ถือเป็นความก้าวหน้าในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมพลังงานและการคมนาคมในประเทศไทยอย่างแท้จริง เมื่อบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของอาเซียน ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการทางด่วนและขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ามหานครสองสายในกรุงเทพฯ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อนำกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการเดินรถขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าระบบรางครั้งแรกในประเทศไทย
ข้อตกลงที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล: หลักสอง-ท่าพระ) และสายสีม่วง (สายฉลองรัชธรรม: เตาปูน-คลองบางไผ่) สามารถนำกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จาก CKPower มาร่วมใช้ในการเดินรถในสัดส่วนราวๆ 12% เลยทีเดียว
ผลลัพธ์จากความร่วมมือระหว่าง CKPower กับ BEM ในครั้งนี้ ยังช่วยให้การเดินรถของรถไฟฟ้าทั้งสองสายเริ่มหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน ลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังมีการคาดการณ์อีกด้วยว่า พวกเขาจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยพื้นที่ที่จะใช้รับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าจะประกอบไปด้วย 6 จุด ครอบคลุมพื้นที่กว่า 106,000 ตารางเมตร เช่น หลังคาของศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า อาคารที่จอดรถ และอาคารสำนักงานของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง
(จากซ้ายไปขวา) ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ครั้งแรกของหน้าประวัติศาสตร์ประเทศไทย กับการนำไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มาร่วมใช้ในการเดินรถไฟฟ้า และดีลยั่งยืนครอบคลุม 25 ปี
สำหรับความร่วมมือระหว่าง CKPower กับ BEM จะโฟกัสไปที่การเดินรถให้บริการประชาชนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ซึ่งจะครอบคลุมระยะทางในการให้บริการขนส่งมวลชนมากถึง 71 กิโลเมตร ในกว่า 54 สถานีทั่วกรุงเทพฯ
เริ่มต้นจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนสิงหาคม 2567 ให้กับรถไฟฟ้าทั้งสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง และจะทยอยส่งมอบจนเต็มระบบภายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568
สัญญาความร่วมมือในครั้งนี้ยังถือเป็น ‘สัญญาประวัติศาสตร์’ อีกด้วย เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้กับการเดินรถไฟฟ้าในระบบราง ในสัดส่วนถึง 12% ครอบคลุมเป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้น 25 ปี ซึ่งจะมีการผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนระบบรถไฟฟ้าใต้ดินในปริมาณมหาศาลถึง 452 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ซีเค พาวเวอร์ คือผู้บุกเบิกการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค ด้วยองค์ความรู้เฉพาะทางที่ครบวงจร เราพร้อมนำความเชี่ยวชาญในการออกแบบด้านวิศวกรรม ติดตั้งและก่อสร้างระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนดูแลเรื่องความพร้อมในการจ่ายไฟและการบำรุงรักษาหลังการติดตั้งอย่างครบวงจร เราคาดว่างานออกแบบจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2567 และจะเริ่มงานก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน
“นี่ยังเป็นครั้งแรกที่มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อนระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรางของประเทศไทย ในขอบเขตการทำงานขนาดใหญ่ เรารู้สึกภูมิใจที่เป็นรายแรกในประเทศไทยที่บุกเบิกนำไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน การร่วมมือกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ ครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยใช้งานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น”
ด้าน ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่สำคัญ ซึ่งทั้งสององค์กรกำลังศึกษาแผนงานและความเป็นไปได้อีกมากมายในอนาคต กับการต่อยอดจากความร่วมมือประวัติศาสตร์นี้ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการนำพลังงานจากแหล่งหมุนเวียนมาใช้กับระบบขนส่งที่กำลังเติบโตขยายตัว และมีความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลักดันประเทศไทยสู่สังคมพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนและจับต้องได้จริง
ธนวัฒน์ ในฐานะหัวเรือใหญ่ของ CKPower กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า โครงการเหล่านี้เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายระยะ 3 ปีที่ CKPower ตั้งเป้าไว้เมื่อต้นปี 2565 ที่จะขยายขนาดธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นมากกว่าเท่าตัวภายในปี 2567 โดยเพิ่มกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าจาก 2,000 เมกะวัตต์ เป็น 4,800 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดจะมาจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังแสงอาทิตย์ พลังลม และพลังน้ำ
“ปัจจุบัน CKPower คือบริษัทที่มีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ 93% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการผลิตที่สูงที่สุดในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศไทย”
มูฟเมนต์ในครั้งนี้ของ CKPower และ BEM ไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตในด้านธุรกิจ รายได้ และกำไรของกันและกัน หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่านั้น
เพราะความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างสองหน่วยงานใหญ่ในครั้งนี้ ยังมีส่วนร่วมผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมที่เริ่มใช้พลังงานจากแหล่งหมุนเวียนมาเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของภาคอุตสาหกรรมประเทศไปในตัวอีกด้วย
หมายความว่านี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้น หรือกรณีศึกษาที่ทำให้ผู้ให้บริการด้านขนส่งมวลชนรายอื่นๆ หรือแม้แต่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นๆ ตื่นตัวและเล็งเห็นถึงความสำคัญของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการนำพลังงานหมุนเวียนมาช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของตัวเอง
เหมือนที่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเยอรมนีประสบความสำเร็จในการใช้พลังงานหมุนเวียนในการเดินรถ จนปัจจุบันกลายเป็น ‘ผู้ใช้พลังงานหมุนเวียน’ รายใหญ่ที่สุดของประเทศไปเป็นที่เรียบร้อย