รายงานจากองค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะมีประชากรกว่า 120 ล้านคนทั่วโลก ต้องเผชิญกับความอดอยากจากผลพวงของภาวะโลกร้อน
ปัจจุบันโลกเผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรงถี่ขึ้น ทั้งฝนแล้ง น้ำท่วมใหญ่ หรือพายุเฮอริเคน ส่งผลให้ผู้คนที่มีฐานะยากจนต้องเลือกระหว่าง ‘ความอดอยาก’ หรือ ‘การอพยพย้ายถิ่นฐาน’
ฟิลิป อัลสตัน ผู้เขียนรายงานพิเศษในประเด็นความยากจนและสิทธิมนุษยชนของ UN เปิดเผยว่า โลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับสถานการณ์การแบ่งแยกอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน เนื่องจากคนรวยสามารถจ่ายเงินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ อาทิ คลื่นความร้อน ความหิวโหย หรือปัญหาความขัดแย้ง ขณะที่ผู้คนที่เหลือต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรม โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ช่วงหลังจากที่เฮอริเคนแซนดี้พัดถล่มมหานครนิวยอร์กในปี 2012 มีประชาชนยากจนจำนวนมากต้องทนใช้ชีวิตโดยไม่มีไฟฟ้าใช้และไม่ได้รับการช่วยเหลือนานหลายวัน ขณะที่สำนักงานใหญ่ของ โกลด์แมน แซกส์ (วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ) ในแมนฮัตตัน ได้รับการป้องกันด้วยกระสอบทรายนับหมื่นกระสอบ รวมถึงยังมีไฟฟ้าใช้จากการสนับสนุนของผู้ผลิตภาคเอกชนอีกด้วย
ก่อนหน้านี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ออกมาเตือนว่า ปัญหาโลกร้อนจะยิ่งตอกย้ำให้ประเทศที่ยากจนอยู่แล้วยิ่งยากจนลงไปอีก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของชาติต่างๆ ในเวทีโลก
อีกงานวิจัยที่เผยแพร่ในปี 2017 เคยคาดการณ์ไว้ว่า รัฐที่ยากจนที่สุดในสหรัฐฯ มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง อาทิ ฝนแล้ง และพายุเฮอริเคน นอกจากนี้ ชุมชนที่ยากจนก็จะช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง เนื่องจากต้องพึ่งพาการเกษตรเป็นหลัก
นอกจากนี้ปัญหาโลกร้อนยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก เพราะความยากจนทำให้ประชาชนในกลุ่มประเทศดังกล่าวไม่สามารถหนีไปไหนได้ และเมื่อถูกภัยธรรมชาติโจมตี พวกเขาก็ไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะฟื้นฟูประเทศ ส่งผลให้พวกเขายากจนยิ่งกว่าเดิม จนกลายเป็นวัฏจักรที่ไม่สิ้นสุด
ทั้งนี้ UN กล่าวว่า การพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้พุ่งสูงขึ้นรวดเร็วเกินไปตามข้อตกลงปารีสที่จัดทำขึ้นในปี 2015 นั้น ยังไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือชีวิตผู้คนนับล้านได้ และถึงแม้จะมีคำเตือนจากองค์กรระดับโลกอยู่เป็นระยะ แต่ก็ยังมีหลายประเทศที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดโลกร้อนได้ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (EU) ยังไม่สามารถบรรลุฉันทามติในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือ 0% ได้ ขณะที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส
รายงานของ UN ยังเน้นย้ำความสำคัญว่า ชาติต่างๆ ควรสร้างหลักประกันในการเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี อาหาร ที่อยู่อาศัย และน้ำ เนื่องจากมนุษย์จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างแน่นอน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: