ปัจจุบันย่านสีลมเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย เช่น เป็นย่านพาณิชยกรรม การค้า การลงทุน การธนาคาร มีเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนผ่านพื้นที่ มีสภาพจราจรที่หนาแน่นติดขัด
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นอาคารสูง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ในเวลากลางวันและกลางคืน มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการค้าและเจ้าของอาคารที่อยู่ติดกับถนนสีลม เป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ทางเท้า
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทดลองออกแบบพื้นที่ทางเท้าและพื้นที่ว่างบริเวณโดยรอบถนนสีลม ให้เกิดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ในนาม ‘City Lab Silom เติมชีวิตให้สีลม’ ซึ่งมีแนวทางจัดทำฐานข้อมูล ติดตั้งอุปกรณ์ที่จะทดลอง โดยการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการและประชาชน ออกแบบและทดลอง มีการจัดอีเวนต์ ประชาสัมพันธ์ และรายงานผล เพื่อนำรูปแบบมาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาให้เกิดความเหมาะสม
โครงการนี้เป็นการสร้างพื้นที่ต้นแบบแห่งการทดลอง 7 กิจกรรม ที่สนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ ทั้งร่างกายและจิตใจ ถ่ายทอดผ่านอารมณ์ ความรู้สึก
- เติม Safety ให้สีลม ทางม้าลายคนเดินเท้า เพิ่มเส้นซิกแซ็กช่วงเลนถนน และสัญลักษณ์เตือนก่อนล่วงหน้า ให้หยุดรถก่อนถึงบริเวณทางข้าม
- เติม Energy ให้สีลม ป้ายรถเมล์ ที่ติดตั้งเครื่องออกกำลังกาย ให้ยืดเหยียดขยับร่างกายระหว่างรอรถ
- Comfy Zone @Silom ออกแบบเป็น Street Furniture ‘ป้องกัน’ สิ่งไม่พึงประสงค์ กันฝน กันแดด ป้องกันมลภาวะ และเพิ่มความเป็นส่วนตัว
- เติม ไฟ ให้สีลม / Light @Silom เพิ่มความสว่างให้กับคนเดินเท้า
- เติม สี ให้สีลม / Color Me @Silom พัฒนาอัตลักษณ์ย่านสีลม ผ่านสี กลุ่มสีที่สื่อถึงเอกลักษณ์ความเป็น ‘สีลม’
- ‘เล่น!’ @สีลม / Play! @Silom การออกแบบที่ดึงดูดคนออกมานั่งเล่นในพื้นที่สาธารณะ ด้วยการจัดพื้นที่เล่น ที่มีทั้งการเล่นหมากฮอสยักษ์ กระโดดตามลายพื้น
- Live! @สีลม / Live! @Silom เสาไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่แสดงผลสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ รวมถึงมีกล้องวงจรปิดช่วยในเรื่องความปลอดภัย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์