×

พลาสติกคือวายร้ายจริงหรือ? เรียนรู้แนวทางการอยู่ร่วมกับพลาสติกอย่างถูกวิธีแบบ Circular Living [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
26.12.2018
  • LOADING...

เมื่อทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมายเริ่มลดน้อยถอยลง ผกผันกับจำนวนประชากรบนโลกใบนี้ที่เพิ่มขึ้น มีการใช้ มีการผลิตขยะจนทุกวันนี้กลายเป็นปัญหาที่กำจัดเท่าไรก็ไม่มีวันหมด เมื่อหันมาดูรอบตัว ตามถนนหนทาง สวนสาธารณะ เรายังคงพบเห็นขยะพลาสติก ตั้งแต่ถุงขนมขบเคี้ยว ขวดน้ำดื่ม แก้วเครื่องดื่มหวานเย็น จนไม่ใช่เรื่องแปลกที่พลาสติกมักจะถูกมองในฐานะตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง  

 

ณ จุดนี้ เราเคยสงสัยกันไหมว่า พลาสติกคือวายร้ายที่คอยสร้างความสกปรกให้กับโลกอย่างที่ใครๆ เขาพูดกันจริงเหรอ? พลาสติกคือต้นตอที่ก่อให้เกิดขยะนับไม่ถ้วนจริงๆ เหรอ?

 

หากเราลองเปลี่ยนมุมมองจากที่คอยจับจ้องแต่กองขยะ มาจับจ้องสิ่งต่างๆ รอบตัว เราจะพบว่า แท้จริงแล้วพลาสติกไม่เพียงจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกสมัยใหม่อย่างแนบสนิท แต่การดำรงชีวิตของมนุษย์ในทุกๆ วันยังต้องพึ่งพิงพลาสติกในระดับที่ยากจะแยกกันได้ขาด สมาร์ทโฟนที่กลายเป็นเหมือนอวัยวะชิ้นที่ 33 รถยนต์ที่เราใช้สัญจรเดินทาง หรือกระทั่งชิ้นส่วนของอาคารบ้านเรือนที่เราอาศัยอยู่ต่างก็มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ ทั้งที่เห็นได้ชัดๆ อย่างกรอบโทรศัพท์ หรือบานประตู และที่ละเอียดเล็กลงไปในระดับโครงสร้างเส้นใย

 

 

เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพลาสติกนั้นซับซ้อนและละเอียดอ่อน การที่จ้องแต่จะโยนความผิดให้กับพลาสติกว่าเป็นต้นตอของขยะในทันที โดยไม่หันมาทบทวนพฤติกรรมการใช้พลาสติกของตัวเราเองจึงอาจเป็นการมองปัญหาอย่างไม่ตรงจุดอยู่สักหน่อย เพราะพลาสติกเป็นสิ่งจำเป็น คำถามคือ เราในฐานะของผู้ใช้พลาสติกต้องทำอย่างไรถึงจะจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืน

 

โครงการ Circular Living Campaign 2018 ภายใต้การร่วมมือระหว่างกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เห็นว่าการสนับสนุนการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนจะช่วยจัดการปัญหาเรื่องขยะได้ จึงได้พยายามผลักดันแนวคิดนี้ให้กับประชาชนได้รับรู้ พร้อมทั้งสนับสนุนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งก็คือการนำทรัพยากรมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคัดแยกขยะ การจัดการขยะอย่างถูกวิธี และการนำขยะพลาสติกไปรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

 

 

Circular Living Campaign 2018 ประกอบไปด้วยกิจกรรมที่ส่งเสริมความรู้ในเรื่องการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนมากมาย โดย ‘Power of Sharing’ แคมเปญแรกของโครงการได้เริ่มต้นไปเรียบร้อยแล้ว ผ่านการจัดวางถังขยะ 30 จุดเพื่อรับบริจาคขยะพลาสติกในทุกๆ ชั้นของสามศูนย์การค้าใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ ได้แก่ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ โดยโครงการจะนำพลาสติกที่ได้ไปผ่านกระบวนการอัปไซเคิล เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นเสื้อตัวใหม่ ก่อนจะส่งมอบให้กับมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

ในงานเปิดตัวโครงการ Circular Living Campaign 2018 ได้มีการเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘From Trash to Treasure’ หรือการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาสร้างคุณค่าให้กับขยะพลาสติก กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาแสดงความเห็นต่อปัญหาขยะพลาสติกในปัจจุบันว่า ทั้งขยะมูลฝอยในชุมชน ขยะพลาสติกในพื้นที่ต่างๆ เช่น ท้องทะเล และขยะจากโรงงานอุตสาหกรรม ต่างก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและความต้องการในการบริโภค ทำให้มีปริมาณขยะตกค้างเป็นจำนวนมาก

 

กิตติรัตน์ชี้ว่า หากตรงนี้เรานำวิธีคิดแบบ Design Thinking มาใช้ จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาขยะตกค้างได้ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เช่น การวางแผนการผลิตโดยบริหารจัดการต้นทุนวัสดุให้คุ้มค่าที่สุด หรือการเพิ่มมูลค่าและความยั่งยืนให้กับผลิตภัณฑ์ใดๆ ผ่านการออกแบบ และการสร้างสรรค์เรื่องราวที่น่าสนใจ (Story Telling)

 

อาย-กมลเนตร เรืองศรี นักแสดงรุ่นใหม่ อีกหนึ่งผู้ร่วมเสวนาก็ได้แสดงความเห็นว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ถ้าเริ่มจากตัวเราเป็นอันดับแรก กมลเนตรเห็นว่า เรามักจะมองขยะพลาสติกเป็นผู้ร้าย แต่ในความเป็นจริงปัญหาหลักกลับอยู่ที่การจัดการขยะพลาสติกอย่างไม่ถูกวิธี บ่อยครั้งเรามักจะใช้พลาสติกเพียงครั้งเดียวและไม่นำกลับมาใช้ใหม่ หรือบางคนก็โยนทิ้งไปง่ายๆ ราวกับเป็นขยะไร้ค่า โดยเธอได้ยกตัวอย่างซูเปอร์มาเก็ตที่ญี่ปุ่น ซึ่งจะมีป้ายรณรงค์ให้มีการใช้พลาสติกซ้ำ ทั้งยังมีวิธีการคัดแยกขยะที่ทำอย่างเป็นระเบียบและจริงจังมาก

 

ในส่วนของ วราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ผู้ร่วมเสวนาอีกคนก็เสนอว่า ปัญหาขยะล้นเมืองเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมมือกันเพื่อนำไปสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยโครงการ Circular Living Campaign 2018 จะช่วยสนับสนุนให้เป้าหมายนี้เป็นจริงมากขึ้น นอกจากนี้วราวรรณยังได้เชิญชวนให้ทุกๆ คนนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย

 

 

Circular Living Campaign 2018 เป็นเพียงโครงการหนึ่งเท่านั้นที่พยายามจะสร้างความตื่นตัวในเรื่องการจัดการขยะพลาสติกให้กับประชาชน แต่ถ้าเราตระหนักในความสำคัญนี้อยู่แล้ว เราก็สามารถเปลี่ยนทุกๆ วันของเราให้เป็นย่างก้าวเล็กๆ ที่จะช่วยให้ขยะพลาสติกบนโลกใบนี้ลดน้อยลงได้ ไม่ถึงกับต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ แค่เพียงคิดให้ดีก่อนจะทิ้งอะไร หมั่นแยกขยะอย่างจริงจัง และเริ่มนำหลักรีไซเคิลหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการใช้ซ้ำมาปรับใช้ แค่เท่านี้ก็ถือเป็นย่างก้าวเล็กๆ ที่สำคัญที่จะช่วยให้โลกเราน่าอยู่ขึ้นได้แล้ว

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X