×

นักเศรษฐศาสตร์เรียกร้องเก็บภาษีความมั่งคั่งช่วยประเทศยากจนจัดการวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

โดย THE STANDARD TEAM
23.06.2023
  • LOADING...

กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำกว่า 100 คน เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ เก็บภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศให้กับประเทศยากจน 

 

ภาษีความมั่งคั่งที่เรียกเก็บจากกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุดของโลก จะทำให้รัฐบาลระดมเงินได้หลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อนำไปช่วยเหลือประเทศยากจนในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และฟื้นฟูประเทศจากความสูญเสียและความเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางสภาพอากาศ โดยภาษี 2% ที่เรียกเก็บจากกลุ่มมหาเศรษฐี จะทำให้รัฐบาลมีรายได้ประมาณ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ตามการประมาณการล่าสุด

 

นักเศรษฐศาสตร์หลายคน ซึ่งรวมถึง เจสัน ฮิกเคิล ผู้สนับสนุนคนสำคัญของแนวคิดการลดขนาดเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน หรือ Degrowth ได้เขียนจดหมายถึงผู้นำโลกก่อนการประชุมสุดยอดด้านการเงินระดับโลกในสัปดาห์นี้ โดยนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้เรียกร้องให้เก็บภาษี 1.5% สำหรับอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียส หวังช่วยจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 

 

ตามข้อมูลของ Oxfam ระบุว่า บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนขนาดใหญ่มาก กล่าวคือ คนรวยที่สุด 1% ของโลกมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยคาร์บอนมากเป็นสองเท่าของคนจนครึ่งหนึ่งของโลก แต่คนรวยกลับเผชิญข้อจำกัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

นอกจากนี้ การวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ชี้ให้เห็นว่า หากเปรียบเทียบการปล่อยมลพิษโดยรวมของประเทศร่ำรวยกับความเสียหายที่เกิดจากปัญหาสภาพอากาศในประเทศยากจน คนรวยจะเป็นหนี้คนจน 6 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น 

 

มาร์ก พอล จาก มหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส ผู้ลงนามในจดหมายฉบับนี้ ซึ่งนำโดยกลุ่มรณรงค์ Oil Change International กล่าวว่า ประเทศร่ำรวยกำลังหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบของตน

 

“ผู้นำประเทศทางซีกโลกเหนือที่อ้างว่าไม่สามารถหาเงินมาจัดการกับวิกฤตโลกได้นั้นเป็นข้อแก้ตัว พูดง่ายๆ คือเป็นเรื่องโกหก ความจริงก็คือไม่มีการขาดแคลนเงินทุนสาธารณะที่สามารถนำมาจัดสรรเพื่อการนี้” 

 

ในจดหมายฉบับนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นอันตราย และยกหนี้ให้กับประเทศที่ยากจนที่สุดบางประเทศ

 

อเล็กซ์ เลนเฟอร์นา จากมหาวิทยาลัยเนลสัน แมนเดลา และ Climate Justice Coalition ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลงนามในจดหมายกล่าวว่า “ประเทศต่างๆ ทางตอนใต้ของโลกกำลังจมอยู่ในภาวะหนี้สิน ซึ่งผลักดันให้ต้องประหยัดและบั่นทอนความสามารถของประเทศในการตอบสนองต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

 

“เราต้องการเงินทุนสาธารณะจำนวนมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ประเทศทางเหนือของโลกต้องจ่ายหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ แทนที่จะนำเงินไปใช้เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของตนเอง” 

 

ริชาร์ด ฮีด จาก Climate Accountability Institute กล่าวว่า บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลต้องชดใช้สำหรับอันตรายที่พวกเขาก่อขึ้น “บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มั่งคั่งที่ทำงานร่วมกันเพื่อฉุดรั้งการดำเนินการไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอน ควรมีส่วนอย่างมากในการสร้างความไว้วางใจ เพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ และประชาชนที่มีส่วนเพียงเล็กน้อยต่อภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ”

 

ทั้งนี้ คาดว่าประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาลประมาณ 50 คน จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดว่าด้วยข้อตกลงทางการเงินระดับโลกฉบับใหม่ ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงปารีสในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์นี้ (22-23 มิถุนายน) โดยมี เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับ มีอา มอตต์ลีย์ นายกรัฐมนตรีบาร์เบโดส 

 

การประชุมดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการกับข้อกังวลของประเทศกำลังพัฒนา เกี่ยวกับการที่ได้ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินตามที่ประเทศร่ำรวยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า จะสนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรับมือกับผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรง

 

ทั้งนี้ คาดว่าผู้นำจากประเทศต่างๆ จะเข้าร่วมการประชุม เช่น โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี, เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป, จอห์น แคร์รี ผู้แทนพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีจีน หลี่เฉียง อย่างไรก็ตาม ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร มีแนวโน้มว่าจะไม่เข้าร่วมการประชุม

 

การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมากสำหรับประเทศยากจน ซึ่งไม่พอใจมากขึ้นที่ประเทศที่ร่ำรวยนำเงินไปช่วยเหลือยูเครน และใช้เงินหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อจัดการกับโควิด แต่ลังเลที่จะช่วยเหลือประเทศและประชากรยากจนจากผลกระทบของปัญหาสภาพอากาศ 

 

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว รัฐบาลประเทศต่างๆ เห็นพ้องที่จะจัดตั้งกองทุนสำหรับ ‘การสูญเสียและความเสียหาย’ (Loss and Damage) เพื่อช่วยฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติจากสภาพอากาศ แต่ยังไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการระดมเงินเข้ากองทุน 

 

นายกรัฐมนตรีบาร์เบโดสได้เสนอให้มีการปฏิรูปธนาคารโลกและสถาบันระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อสนับสนุนเงินให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มเป็นสามเท่า นอกจากนี้ การประชุมจะหารือเกี่ยวกับแหล่งรายได้ใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ภาษีจากกิจกรรมที่สร้างคาร์บอนสูง ซึ่งรวมถึงการขนส่งทั่วโลก

 

ภาพ: Christopher Furlong / Getty Images 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising