×

จัดเวทีทวงคืนเขากระโดง ย้ำ ที่ดินเป็นของรัฐ ชี้ ทักษิณ-ภูมิใจไทยทำลายกระบวนการยุติธรรม

โดย THE STANDARD TEAM
04.12.2024
  • LOADING...
จัดเวทีทวงคืนเขากระโดง ย้ำ ที่ดินเป็นของรัฐ

วันนี้ (4 ธันวาคม) ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน ภายในงานเสวนาเรื่อง ‘ทวงคืนที่ดินเขากระโดง’ โดยมีวิทยากร เช่น การุณ ใสงาม อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดบุรีรัมย์, สาวิทย์ แก้วหวาน อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย, วีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน และ นิติธร ล้ำเหลือ แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย

 

เขากระโดงเป็นตัวอย่างที่เลว

 

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และผู้ก่อตั้งสภาที่ 3 กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกิดการทุจริต โกง คอร์รัปชันมากมาย และติดคุก บางคนพี่รวยกะทันหันภายใน 3 ปีนี้ติดคุกหมด ไม่ได้อยู่ใช้เงิน และเห็นว่าปีหน้าจะถึงคิวของนักการเมืองติดคุก ก็หวังว่าเป็นอย่างนั้น บ้านเมืองจะได้สะอาด

 

“เรื่องเขากระโดงไม่ใช่แค่ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แต่เป็นการดูถูกเหยียดหยามกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรง มีการเพิกเฉยต่อกระบวนการยุติธรรม และไม่แคร์กฎหมาย ไม่แคร์กระบวนการยุติธรรม บ้านเมืองจะอยู่ได้อย่างไร ยิ่งคนที่มีอิทธิพลสามารถที่จะใช้อิทธิพลลบล้างความผิด ทำให้เห็นชัดว่าอยากจะเอาอะไรก็เอา โดยเฉพาะเรื่องเขากระโดงชัดมาก เป็นระบบที่แย่มาก สิ่งสำคัญที่สุดคือการตรวจสอบการโกงจะต้องเกิดขึ้นหลังปีใหม่ ให้รู้เลยว่าคนโกงบ้านเมืองเป็นเพราะสาเหตุจากการละเมิดกฎหมาย ไม่เคารพกฎหมาย เป็นตัวอย่างที่เลว”

 

ทักษิณ-ภูมิใจไทยทำลายกระบวนยุติธรรม

 

นิติธรกล่าวว่า การทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์และการทำลายระบบยุติธรรม ทั้งหมดทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แม้แต่เรื่องเขากระโดง หลายคนมองว่าไปเชื่อมโยงกับพรรคภูมิใจไทย เห็นหรือไม่ว่ามีพระบรมราชโองการ และมีกระบวนการยุติธรรมคือระบบตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

นอกจากนี้ กรณี ทักษิณ ชินวัตร ศาลก็ตัดสินแล้วให้จำคุก และมีพระบรมราชโองการลดโทษให้เป็นการเฉพาะ วันนี้กระบวนการยุติธรรมถูกทำลาย และพระบรมราชโองการก็ถูกทำลาย ไม่มีการปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ 2 เรื่องเหมือนกันหรือไม่ ความจริงแล้วกรณีเขากระโดงไม่จำเป็นที่จะต้องมานั่งพูดคุยกันในวันนี้ถ้ายังมีนักการเมืองพรรคการเมืองที่เคารพชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อยู่ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องสามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดิน

 

รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบละทิ้งแผ่นดิน

 

ขณะที่การุณกล่าวว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นที่ของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อ รฟท. ได้รับแล้วต้องมีหน้าที่ทำนุบำรุงดูแล รักษา ทำประโยชน์ เสนาอำมาตย์ที่วันนี้เรียกว่ารัฐมนตรี แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ดูแลกรมที่ดิน ต้องมีหน้าที่ช่วยดูแลพื้นที่ของ รฟท.

 

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีหน้าที่กำกับดูแล รฟท. ต้องมีหน้าที่ทำนุบำรุงที่ดินของพระองค์ แต่วันนี้กลับปล่อยละทิ้งแผ่นดินของพระองค์ให้ประชาชนเข้ายึดครอง โดยเฉพาะกลุ่มของ เนวิน ชิดชอบ เข้าแย่งยึดแผ่นดินมากที่สุด เสนาอำมาตย์ต้องโทษสถานเดียว เพราะทำให้แผ่นดินของเราเสียหายเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นสมัยนั้นต้องประหารชีวิต ตัดหัวเสียบประจานคาทางรถไฟ

 

การุณกล่าวว่า ประเทศไทยมี 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา แต่ปรากฏว่าตอนนี้กรมที่ดินตั้ง ‘ศาลฎีแก’ ขึ้นมา 2 ชุด โดย 2 ชุดนี้พากันเขียนคำวินิจฉัยเป็นเหมือนคำพิพากษาคือไม่เพิกถอน ซึ่งต้องเอาพวกนี้เข้าคุก เมื่อมีปัญหาแล้วเราจะทำอย่างไร ง่ายนิดเดียว ให้ รฟท. เซ็นชื่อแต่งตั้งทนายความ โดยตนจะอาสาเป็นทนายความให้ จะเอาให้เรียบ ข้อเท็จจริงมีครบ มีเอกสารทั้งหมด มีคำร้องครบมายื่นต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อขับไล่โดยกำหนดระยะเวลา รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างให้หมดระเนระนาด 1,000 กว่าหลังคาเรือน ทั้งบ้านเนวินและ ชัย ชิดชอบ, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, อนุทิน ชาญวีรกูล, สนามฟุตบอล รวมทั้งโรงโม่ เอาให้เรียบ รื้อถอนให้หมด

 

“ถ้าไม่รื้อถอน รฟท. จะเป็นผู้เข้ารื้อถอน โดยต้องเอาเงินจากคนพวกนี้และละเมิดเรียกค่าเสียหายให้หมดให้เรียบ เพราะ รฟท. มีกฎระเบียบทั่วประเทศอยู่แล้ว โดยระบุในคำฟ้องเรียกค่าเสียหายให้ครบ เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทั้งหลายเป็น ส.ค.1, น.ส.3 ครุฑดำ, น.ส.3 ก. ครุฑเขียว, น.ส. 2 โฉนดแดง, ใบจอง, ตราจอง จะมีชื่ออะไรก็ตาม 5,083 ไร่ มีกี่ฉบับยกเลิกเพิกถอนให้หมดตามมาตรา 61 วรรค 8”

 

การุณกล่าวอีกว่า เราต้องชนะคดี เพราะคำพิพากษาศาลชัดเจนว่าเป็นที่ดินของ รฟท. ภายใต้กฎหมายมีกี่ฉบับเพิกถอนให้หมด เมื่อศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ตนจะพาเจ้าพนักงานบังคับคดีไปที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดบุรีรัมย์ และสำนักงานบังคับคดีจังหวัดบุรีรัมย์ต้องเพิกถอน ถ้าไม่บังคับคดีต้องส่งศาลจังหวัดบุรีรัมย์ไต่สวน เข้าคุก ทั้งหมดนี้รื้อให้เรียบ คำพิพากษาครบถ้วนชนะเบ็ดเสร็จแล้วก็ตั้งโต๊ะเจรจากัน

 

รฟท. ต้องปกป้องผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน

 

สาวิทย์กล่าวว่า เมื่อกรมที่ดินและ รฟท. เป็นของหน่วยงานรัฐก็ต้องปกป้องสมบัติของรัฐ เรื่องที่ต้องปฏิรูปกระบวนการบังคับใช้กฎหมายเป็นปัญหาและโครงสร้างทางกฎหมาย มีคำตัดสินและพิพากษาแล้ว แต่กลไกในการบังคับใช้กฎหมายไม่ทำหน้าที่ แล้วศาลจะนั่งพิจารณาคดีต่อจากนี้ ไปสั่งการอะไรได้ แล้วใครจะฟังหรือไม่ ตรงนี้จะไม่ได้ไปก้าวล่วงศาล

 

แต่บางเรื่องบางคดีที่เกิดขึ้นในปี 2567 จนถึงคดีนี้ น่าคิดว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปแล้ว สิ่งที่ตัดสินออกมาแล้วไม่มีใครเชื่อคำพิพากษาศาลแล้วอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าปล่อยให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้ก็หนีไม่พ้นในเรื่องของความไร้ระเบียบ เมื่อประชาชนไม่เคารพกฎหมาย และคนมีอำนาจเหนือกฎหมายศาลสั่งแล้วก็ไม่ทำตามแล้วคนเล็กคนน้อยจะอยู่อย่างไร

 

“ประชาชนจะหวังใครได้หากหลักนิติรัฐ-นิติธรรมไม่มีความหมาย”

 

ขณะที่ สราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศ (สร.รฟท.) กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลชี้ชัดว่าเป็นที่ดินของ รฟท. อาจต้องตั้งคำถามถึงหน่วยงานรัฐว่า เมื่อมีคำพิพากษาศาลแล้ว หลักนิติรัฐ-นิติธรรมที่เกิดขึ้น ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการให้เกิดความกระจ่างอย่างไร เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นประโยชน์ของประชาชน ในอนาคตหากศาลพิพากษาแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการตามคำพิพากษาศาลได้ ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้

 

“ตรงนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนเฝ้ามองว่าแล้วประชาชนจะหวังใครได้ ต่อไปนี้เรื่องหลักนิติรัฐที่จะให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนก็อาจไม่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่อยากจะฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีอำนาจว่าจงทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising