Classic Gold มองกรอบราคาทองคำปีนี้ที่ระดับ 27,000-30,000 บาทต่อบาททองคำ หรือในรูปสกุลเงินดอลลาร์ที่ 1,755-1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยจะรับอานิสงส์เชิงบวกจากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะเป็นขาขึ้นอีกสักระยะ และในปี 2566 คาดว่าราคาทองคำมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงจุดสูงสุดเดิม หรือยืนเหนือ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ตาม ระยะสั้นราคาทองคำจะผันผวนขาลง เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายทางการเงินของ Fed
ณัฐฑี จุฑาวรากุล กรรมการและผู้บริหาร บริษัท คลาสสิก โกลด์ จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มราคาทองคำในปีนี้น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 27,000-30,000 บาทต่อบาททองคำ หรือในรูปสกุลเงินดอลลาร์ที่ 1,755-1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่น่าจะยืนอยู่ในระดับสูงต่ออีกสักพัก นอกจากนี้ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศเช่นรัสเซียและยูเครน ก็จะทำให้ทองคำเป็นที่ต้องการมากขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยกดดันทองคำยังคงมีอยู่ หลักๆ มาจากการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งยังต้องติดตามต่อเนื่อง โดยแม้จะมีความชัดเจนเรื่องการลด QE และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ยังมีความคลุมเครือในด้านไทม์ไลน์ รวมถึงความชัดเจนและหลักการในการลดขนาดงบดุล
“ท่าทีและสัญญาณจาก Fed ในทุกครั้งจะกดดันราคาทองคำในระยะสั้นให้ลดลงต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed แถลงผลประชุม และมีการตอบคำถามผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมในเรื่องการดำเนินนโยบาย ราคาทองคำก็ลดลงทันที โดยราคาในประเทศไทยลดลงไป 300 บาทต่อบาททองคำ” ณัฐฑีกล่าว
สำหรับปี 2566 Classic Gold ยังคงมึมุมมองเชิงบวกต่อราคาทองคำ โดยเชื่อว่ามีโอกาสปรับขึ้นไปสู่ระดับราคาสูงสุดเดิม หรือยืนเหนือ 2,000 บาทต่อออนซ์ได้
บุญเลิศ สิริภัทรวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออสสิริส จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ทองคำในปีนี้จะได้รับแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายและถ้อยแถลงของ Fed เป็นหลัก โดยถ้อยแถลงของ Fed จะมีผลทั้งเชิงบวกและลบต่อราคาทองคำ ซึ่งต้องติดตามต่อไปอย่างต่อเนื่อง
ส่วนปัจจัยสนับสนุนราคาทองคำปีนี้คือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยล่าสุด สถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียทำให้ราคาทองคำปรับขึ้นไปถึงระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อีกครั้ง (เทียบเท่า 29,000 บาทต่อบาททองคำ)
“เรื่องนโยบาย Fed ทั้งการลด QE การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ยังคลุมเครืออยู่ ทุกคนรับรู้ว่าจะปรับขึ้น และอัตราการปรับขึ้น ความถี่ ล้วนยังเป็นสิ่งที่ตลาดวิเคราะห์อยู่ ถือว่าเป็นปัจจัยที่คลุมเครือ แต่ความผันผวน ความซับซ้อน และคลุมเครือที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ชัดเจน จะทำให้เงินกลับมาที่ทองคำ เพราะเมื่อมีภาวะวิกฤตคนจะคิดถึงทองคำเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ทองคำยังสามารถเปลี่ยนเป็นเงินตราได้ง่าย” บุญเลิศกล่าว
ขณะที่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ แนะนำลงทุนควรมีทองคำอยู่ในพอร์ตการลงทุนประมาณ 5% เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี และช่วยกระจายความเสี่ยงได้ เพราะทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีทิศทางการเคลื่อนไหวไปคนละทางกับสินทรัพย์หลักๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ และคริปโตเคอร์เรนซี หรือสินทรัพย์อื่นๆ
นอกจากนี้ราคาทองคำในระยะยาวยังสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ รวมถึงในยามที่เกิดวิกฤตทองคำก็ยังคงเป็นสินทรัพย์ที่วางใจได้มากกว่าสินทรัพย์อื่นๆ อีกด้วย
ทางด้าน นส.พ.ธนัฐ ศิริวรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัล แอสเซ็ท แมเนจเมนต์ จำกัด หรือ DAM ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Savvy ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการบริหารความมั่งคั่งของลูกค้าส่วนบุคคลในหลายๆ ผลิตภัณฑ์ผ่านออนไลน์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์การลงทุนตัวแรกคือ ทองคำ (SavvyGold) ซึ่งตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2654 จนปัจจุบันมีผู้สนใจดาวน์โหลดแอปและเปิดบัญชีแล้วประมาณ 1,500 ราย และมี 40% ที่เริ่มซื้อทองคำผ่านแอป ทั้งนี้ บริษัทคาดหวังว่าทั้งปีนี้จะมีลูกค้าเปิดบัญชีทั้งสิ้น 20,000-30,000 ราย
หลังจากนี้บริษัทจะเน้นเดินหน้าทำการตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้า โดยมีเป้าหมายที่มนุษย์เงินเดือน พนักงานบริษัทต่างๆ และที่สำคัญจากการที่ บมจ.ฮิวแมนิกา หรือ HUMAN เข้ามาถือหุ้นใน DAM ก็จะช่วยต่อยอดฐานลูกค้าได้ดี โดยปัจจุบันมีพนักงานที่อยู่ในแพลตฟอร์มของระบบบริหารจัดการของฮิวแมนิกามากถึง 2-3 ล้านคน
ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน SavvyGold เกิดขึ้นจากความร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง บริษัท ดิจิทัล แอสเซ็ท แมเนจเมนต์ จำกัด, บล.ทรีนีตี้ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน คลาสสิก ออสสิริส จำกัด เพื่อให้บริการลูกค้าที่ต้องการลงทุนในทองคำด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงอย่างเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยการใช้บริการ SavvyGold สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ทุกขั้นตอน ตลอด 24 ชั่วโมง ทองคำที่นักลงทุนมีคำสั่งซื้อจะถูกจัดเก็บในตู้นิรภัย ภายใต้การดูแลของ BRINKS ผู้เก็บรักษาทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP