×

โลกรวนส่งเอเชียเจอน้ำท่วมหนัก คนตายร่วมร้อย

17.07.2023
  • LOADING...
น้ำท่วมหนัก

ตลอดเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งผ่านมาแค่เพียง 17 วัน หลายชาติเอเชียเผชิญกับเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนรวมแล้วกว่า 100 ศพ ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ชาติล่าสุดที่ต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมจากภัยน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตได้พุ่งแตะที่อย่างน้อย 40 คนแล้ว

 

แม้เราจะรู้ดีว่าความตายเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ชะตากรรมของมวลมนุษยชาติอาจไม่เดินมาถึงจุดนี้ หากไม่มี ‘ภาวะโลกรวน’ ที่เราทุกคนมีส่วนร่วมสร้างมันขึ้นมา 

 

ถึงกับมีคำกล่าวว่า เมื่อมนุษย์ตัวเล็กๆ เขย่าโลก ถึงจุดหนึ่งธรรมชาติก็พิโรธและขอเอาคืน วันนี้ THE STANDARD จะสรุปให้อ่านกันว่า ภาวะโลกรวนส่งผลให้เกิดน้ำท่วมได้อย่างไร

 

📍 เกาหลีใต้เจอฝนถล่ม ประชาชนตั้งคำถาม รัฐห่วงใยประชาชนแค่ไหน

 

ก่อนที่จะลงลึกถึงความโยงใยของภาวะโลกรวนและเหตุน้ำท่วม THE STANDARD ขอสรุปให้ได้อ่านกันก่อนว่า นับจนถึงปัจจุบันนี้เกิดอะไรขึ้นกับชาติเอเชียแล้วบ้าง ซึ่งย้ำว่านี่เป็นแค่ ‘น้ำจิ้ม’ เพราะแท้ที่จริงแล้วยังมีอีกหลายชาติที่ประสบภัยในรูปแบบที่ไม่ต่างกัน

 

เริ่มต้นจากชาติที่เพิ่งประสบภัยพิบัติไปหมาดๆ อย่างเกาหลีใต้ โดยสถานการณ์น้ำท่วมและดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะที่เมืองชองจู จังหวัดชุงชองเหนือ ยังคงวิกฤต หลังพายุฝนพัดกระหน่ำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อช่วงวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (13 กรกฎาคม) เป็นเหตุให้ระดับน้ำท่วมสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เส้นทางการสัญจรบางแห่งถูกตัดขาด 

 

โดยบริเวณอุโมงค์ใต้ดินโอซงในจังหวัดชุงชองเหนือ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ประสบเหตุรุนแรงที่สุด ระดับน้ำที่ท่วมสูงขึ้นฉับพลันทำให้ยานพาหนะที่อยู่ภายในอุโมงค์จมใต้น้ำ มีรถโดยสารประจำทางไฟฟ้าคันหนึ่งพังเสียหาย เนื่องจากระบบการทำงานขัดข้อง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่กู้ภัยนำร่างผู้เสียชีวิตออกมาจากอุโมงค์ดังกล่าวได้แล้ว 12 คน เบื้องต้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายังคงมีผู้ที่ติดอยู่ภายในอุโมงค์โอซงอีกจำนวนเท่าใด ขณะนี้เจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง 

 

กระทรวงมหาดไทยเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากวิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้อยู่ที่อย่างน้อย 40 คน (มีคนไทยรวมอยู่ด้วย 1 คน) ขณะที่อีกอย่างน้อย 9 คนยังคงสูญหาย และมีผู้บาดเจ็บอีก 34 คนทั่วประเทศ โดยย้อนกลับไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 กรกฎาคม) กรุงโซลมีการสั่งอพยพประชาชน 135 คนหลังจากที่เจอฝนถล่ม ขณะที่ประชาชนในกว่า 4,000 ครัวเรือนอยู่ภายใต้ความมืดมิด เนื่องจากเกิดไฟฟ้าดับ

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้จุดกระแสความโกรธแค้นให้ปะทุขึ้นในใจของประชาชน พวกเขากล่าวโทษรัฐบาลว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่จึงไม่ยอมปิดอุโมงค์หรือทางลอดบนถนน ทั้งที่พยากรณ์อากาศระบุชัดเจนว่ามีแนวโน้มเกิดน้ำท่วมสูงเป็นวงกว้าง ไฉนเลยรัฐบาลจึงไม่ใส่ใจกับชีวิตประชาชนตามที่ให้คำมั่นไว้

 

อีกทั้งภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังเหมือนเป็นการฉายหนังซ้ำกลับไปสู่เหตุฝนถล่มกรุงโซลที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2022 โดยในเวลานั้นภาวะโลกรวนทำให้กรุงโซลเจอกับฝนที่ตกหนักที่สุดในรอบ 115 ปี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14 คนด้วยกัน และรัฐบาลของประธานาธิบดียุนซอกยอล ก็รับปากเองว่าจะจัดการกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้ดีขึ้นกว่านี้

 

📍 ญี่ปุ่นน้ำท่วม-ดินถล่ม เสียชีวิต 8 ศพ

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นเผชิญกับฝนที่ถล่มลงมาอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มหลายจุด เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน โดยฝนปริมาณมหาศาลได้ทำให้แม่น้ำล้นตลิ่งและไหลเข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน ขณะที่บริการรถไฟหัวกระสุนต้องหยุดชะงักลง และถนนหลายสายถูกตัดขาดจนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ 

 

สถานการณ์เต็มไปด้วยความปั่นป่วน หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นประกาศเตือนประชาชนที่อยู่บนเกาะคิวชูให้เตรียมตัวรับมือกับเหตุดินถล่มที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมได้ทุกเมื่อ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเชิงเขา ซึ่งมักเกิดเหตุดินถล่มได้บ่อยเมื่อมีฝนตกหนัก

 

ซาโตชิ ซูกิโมโตะ เจ้าหน้าที่หน่วยงานอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า “นี่คือฝนที่ตกหนักที่สุดเท่าที่เราเคยประสบมาในภูมิภาคนี้” ขณะที่มีรายงานระบุด้วยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นเผชิญกับฝนที่ตกหนักและไต้ฝุ่นที่รุนแรงผิดปกติ ส่งผลให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเปราะบางต่อวิกฤตสภาพอากาศ 

 

และล่าสุดคือเมื่อวานนี้ (16 กรกฎาคม) จังหวัดอากิตะซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ก็เจอกับฝนถล่มด้วยเช่นกัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 คน ขณะที่ทางการต้องเร่งอพยพประชาชนอีกกว่า 2,000 คนไปยังศูนย์อพยพ 77 แห่งในเมือง เพื่อให้พวกเขารอดพ้นจากอุทกภัยครั้งนี้ ขณะที่หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมในภูมิภาค ทั้งเหตุดินถล่ม ระดับน้ำในแม่น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเหตุน้ำท่วมที่อาจขึ้นซ้ำอีก

 

📍 อินเดียคนตายร่วมร้อย หลังฝนห่าใหญ่ทำดินถล่ม น้ำท่วมหนัก ตึกพังทับคน

 

สเตฟาน อูเลนบรูก ผู้อำนวยการด้านอุทกวิทยา น้ำ และหิมะภาค แห่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กล่าวว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ‘ตื่นตัวอย่างมาก และพวกเขาก็เตรียมพร้อมเป็นอย่างดีเมื่อต้องรับมือกับมาตรการจัดการน้ำท่วม’

 

“แต่ประเทศที่มีรายได้น้อยหลายแห่งไม่มีคำเตือน แทบไม่มีโครงสร้างป้องกันน้ำท่วม และไม่มีการจัดการน้ำท่วมแบบบูรณาการ”

 

คำกล่าวของอูเลนบรูกน่าจะสะท้อนภาพที่เกิดขึ้นในอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศ ‘รายได้ปานกลางล่าง’ ได้เป็นอย่างดี โดยในทางตอนเหนือของอินเดียเจ้าหน้าที่ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 100 คน เนื่องจากฝนที่ตกอย่างหนักทำให้เกิดดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน และเหตุอาคารถล่มลงมาทับผู้คนเสียชีวิต

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Central Water Commission ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการจัดการน้ำของอินเดีย ระบุว่า ระดับน้ำในแม่น้ำยมุนา ซึ่งไหลผ่านเมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลี สูงแตะระดับอันตราย (ระดับน้ำเกิน 3 เมตร) ส่งผลให้ อาร์วินด์ เกจรีวาล มุขมนตรีนครหลวงเดลี ได้สั่งประกาศปิดโรงเรียนหลายแห่ง เพื่อใช้โรงเรียนเหล่านั้นเป็นสถานที่พำนักผู้ประสบภัยชั่วคราวแทน

 

ขณะที่สถานการณ์ของแรงงานต่างชาติเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยที่อยู่อาศัยของพวกเขาซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนานั้นจมอยู่ใต้บาดาล ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ต้องอาศัยอยู่ริมถนนหรืออพยพออกจากพื้นที่ไป ขณะเดียวกันประชาชนคนอื่นๆ ก็ต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัยของตนเอง เนื่องจากโดนน้ำเข้าท่วมโอบล้อมเขตที่อยู่อาศัย ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ อาทิ ป้อมแดงในเดลี ก็จมอยู่ในน้ำท่วมขังเช่นเดียวกัน

 

📍 โลกรวนทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงจริงหรือ

 

สำหรับคำถามนี้ นักวิทยาศาสตร์ต่างยืนยันว่าจริงแท้แน่นอน เพราะโลกรวนทำให้เกิดฝนตกหนักขึ้นกว่าเดิม และเมื่อฝนตกหนัก โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

ถามว่าทำไม? นั่นเป็นเพราะว่าเมื่ออากาศอุ่นขึ้น มันก็จะกักเก็บความชื้นไว้ในอากาศได้มากขึ้นนั่นเอง โดยข้อมูลระบุว่า อุณหภูมิทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นมานั้น จะทำให้ชั้นบรรยากาศโลกสามารถกักเก็บความชื้นไว้ได้เพิ่มขึ้นอีกถึง 7% เลยทีเดียว

 

นอกจากนี้ภาวะโลกรวนทำให้ส่งผลในการเกิดปัจจัยทางอ้อมอื่นๆ ด้วย เช่น เมื่อมีภาวะโลกรวนสิ่งที่จะตามมาคือเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วต่างๆ อย่างเช่น คลื่นความร้อนหรือภัยแล้งรุนแรง ซึ่งสภาพอากาศดังกล่าวจะทำให้ผิวดินแตกแห้ง ไม่สามารถอุ้มน้ำเอาไว้ได้ ฉะนั้นเมื่อฝนถล่มลงมา ก็เสี่ยงทำให้เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันได้มากกว่าเดิมด้วย

 

นอกเหนือจากปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักหนาแล้ว สิ่งที่เป็นปัจจัยทำให้ขนาดของความเสียหายลุกลามบานปลายไปมากกว่าเดิมก็มีหลายอย่าง เช่น ความชุ่มชื้นของดิน หิมะปกคลุมตามฤดูกาล โครงสร้างพื้นฐาน และการใช้ที่ดิน

 

ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนมากที่สุดคือ เหตุน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถานเมื่อปี 2022 ซึ่งทำให้พื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของประเทศจมอยู่ใต้บาดาลนานหลายเดือน ในเวลานั้นมีการประเมินว่าตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่ที่กว่า 30 ล้านคนด้วยกัน ขณะที่มูลค่าความเสียหายตีเป็นตัวเงินสูงจนน่าขนลุกคือกว่า 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 433,687,500,000 บาท หากใครเห็นตัวเลขเยอะจนลายตาแล้วประมวลผลไม่ทัน มันคือ 4.3 แสนล้านบาท

 

โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในปากีสถานคือ ฝนในฤดูมรสุมที่ตกหนักผิดปกติ บวกกับเหตุธารหิมะละลายตัวกลายเป็นน้ำ ซึ่งสถานการณ์ในตอนนั้นเรียกว่าเข้าตำรา ‘เคราะห์ซ้ำกรรมซัด’ เพราะเหตุน้ำท่วมดังกล่าวเกิดตามมาติดๆ หลังจากที่ประเทศเพิ่งเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนระอุถึงกว่า 50 องศาเซลเซียส หรือครึ่งหนึ่งของอุณหภูมิจุดเดือดน้ำ!

 

ฉะนั้นแล้วสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการรับมือกับภาวะโลกรวนที่สร้างเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นหลายครั้งหลายครา จึงรวมถึงการใช้แนวทางการปรับตัว (Adaptation) อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อรัฐบาลทราบแล้วว่าประเทศของตนเองเสี่ยงต่อภัยน้ำท่วมเป็นประจำทุกๆ ปี ก็ควรออกมาตรการลดความเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น รวมถึงการดำเนินการล่วงหน้า (Anticipatory Action) เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง เช่น การสั่งอพยพประชาชนอย่างทันท่วงที สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการลดความสูญเสียลง

 

📍 เราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยหยุดยั้งภาวะโลกรวนและน้ำท่วมใหญ่

 

Oxfam ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของอังกฤษ แนะนำว่า มีหลายวิธีที่พวกเราจะสามารถช่วยโลกเอาไว้ได้ด้วยกัน เช่น

 

  1. ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้นำประเทศและเจ้าหน้าที่ของรัฐจ่ายเงินให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายที่เกิดจากภาวะโลกรวน เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ แม้จะได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงก็ตาม

 

  1. หาความรู้ใส่ตัว รวมถึงให้ความรู้กับผู้อื่นเกี่ยวกับสาเหตุและผลกระทบของภาวะโลกรวนและเหตุน้ำท่วม พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐกำหนดนโยบายที่จะช่วยรับมือกับภัยพิบัติดังกล่าว ทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ และในระดับโลก ส่วนตัวเราเองนั้นอาจเข้าร่วมในกิจกรรมการศึกษาเพิ่มเติม การแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโลกรวนและน้ำท่วมกับผู้คนอื่นๆ และร่วมให้การสนับสนุนองค์กรที่กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

 

  1. สนับสนุนธุรกิจและองค์กรที่กำลังดำเนินการ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน หันไปใช้พลังงานหมุนเวียน และลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม

 

  1. วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของตัวเราเอง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะทุกอย่างนั้นสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเราก่อน

 

ภาพ: Sanjeev Verma / Hindustan Times via Getty Images

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X