นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยรายงานล่าสุดว่า ลูกเต่าทะเลเกิดใหม่บนชายหาดของรัฐฟลอริดาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เป็นเต่าเพศเมียเกือบทั้งหมด หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 99%
สาเหตุที่ทำให้ลูกเต่าเกิดใหม่เป็นเพศเมียนั้น เป็นผลมาจากสภาวะโลกรวน ซึ่งทำให้คลื่นความร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้ทรายบนชายหาดของฟลอริดามีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยข้อมูลสถิติระบุว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ฟลอริดาเผชิญกับอุณหภูมิในฤดูร้อนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ตามรายงานของ National Ocean Service ระบุว่า หากไข่เต่าฟักตัวที่อุณหภูมิต่ำกว่า 27.7 องศาเซลเซียส ลูกเต่าส่วนใหญ่จะออกมาเป็นตัวผู้ แต่หากไข่เต่าฟักตัวที่อุณหภูมิสูงกว่า 31 องศาเซลเซียส ลูกเต่าจะเป็นตัวเมีย นักวิจัยยังพบด้วยว่า ยิ่งทรายมีอุณหภูมิอุ่นมากขึ้นเท่าไร สัดส่วนของลูกเต่าเพศเมียก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าห่วงกว่านั้นคือ เมื่อโลกประสบกับสภาวะโลกรวน อุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้กระบวนการฟักตัวของไข่เต่าผิดเพี้ยนไป หรืออาจทำให้เต่าตายได้ ซึ่งภาวะนี้จะส่งผลกระทบต่อสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ การที่ประชากรเต่าทะเลมีสัดส่วนเพศผู้และเพศเมียที่ไม่สมดุลกัน ยังอาจทำให้จำนวนเต่าทะเลเกิดใหม่ลดน้อยลงอีกในอนาคต
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงหนึ่งในสัญญาณที่บ่งชี้ว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติของโลก ซึ่งรุดหน้าไปเร็วเกินกว่าที่สัตว์หลายชนิดจะปรับตัวทัน โดยปัจจุบันเต่าทะเลทุกชนิดได้รับการขึ้นบัญชีแดงจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ว่ามีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ทั้งหมด
แฟ้มภาพ: Resha Juhari / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: