ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เปิดเผยว่าบริษัทยังคงเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี, โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2, โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น โครงการที่ 1 (BIC-1) และโครงการที่ 2 (BIC-2) รวมถึงโรงไฟฟ้าบางเขนชัยโซลาร์ และส่งให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EdL) เต็มกำลังการผลิต เพื่อให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในช่วงที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลลาวยังคงขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นอกจากนี้จากปรากฏการณ์ที่ปริมาณฝนตกน้อยผิดปกติตั้งแต่ปี 2562 คือปริมาณฝนสะสมในฤดูฝนที่เมืองหลวงพระบางซึ่งอยู่เหนือโรงไฟฟ้าไซยะบุรีมีค่าต่ำสุดในรอบ 100 ปีเพียง 270 มิลลิเมตรเท่านั้น มีผลทำให้อัตราการไหลในแม่น้ำโขงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก
จากสถานการณ์ล่าสุดช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เริ่มมีฝนตกในหลายพื้นที่ติดต่อกัน ทำให้อัตราการไหลของแม่น้ำโขงมีแนวโน้มสูงขึ้นจาก 1,200-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงต้นปี 2563 มีอัตราการไหลที่ 2,200-2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งสังเกตได้ชัดเจนจากสีของแม่น้ำโขงซึ่งเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลขุ่นทั้งด้านเหนือน้ำและท้ายน้ำ นับเป็นสัญญาณที่ดีว่าปีนี้แนวโน้มปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงและปริมาณฝนน่าจะมีปริมาณที่สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และเป็นการพิสูจน์ว่าโรงไฟฟ้าไซยะบุรีไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการไหลของตะกอนในแม่น้ำโขงแต่อย่างใด
ทั้งนี้ หากในช่วงฤดูฝนปริมาณน้ำฝนกลับมาสู่สภาวะที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยปกติ คาดว่าผลการดำเนินการตลอดทั้งปีของบริษัทจะเติบโตไม่น้อยกว่าปี 2562 โดยในปี 2563 จะเป็นปีที่บริษัทรับรู้รายได้เต็มปีจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี และโครงการโซลาร์รูฟท็อปอีกจำนวน 5 โครงการ และมีแผน COD โครงการโซลาร์พื้นดินอีก 1 โครงการในไตรมาส 2
สำหรับไตรมาสแรกของปี 2563 CKP และบริษัทย่อยมีผลการดำเนินงานในภาพรวมลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2562 เนื่องจากช่วงฤดูร้อนปีนี้มีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นสภาวะน้ำแล้งที่ต่อเนื่องมาจากปี 2562 ที่ผ่านมา ที่มีปริมาณน้ำฝนต่ำสุดในรอบกว่า 50 ปี
ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี อย่างไรก็ตาม กำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ก่อนรวมส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนในกิจการที่ควบคุมร่วมกันและบริษัทร่วมอยู่ที่ 687 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา 39% ของรายได้ แสดงถึงกระแสเงินสดรับที่ยังแข็งแกร่ง แม้จะอยู่ในช่วงสภาวะฝนแล้งก็ตาม
ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 1/2563 CKP และบริษัทย่อยมีรายได้รวม 1,762 ล้านบาท ลดลง 27% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยรายได้ที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากปริมาณขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า น้ำงึม 2 ที่ลดลง 353.5 ล้านหน่วย และปริมาณขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น โครงการที่ 1 (BIC-1) และโครงการที่ 2 (BIC-2) ที่ลดลง 22.4 ล้านหน่วย
ในขณะที่โรงไฟฟ้าบางเขนชัยโซลาร์ ซึ่งรวมโครงการโซลาร์รูฟท็อปทั้งหมด มีปริมาณขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านหน่วย นอกจากนี้บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดตามงบการเงินรวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 จำนวน 4,547.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 333.5 ล้านบาท และมีอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ในเกณฑ์ดี โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมอยู่ที่ 0.65 เท่า เมื่อเทียบกับข้อกำหนดของหุ้นกู้ที่ให้คงอัตราไม่เกิน 3.00 เท่า
โดยภาพรวมจากผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกนี้ บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพียงพอในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายทางการเงิน รวมถึงการลงทุนในการขยายธุรกิจ โดยบริษัทมีวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมกว่า 10,000 ล้านบาทที่สามารถนำมาใช้ในการลงทุนขยายกิจการ ทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและลงทุนในโครงการใหม่อีกด้วย
นอกจากนี้สถานะทางการเงินที่มั่นคงและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องนั้นยังสอดคล้องกับการประเมินผลการจัดอันดับของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ที่คงอันดับเครดิตองค์กรของ CKP ที่ระดับ ‘A คงที่’ และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ ‘A- คงที่’
โดยทริสเรทติ้งยังเห็นถึงความแข็งแกร่งในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีความท้าทายในด้านธรณีวิทยา สิ่งแวดล้อม และเทคนิควิศวกรรม จนมีผลงานเป็นที่ยอมรับ มีผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ทริสเรทติ้งยังมองว่าบริษัทมีกระแสเงินสดที่มั่นคงจากเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้ซื้อที่มีความน่าเชื่อถือทุกราย โดยในส่วนของผลการดำเนินงาน ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงินภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 คือประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งแสดงถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ รวมถึงยังมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการดำเนินงานอีกด้วย
เรียบเรียง: สุรเมธี มณีสุโข
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum