เมื่อเทียบกันระหว่างร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต (ฉบับผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายปีที่แล้ว) และเวอร์ชันล่าสุดจากการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เพิ่งเผยออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ขอเรียกว่า ‘ร่างฉบับล่าสุด ต้นสิงหาคม 2562’ ชี้ให้เห็นเด่นชัดว่า
ไม่สนับสนุนสิทธิพื้นฐานของพลเมือง
สร้างความเหลื่อมล้ำ
ไม่เข้าใจสถานการณ์ของโลกในยุคปัจจุบัน
โดยรวมแล้ว ‘เนื้อหาแย่กว่าฉบับก่อน’
เป็นเวลากว่า 7 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ก่อนเลือกตั้ง) ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตอย่างน่าอัศจรรย์ใจ และได้นำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณา แม้จะมีช่องว่างระหว่างการรอเลือกตั้ง คณะกรรมการกฤษฎีกาก็จัดทีมถกเถียงเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต (ส่งโดยกระทรวงยุติธรรม) อย่างแข็งขันและไม่ประวิงเวลาใดๆ
ประชาชนต่างจับตามองและตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยจะสามารถรับรองสถานะชีวิตคู่ของประชากรในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ) ได้หรือไม่ ขณะที่ประเทศไต้หวันนำร่องไปก่อนแล้ว แม้จะมีกฎหมายที่ไม่สมบูรณ์ออกมา
ความพยายามในการรับรองสถานะคู่ชีวิตของบุคคลเพศเดียวกันโดยกำเนิดเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างเมื่อราว 6 ปีที่แล้ว โดยมีคู่รักชาย-ชายคู่หนึ่งยื่นเรื่องร้องเรียนต่อภาครัฐ กรณีต้องการทะเบียนสมรส แต่ถูกปฏิเสธ
กระทรวงยุติธรรมได้เข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างขันแข็ง มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. หลายเวอร์ชัน ผ่านไปหลายคณะทำงานและคณะพิจารณา และทุกๆ ครั้งก็สร้างข้อกังขาในเนื้อหาที่ผลิตออกมาในแต่ละร่างไม่น้อย
เมื่อผ่านเวทีวิพากษ์ต่างๆ ก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่โดยรวมเห็นด้วย โดยมีเวทีภาคใต้ในการทำร่างล่าสุดก่อนเข้าสู่คณะรัฐมนตรี มีกลุ่มมุสลิมบางกลุ่ม (ไม่ใช่ทุกกลุ่ม) ไม่เห็นด้วยที่จะมีกฎหมายฉบับนี้และแสดงออกอย่างรุนแรง แต่สุดท้ายเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้ประเทศไทย ‘มีความยุติธรรมได้แล้ว’
เมื่อปลายปีที่แล้วในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ นับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ประเด็นการจดทะเบียนชีวิตคู่ของ LGBTIQ ได้เดินทางมาไกลถึงขั้นผ่านคณะรัฐมนตรีและมาอยู่ในมือคณะกรรมการกฤษฎีกา
แต่ทว่าร่างล่าสุดที่เพิ่งเปิดเผยออกมานั้นยังคงไม่ให้สิทธิที่พึงมี แถมยังสร้างเงื่อนไขที่น่ากังขา นำมาซึ่งความคลุมเครือในการนำไปใช้ ‘ฝังไว้ด้วย’
โดยเห็นได้ชัดเจนว่าร่างฉบับนี้แสดงความจำนงที่จะละเว้นการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ในทางใดทางหนึ่ง นั่นคือจะให้ก็ไม่ให้ จะปิดก็ไม่ปิด เลือกใช้ทางสายสะดวกคือ ‘ไม่กล้าฟันธง’ นั่นเอง
ตัวอย่าง สิทธิรับสวัสดิการร่วมจากรัฐในฐานะคู่สมรส การรับบุตรบุญธรรม สิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมคู่สมรสเฉกเช่นประชากรชาย-หญิง สิทธิการจัดการศพ สิทธิเซ็นยินยอมรักษาพยาบาล สิทธิในกองทุนประกันสังคม สิทธิในการใช้ชื่อสกุลร่วมกัน สิทธิในการขอวีซ่าในฐานะคู่สมรส และอื่นๆ (ดูตารางประกอบ)
พูดง่ายๆ ก็คืออะไรที่ไปเกี่ยวข้องกับระบบระเบียบหรือหน่วยงานอื่นๆ และเรื่อง ‘เงิน’ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขอ ‘ไม่ให้ความสำคัญ’ แต่ครั้นจะ ‘ปัดตกไป’ ไม่บรรจุไว้ ก็จะเกิดการเปรียบเทียบและอาจถูกมองว่า ‘ไม่สนับสนุน’ ประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งถ้าเอาเรื่องความยุติธรรมมาตั้ง ประชากรกลุ่มนี้เสียเปรียบในทุกๆ ด้าน ทั้งๆ ที่เสียภาษีเหมือนประชากรทั่วไป
พูดอย่างฟันธงได้เลยว่า เสียภาษีไป แต่ไม่ได้สิทธิ
ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับล่าสุดนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการทำอาหารจานหนึ่ง แล้วมีผักชีโรยๆ ไว้ และผักชีนั้นก็แค่…โรยๆ ไว้
นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการหลีกเลี่ยงการตัดสินใจบนแนวคิด ‘รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง’ ก็ยังมีการโยนเรื่องไปให้เกิดการตัดสินกันเองเป็นกรณีๆ ไปตรงหน้างานเมื่อต้องนำไปใช้ในทางปฏิบัติ จึงเป็นข้อกังขาว่าแล้วเขียนมาทำไม คำว่า ‘อนุโลม’ (ดูตารางประกอบ)
ทางออกของการจัดการของกฤษฎีกาในขณะนี้ก็คือตั้งคำถามโยนกลับไปยังต้นเรื่องคือกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และขอเปิดให้ประชาชนออกมาแสดงความเห็นใน…
วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคมนี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ เวลา 8.30-15.00 น.
จากงานเขียนของนักกฎหมายที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร ชี้ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า (ดูตารางประกอบ)
คำว่า ‘คู่ชีวิต’ ไม่ปรากฏในประมวลกฎหมายหรือกฎหมายใดๆ ในประเทศไทยมาก่อน ดังนั้นสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ที่ยึดโยงคำว่า ‘คู่สมรส’ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงไม่สามารถมอบสิทธินั้นกับ ‘คู่ชีวิต’ ตามร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คิดง่ายๆ ก็คือหลักกฎหมายครอบครัวของประเทศนั่นเอง)
“ถ้าไม่แก้ไขร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตก็เท่ากับออกกฎหมายมาบนความไม่เข้าใจ คนออกกฎหมายอาจจะไม่ได้รู้ถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงของ LGBTIQ ในที่สุดกฎหมายออกมาก็ใช้การไม่ได้ ไม่ต่างจากกระดาษแผ่นหนึ่ง ก็ไม่ได้ให้สิทธิอะไรเขา เขาควรจะได้อะไรก็ไม่ได้ เช่น สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน” ชวินโรจน์ นักกฎหมาย ทนายความ และนักวิจัยกล่าว
เมื่อในร่าง พ.ร.บ. ฉบับกฤษฎีกาใช้คำว่า ‘โดยอนุโลม’ และจะนำมาซึ่งการตัดสินใจบนความคลุมเครือของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งในทางปฏิบัติก็จะมีการ ‘โยนกลอง’ ไปมาระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องที่ควรตัดสินใจ เช่น เจ็บป่วย ความเป็นความตาย ก็คงมีปัญหา เพราะภาครัฐขอ ‘ตีความ’ ก่อนตัดสินใจ
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า
ในเมื่อกฎหมายไม่สมบูรณ์ทั้งเนื้อหา ทัศนคติ ความเป็นมา และความเป็นไป ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีประโยชน์อันใด
ทางออก?
1. หากประเทศไทยต้องการเปลี่ยนแปลงบนหลักความยุติธรรมที่แท้จริง ควรนำ พ.ร.บ. ฉบับนี้ไปปรับปรุงใหม่ทั้งหมดด้วยการให้สิทธิที่ครบถ้วนเหมือนคู่สมรสชาย-หญิง ซึ่งในข้อนี้มีผู้ท้วงติงมาเสมอว่าหากมีกฎหมายแยกออกมาก็เท่ากับ ‘การเลือกปฏิบัติ’ ซึ่งในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น แต่ในทางปฏิบัติ จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการของเพจ Love United และเพจสนับสนุน พ.ร.บ. คู่ชีวิต ซึ่งเป็นชุมชนคนมีคู่อยู่กันนานสนใจและติดตามประเด็น พ.ร.บ. คู่ชีวิตมานานแล้วได้มีเสียงสะท้อนกลับมาว่าไม่ถือสาถ้ามีกฎหมายแยก แต่ขอความยุติธรรมคือ ‘อย่าเลือกปฏิบัติ’
2. ไปแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในมาตรา 1448 ที่ชายและหญิงที่ต้องการสร้างครอบครัวและจดทะเบียนใช้อยู่ ซึ่งในข้อนี้หลายๆ ฝ่ายเกรงว่าจะใช้เวลานาน และการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็น ‘งานหิน’ อย่างไรก็ตาม ทางออกข้อนี้ยังเป็นที่คาดหวังอย่างหนึ่งว่าประเทศไทยจะเดินไปในทางที่ถูกต้อง
3. ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นเนื้อหาหลัก แล้วปรับการระบุคำว่าชายและหญิงเสียใหม่โดยให้ครอบคลุมกลุ่ม LGBTIQ ซึ่งแม้จะแยกเป็นกฎหมายต่างหากก็เป็นที่เข้าใจในทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนที่ต้องเกี่ยวข้องกับการทำงาน ทำให้พวกเขาไม่ต้อง ‘ตัดสินใจอย่างไร้ทิศทาง’ สำหรับทางออกข้อนี้ภาครัฐมีแนวโน้มน่าจะเห็นด้วยมากกว่า ขณะที่ภาคประชาสังคมโดยกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่เห็นด้วย
ท้ายที่สุดนี้ สถานการณ์ทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เราผ่านการเรียนรู้ การเห็น การเป็น และเกิดความเข้าใจใหม่ๆ สังคมไทยยอมรับการเป็นและการอยู่ของประชากรกลุ่มนี้ แต่ภาครัฐยังคงใช้กรอบความคิดเดิมมาตัดสินการมีชีวิตอยู่ของประชาชนกลุ่มนี้ โดยยังคงมองว่าพวกเขาเป็นกลุ่ม ‘แปลกแยก’
ตราบใดที่ยังใช้มุมมองนี้ในการออกกฎหมาย เราก็คงได้ พ.ร.บ. ฉบับ ‘ห่วยๆ’ แบบนี้ออกมาอีก
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์