วันนี้ (8 กันยายน) ที่หน้าอาคารรัฐสภา ภาคประชาสังคมและเครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมาน-อุ้มหาย จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์พร้อมยื่นหนังสือผ่านไปยังสภาผู้แทนราษฎร ในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวมี 4 ฉบับ โดยบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาเรื่องด่วนในลำดับที่ 9 โดยเสนอให้เลื่อนลำดับการพิจารณาขึ้นมาเป็นวาระแรกเพื่อให้ทันต่อสมัยการประชุมนี้ โดยมี มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นตัวแทน ส.ส. ในส่วนของพรรคก้าวไกล มารับหนังสือโดยย้ำว่าทางพรรคก้าวไกลจะเร่งผลักดันการพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าวให้ทันการพิจารณาในสมัยประชุมนี้
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายทั้ง 4 ฉบับ มีหลักพื้นฐานว่าการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม รวมทั้งการกระทำให้บุคคลสูญหายจะกระทำไม่ได้ไม่ว่าโดยข้ออ้างเหตุผลหรือภายใต้สถานการณ์ใดๆ และต้องมีการกำหนดมาตรการป้องกันการทรมานและอุ้มหาย โดยมีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพบญาติ พบทนาย โดยกำหนดให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับการทรมานและการอุ้มหายเท่านั้น รวมทั้งมีอำนาจในการตรวจสอบและรับการกระทำผิดและบรรเทาความเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหาย
ด้าน พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านทุกครั้งที่จะนำกฎหมายเข้าสภา ก็จะมีจดหมายน้อยเข้ามาทำให้หลุดการพิจารณาออกไป การได้เข้าวาระพิจารณาของสภาครั้งนี้จึงมีความสำคัญมากที่จะทำให้การทรมานและบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญา โดยทาง ส.ส. ของพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอร่างฯ เข้าไป 3 ฉบับ เพื่อเข้าไปประกอบกับฉบับที่กระทรวงยุติธรรมที่นายกฯ ทำหนังสือส่งให้ประธานสภาไปเมื่อ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา
ที่ผ่านมาสังคมไทยเริ่มรับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น ภายใต้กฎอัยการศึกก็มีรายงานของการถูกคุมขังและการทรมานอย่างเช่นถูกบังคับให้ยืนเป็นเวลา 4 วัน 4 คืน ถูกแก้ผ้า ถูกทำให้หายใจไม่ออกด้วยหลายวิธี กฎหมายฉบับนี้จะล้วงมือไปควบคุมและตรวจสอบให้เกิดการป้องกันทรมาน การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงการทำให้หายไปของคนนอกประเทศที่อาจเกิดจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย
มานพ คีรีภูวดล ส.ส. พรรคก้าวไกล ที่ออกมารับหนังสือจากตัวแทนเหยื่อ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้ประชุมกันเมื่อวาน ก็ได้มีมติเสนอให้สภาเลื่อนร่างฯ ขึ้นมาให้ทันการพิจารณาในสัปดาห์นี้ คิดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ฝ่ายการเมืองและรัฐสภาต้องทำ โดยในเดือนพฤศจิกายนนี้ ไทยจะต้องมีตัวแทนไปที่กรุงเจนีวาเพื่อชี้แจงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน กฎหมายฉบับนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าไทยได้ทำตามข้อตกลงที่ไปลงนามกับอารยประเทศหรือไม่ ส่วนตัวในฐานะที่เป็นคนจากกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อนๆ ชาติพันธุ์อย่าง ชัยภูมิ ป่าแส ก็ถูกกระทำจากทหาร แล้วภาพจากกล้องก็หาย มีกรณี บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ ที่ก่อให้เกิดคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมจากประชาชน ดังนั้นในสภาก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มที
รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกลที่ออกมารับหนังสืออีกคน กล่าวว่า ตนก็มีเพื่อนและพี่หลายคนที่ได้รับผลกระทบจากการสูญหาย ส่วนตัวก็เคยกินข้าวกับ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ สมัยที่ยังเรียนอยู่ที่ มธ. ส่วนตัวรู้สึกสะเทือนใจทุกครั้งที่พบว่าคนที่มีความตั้งใจอยากเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นสังคมที่ดีงาม วันหนึ่งกลับอยู่ในประเทศไม่ได้ และเมื่อถูกทำให้สูญหายก็ไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย เป็นความทรมานที่ตนและครอบครัวได้เจอทุกครั้งที่คิดว่าคนเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และยังสะท้อนความโหดร้ายและป่าเถื่อนของสังคมที่เราอยู่ คนที่ต้องการเห็นสังคมที่เปลี่ยนแปลงไม่สามารถอยู่ได้อย่างปกติ เรื่องเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีกฎหมาย หรือเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั้นเชื่อว่าทำได้และเป็นสิ่งที่ต้องทำ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นหลักประกันในสังคมที่ป่าเถื่อน และหากมีคนที่ได้รับผลกระทบ ก็จะมีคนที่ค้นหาความจริงและเป็นเพื่อนของผู้สูญเสีย
รังสิมันต์กล่าวว่า เมื่อวานได้ประชุมวิปฝ่ายค้าน ก็ได้เรียกร้องให้เลื่อนตัวร่างฯ มาต่อท้ายร่าง พ.ร.บ.การปฏิรูปการศึกษา ที่เป็นไปได้สูงว่าอาจจะผ่านวาระที่ 1 ก่อนออกมาก็ประสานกับวิปรัฐบาลท่านหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบว่าไม่น่ามีปัญหาในการเลื่อนร่างฯ ขึ้นมา จึงค่อนข้างมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ตกลงไปได้
มิน นักกิจกรรมจากชายแดนใต้กลาวว่า ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา มีคนถูกอุ้มหาย พลัดพรากจากครอบครัว ถูกจับกุมเพียงเพราะเห็นต่างจากรัฐหรือผู้มีอำนาจ มีคนที่เข้าเกณฑ์ถูกบังคับสูญหายหรือทรมานมากกว่า 7 พันคน กรณีคลุมถุงดำที่จังหวัดนครสวรรค์เป็นเพียงหนึ่งในจำนวนที่ไม่อาจทราบได้ หากไม่มีคลิปหลุดออกมาก็คงเป็นเหมือนหลายๆ กรณีที่เจ้าหน้าที่มักจะกล่าวอย่างเคยชินว่าเป็นเรื่องปกติ ที่ไหนๆ เขาก็ทำกัน ถือเป็นความเศร้าสลดที่เราจะต้องส่งต่อสังคมที่จะหาพื้นที่ปลอดภัยแทบไม่ได้ในค่ายทหารและสถานีตำรวจให้ลูกหลาน กฎหมายนี้จะเป็นหลักประกันที่จะให้คนรุ่นหลังไม่ต้องหวาดระแวงกับสภาพสังคมแบบนี้อีกต่อไป
ก่อการ บุปผาวัฏฏ์ ลูกของ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ ภูชนะ ผู้ลี้ภัยชาวไทยที่ถูกพบเป็นศพในแม่น้ำโขงเมื่อปี 2562 กล่าวว่า การมีกฎหมายฉบับนี้คงทำให้ตำรวจทำงานได้คล่องตัวขึ้น เพราะให้อำนาจตำรวจในการสืบหาความจริงหรือเยียวยาผู้เสียชีวิตและเหยื่อไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ถือเป็นเรื่องทางมนุษยธรรมที่มนุษย์จะกระทำต่อมนุษย์ด้วยกันได้ในสภา
สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมที่ถูกลักพาตัวที่พนมเปญเมื่อปี 2563 กล่าวว่า การมีกฎหมายนี้จะทำให้ทุกคนได้รับการปกป้องไม่มากก็น้อย ถือเป็นเกราะกำบังของคนที่ออกมาเรียกร้องและแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง อนึ่ง ความคืบหน้าของการค้นหาความจริงกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิมนั้น จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรับสำนวนเพื่อสืบสวนสอบสวนไม่ว่าจะทั้งในไทยและกัมพูชา
ตัวแทนจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ อ่านจดหมายจากสมาชิกกลุ่ม โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ใจความว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา สังคมไทยถูกหมักหมมจากอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ มีคนที่ถูกทำลาย ละเมิดสิทธิ์ ทั้งจากการแสดงความกระด้างกระเดื่อง การทรมานและการบังคับสูญหาย เกิดขึ้นหลายทศวรรษแต่ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง สะท้อนความป่าเถื่อนของผู้กุมอำนาจในสังคมไทยและความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม
ปัญหาในสวัสดิภาพได้กัดกินสังคมไทยเรื่อยมา จนมาถึงรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยิ่งมีคนถูกอุ้มหายและคุกคามอีกหลายคน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงสถิติ แต่เป็นชีวิต เป็นสมาชิกครอบครัวและคนรักของใครหลายๆ คน ในฐานะประชาชน