ต้นเดือนมีนาคม ถือว่าเป็นช่วงที่ดีของเศรษฐกิจการลงทุนโลก เพราะปัจจัยบวกต่างๆ เรียงร้อยกันชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจโลกและการจ้างงานที่ดีขึ้น การฉีดวัคซีนที่ก้าวหน้าและมีความเป็นไปได้ที่การระบาดของโควิด-19 จะจบลงได้โดยเร็ว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ประกาศใช้ และตัวเลขเงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มขึ้นรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์กัน ส่งผลให้ความกังวลเรื่องผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ที่ปรับเพิ่มขึ้นเริ่มผ่อนคลายลง
ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของภาพเศรษฐกิจการลงทุนโลกที่ดีขึ้นนั้นเป็นผลจากภาพรวมการบริหารราชการของรัฐบาลไบเดนที่สามารถขับเคลื่อนได้ต่อเนื่องตามแผนที่ประกาศไว้ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ได้แก่
1. การฉีดวัคซีนให้เกินเป้าหมายที่เคยวางไว้ที่ 1 ล้านโดสต่อวัน โดยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านโดส ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่าจะเกิด Herd Immunity ในสหรัฐฯ ภายในกลางปีนี้
2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ประมาณ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยร่างพระราชบัญญัติสุดท้ายอาจลดทอนลงมาบ้างเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของวุฒิสมาชิกในวงกว้าง
สัญญาณล่าสุดจากรัฐบาลไบเดนเริ่มเห็นการผลักดันมาตรการระยะยาวมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดเพื่อลดทอนภาวะโลกร้อน เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น โดยวิกฤตไฟฟ้าขาดแคลนในมลรัฐเท็กซัสในช่วงต้นปีหลังจากเผชิญกับพายุหิมะก็บ่งชี้ถึงปัญหาการขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตไฟฟ้าของสหรัฐฯ
เพื่อตอบโจทย์ทั้งปัญหาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและตอบโจทย์ในเรื่องสิ่งแวดล้อม แนวทางต่อไปของรัฐบาลไบเดนน่าจะกลับไปยึดถือความตกลงปารีสที่ไบเดนได้ประกาศไว้หลังจากรับตำแหน่ง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่กว่า 190 ประเทศได้ลงนามในปี 2015 ในการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศโลก (COP21) โดยให้คำมั่นว่าจะพยายามลดการเพิ่มของอุณหภูมิโลก (ภาวะโลกร้อน) ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมภายในปี 2050
อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบแบบจำลองพบว่าโลกมีแนวโน้มที่จะร้อนขึ้นสูงกว่าอุณหภูมิก่อนอุตสาหกรรมประมาณ 3 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งการเพิ่มขึ้นเป็น 1.5-2 องศาเซลเซียส ซึ่งแม้ว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงไป 8% ในปี 2020 แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปเท่าก่อนวิกฤตแล้ว
ดังนั้นในการประชุม COP26 ที่อังกฤษในช่วงปลายปี 2021 สหภาพยุโรปจะประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 ส่วนจีนจะ ‘ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน’ ให้เหลือศูนย์ภายในปี 2060 ดังนั้นการที่ไบเดนประกาศนำสหรัฐฯ กลับเข้าไปยึดถือความตกลงปารีสอีกครั้ง บ่งชี้ว่าสหรัฐฯ ตั้งเป้าที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 เช่นกัน
ในปัจจุบันประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในยุโรปได้ผลักดันประเด็นนี้ไปก่อนล่วงหน้าแล้ว เช่น รัฐบาลอังกฤษที่ประกาศออก Green Bond เพื่อลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศที่จะเข้าซื้อพันธบัตร Green Bond มากขึ้น
ด้วยภาพดังกล่าวทำให้เรามองว่าปี 2021 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติพลังงานสะอาด ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 จุด
1. ความต้องการน้ำมันถึงจุดสูงสุดแล้ว และจะลดลงในระยะต่อไป พร้อมๆ กับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้น (Peak Oil and Rising EV Trend) แม้เราจะคาดว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลก (Demand for Oil) จะเพิ่มขึ้นในปีนี้ จากประมาณ 95 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาสที่ 1 ไปที่ประมาณ 97 ล้านบาร์เรลในไตรมาสที่ 4 ขณะที่ปริมาณการผลิตโลกจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า จากประมาณ 92 ล้านบาร์เรลในไตรมาสที่ 1 ไปสู่ประมาณ 96 ล้านบาร์เรลในไตรมาสที่ 4 ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบในปีนี้จะยังคงอยู่ในระดับสูงที่เฉลี่ยประมาณ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ แต่ก็เป็นเพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจช่วงสั้น ในระยะต่อไปความต้องการน้ำมันจะลดลงต่อเนื่อง
ขณะที่คาดว่ายอดขายรถยนต์นั่งและรถบรรทุกทั่วโลกในปี 2021 จะเพิ่มขึ้น 15% จากปีที่แล้วมาอยู่ที่ประมาณ 80 ล้านคัน แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านคัน (4.3% ของรถยนต์ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 2.5% ในปี 2019) โดยนโยบายของประเทศต่างๆ จะสนับสนุนการใช้ EV และลดการอุดหนุนการใช้เครื่องยนต์สันดาป (ICE) มากขึ้น
2. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแร่ธาตุหายากและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดจะเฟื่องฟู โดยที่ผ่านมาโลกพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเกินกว่า 80% แต่นับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป การพึ่งพิงแหล่งพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นจาก 5% ของกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าในวันนี้เป็น 25% ในปี 2035 และเกือบ 50% ในปี 2050 ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ประโยชน์ โดยเฉพาะจีนที่เป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ถึง 72% ของการผลิตทั่วโลก และเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและกังหันลมถึงกว่า 69% และ 45% ทั่วโลก ทั้งยังเป็นผู้ผลิตหลักของแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น โคบอลต์ และลิเธียม ขณะที่ในยุโรปก็มีผู้พัฒนาฟาร์มกังหันลมและโซลาร์ฟาร์มยักษ์ใหญ่ เช่น Orsted, Enel และ Iberdrola กำลังสร้างโครงการดังกล่าวทั่วโลก
การที่สหรัฐฯ ล้าหลังในเรื่องดังกล่าว มีความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีไบเดนจะเร่งพัฒนาในประเด็นดังกล่าวมากขึ้น ทำให้เราเชื่อว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ และทั่วโลกจะเฟื่องฟูในระยะถัดไป
3. การลงทุนที่เกี่ยวกับสีเขียวจะเฟื่องฟู โดย Clean Energy Revolution ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเงิน กล่าวคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเริ่มเข้าสู่ขาลง เช่น ExxonMobil ที่ถูกให้ออกจากดัชนีดาวโจนส์ เช่นเดียวกับ Royal Dutch Shell ที่ยังคงระดับการผลิตในระดับต่ำ เนื่องจากเชื่อว่าการฟื้นตัวของราคาน้ำมันในปีนี้จะไม่ยั่งยืน จึงยังไม่ลงทุนด้านการขุดเจาะเพิ่มเติม ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla ได้เข้าร่วมใน S&P 500
เราประเมินว่าในระยะต่อไปความสนใจในการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดจะเฟื่องฟูต่อเนื่องตามกระแส Clean Energy Revolution ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้กองทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานสะอาดจะได้รับความสนใจในการลงทุนมากขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับเงินทุนเพื่อทำวิจัยพัฒนา (R&D) และประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมากขึ้น และส่งผลย้อนกลับให้การลงทุนในธุรกิจดังกล่าวยิ่งน่าสนใจมากขึ้น
พลังงานสะอาดคือคลื่นลูกใหม่ นักลงทุนทั้งหลายพร้อมขี่คลื่นลูกนี้หรือยัง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์