×

ไขความกระจ่าง ‘ภาษีเงินได้ต่างประเทศ’ กับ 8 ข้อควรรู้!

19.09.2023
  • LOADING...
ภาษีเงินได้ต่างประเทศ

กรมสรรพากรออกประกาศเตรียมเริ่มเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศ ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงเงินได้หรือผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศ

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์กฎหมายภาษีอากร และซีอีโอของ iTAX มองว่า ด้วยหลักเกณฑ์ปัจจุบันอาจทำให้เกิดการเก็บภาษีซ้ำซ้อนได้ และส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้างมากกว่าแค่กลุ่มคนรวยแบบในอดีต เพราะปัจจุบันทุกคนสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ด้วยเงินหลักพันบาทหรือหลักหมื่นบาท 

 

ในเบื้องต้น อาจารย์ยุทธนาเปิดเผยถึงข้อเท็จจริง 8 ข้อเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่มีเงินได้จากต่างประเทศควรรู้ พร้อมระบุว่า “หลักการของภาษีเงินได้ทั่วๆ ไปคือ ถ้าเรารวยขึ้นก็ต้องเสียภาษีเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินได้รูปแบบไหน อันนี้เป็นมาตรฐานของกฎหมายภาษีทุกประเทศ

 

  1. ภาษีเงินได้ต่างประเทศ คือ ภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ เพียงแค่อาศัยอยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป 

 

  1. หลักเกณฑ์เดิมจะเรียกเก็บเฉพาะรายได้ที่เกิดขึ้นและนำกลับเข้ามาในประเทศภายในปีเดียวกัน แต่หลักเกณฑ์ใหม่นั้น ไม่ว่ารายได้จะเกิดปีใด เมื่อนำกลับมาในไทยจะถูกนำไปคำนวณภาษีในปีปฏิทินนั้น 

 

  1. รายได้จากต่างประเทศจะถูกนำมารวมกับรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศ โดยอัตราภาษีที่เรียกเก็บจะเป็นแบบขั้นบันไดตั้งแต่ 5-35% 

 

  1. เกณฑ์ใหม่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ส่วนใครที่นำเงินได้จากต่างประเทศกลับมาภายในปีนี้จะคำนวณภาษีตามเกณฑ์เดิม

 

  1. หากลงทุนหุ้นต่างประเทศด้วยตัวเองแล้วขาดทุน ไม่ควรจะต้องเสียภาษีดังกล่าว แต่ยังมีความไม่ชัดเจนหลายด้าน เช่น หากเป็นการซื้อ-ขายหุ้นที่บางรอบได้กำไร บางรอบขาดทุน จะคำนวณอย่างไร หรือหากนำเงินออกไปลงทุน 1 ล้านบาท แล้วมีกำไร แต่นำเงินกลับเข้าไทยเพียง 8 แสนบาท จะต้องเสียภาษีหรือไม่ 

 

  1. การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนต่างประเทศ ผู้ลงทุนไม่ต้องเสียภาษี เพราะการซื้อหน่วยลงทุนมองว่าเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศ เพียงแต่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเป็นผู้นำเงินไปลงทุนต่างประเทศ แต่กองทุนไม่ต้องเสียภาษีส่วนนี้เพราะเป็นนิติบุคคล 

 

หากเป็นเช่นนี้ มีโอกาสที่คนจะลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุนรวมมากขึ้น เพราะการลงทุนผ่านกองทุนรวมหากมีกำไรจะไม่ต้องเสียภาษี นอกจากนี้ การตั้งนิติบุคคลเพื่อไปลงทุนต่างประเทศอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่อาจไม่เหมาะกับผู้ที่ยังมีความมั่งคั่งไม่มาก

 

  1. ผู้ที่ออกไปทำงานและเก็บเงินต่างประเทศ เมื่อนำเงินกลับไทยต้องเสียภาษีจากเงินทั้งก้อน ซึ่งในมุมของกฎหมายภาษีไม่เป็นธรรมนัก ทางออกหนึ่งสำหรับคนกลุ่มนี้คือเลือกกลับไทยช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อให้เวลาอยู่ไทยต่ำกว่า 180 วัน แต่อาจมีข้อจำกัดหากเงินมีจำนวนเยอะมาก อาจไม่สามารถโอนเงินกลับไทยได้ทั้งหมดทันที

 

  1. ผู้มีรายได้ต่างประเทศอาจต้องรวบรวมข้อมูลรายได้ของตัวเองเพิ่มเติม แม้กรมสรรพากรจะมีความร่วมมือระหว่างประเทศในการแบ่งปันข้อมูล แต่หากมีข้อสงสัยจะเป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษีในการพิสูจน์ข้อสงสัย 

 

“นโยบายภาษีดังกล่าวอาจมีจุดประสงค์ให้การลงทุนในไทยกลับมาคึกคัก กลายเป็นพายุที่ก่อตัวขึ้นมาสักลูก แต่เรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ หากไม่เปิดประตูให้เงินไหลกลับมาได้เลย พายุที่คาดหวังก็อาจจะไม่เกิด”

 

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X