×

งานวิจัยฮาร์วาร์ดพบ ปัญหาโลกร้อน-การทำประมงเกินขนาด อาจทำให้สารปรอทสะสมในปลาเพิ่มขึ้น

10.08.2019
  • LOADING...
ปัญหาโลกร้อน การทำประมง สารพิษตกค้างในอาหารทะเล

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นในมหาสมุทรและการทำประมงเกินขนาดอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณสารปรอทพิษในสัตว์ทะเลเพิ่มขึ้น เช่น ปลาคอด ปลาทูน่า ปลาแซลมอน 

 

ทีมนักวิจัยศึกษาข้อมูลระบบนิเวศในอ่าวเมน (Gulf of Maine) ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1970-2000 พบว่าในรอบ 30 ปีนั้นมีสารปรอทสะสมในปลาคอดและปลาฉลามหลังหนามเพิ่มขึ้น

 

เนื่องจากในบริเวณนั้นมีการทำประมงมากเกินขนาด ส่งผลให้ปลาทั้งสองชนิดต้องปรับเปลี่ยนวิถีการหาอาหารใหม่ โดยปลาคอดเปลี่ยนไปหาล็อบสเตอร์และปลาเล็กๆ เป็นอาหาร ส่วนปลาฉลามหลังหนามเปลี่ยนไปกินสัตว์ตระกูลหมึกที่มีสารปรอทสะสมสูงกว่า 

 

คณะนักวิจัยพยายามใช้แบบจำลองนี้กับปลาทูน่าครีบน้ำเงินในมหาสมุทรแอตแลนติก โดยหวังหาคำอธิบายว่าเพราะเหตุใดปลาทูน่าครีบน้ำเงินจึงมีสารปรอทสะสมมากขึ้น ทั้งที่พวกมันไม่ได้ปรับเปลี่ยนชนิดของเหยื่อที่กิน ขณะที่สารปรอทในมหาสมุทรดังกล่าวก็มีปริมาณลดลงด้วย

 

ดร.อมินา ชาร์ตอัพ หนึ่งในทีมนักวิจัย ได้สัมภาษณ์ ไมเคิล เฟลป์ส นักกีฬาว่ายน้ำเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ซึ่งเฟลป์สเผยว่าเขาบริโภคอาหารในแต่ละวันคิดเป็นพลังงานแคลอรีมากกว่าคนทั่วไปถึง 6 เท่า ซึ่งทำให้ชาร์ตอัพตั้งสมมติฐานว่าอาจมีบางสิ่งที่คล้ายคลึงกันระหว่างเฟลป์สกับปลาทูน่า ซึ่งนำไปสู่คำอธิบายว่าทำไมปลาทูน่าจึงมีสารปรอทสะสมอยู่มาก 

 

เมื่ออุณหภูมิในมหาสมุทรสูงขึ้นจะทำให้ปลาต้องกระฉับกระเฉงมากขึ้น ดังนั้นพวกมันจึงต้องการพลังงานมากขึ้นในการว่ายน้ำหรือเคลื่อนไหว ซึ่งผลคือปลาทูน่าก็จะต้องกินอาหารเพิ่มขึ้น นั่นจึงสามารถไขคำตอบได้ว่าเหตุใดปลาทูน่าจึงมีสารปรอทสะสมมากขึ้น

 

โดยในช่วงปี 2012-2017 พบว่าปลาทูน่าครีบน้ำเงินในอ่าวเมนมีระดับสารเมทิลเมอร์คิวรีหรือสารปรอทพิษเพิ่มขึ้น 3.5% ต่อปี ทั้งที่การปล่อยสารปรอทสู่ธรรมชาติลดลง

 

ทั้งนี้งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่าการเผาไหม้ถ่านหินในสหรัฐอเมริกาคือแหล่งปล่อยสารปรอทอันดับต้นๆ เพราะการเผาจะปล่อยสารปรอทสู่อากาศ ก่อนจะตกลงมาสู่พื้นดินและผิวน้ำ 

 

รายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่าปัจจุบันมนุษย์บริโภคปลาเฉลี่ยอยู่ที่ 20.2 กิโลกรัมต่อคน เพิ่มขึ้นจากทศวรรษที่ 1960 ถึง 2 เท่า และ 1 ใน 3 ของพื้นที่มหาสมุทรบนโลกกำลังประสบปัญหาการจับปลามากเกินไป นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังรายงานว่าเด็ก 17 คนต่อ 1,000 คนจากชุมชนประมงในบราซิล แคนาดา จีน กรีนแลนด์ และโคลอมเบีย มีอาการบกพร่องทางจิตใจจากการบริโภคอาหารทะเลที่มีสารปรอทเจือปน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X