญญาต่อเรื่องดังกล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising