×

แรงบันดาลใจที่สวมใส่ได้ ‘วัธ จิรโรจน์’ ผู้อยู่เบื้องหลัง Circular แบรนด์ที่พบความสวยงามและคุณค่าจากเศษขยะ

โดย THE STANDARD TEAM
17.03.2021
  • LOADING...
แรงบันดาลใจที่สวมใส่ได้ ‘วัธ จิรโรจน์’ ผู้อยู่เบื้องหลัง Circular แบรนด์ที่พบความสวยงามและคุณค่าจากเศษขยะ [Advertorial]

อุตสาหกรรมแฟชั่นนับว่าเป็นอุตสาหกรรมต้นๆ ที่สร้างมลพิษให้กับโลกใบนี้ ถึงแม้ว่าภายนอกจะดูสวยหรูขนาดไหนก็ตาม แต่เบื้องหลังนั้นอาจจะนำมาซึ่งผลกระทบมากมายจากการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำ สารเคมี ขยะ และเสื้อผ้าเหลือใช้ที่ถูกผลิตมาเกินความจำเป็น ซึ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘ความยั่งยืน’ อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะ ‘แฟชั่นยั่งยืน’ ที่กำลังกลายเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ว่าหลายแบรนด์เริ่มตระหนักถึงกระแสแฟชั่นรักษ์โลกมากขึ้นแล้ว แต่ในฝั่งผู้ผลิตต้นน้ำอาจจะยังมีข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่จะทำให้ธุรกิจสิ่งทอของพวกเขามีความยั่งยืนมากขึ้น

 

วันนี้เราได้พูดคุยกับ วัธ-จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด หรือ SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่เชี่ยวชาญการรีไซเคิลเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมากว่า 50 ปี ผู้ที่อยู่เบื้องหลังจากฝ่ายผู้ผลิตที่กำลังเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอของบ้านเราให้ไปในทางที่ดีขึ้น และได้ร่วมงานกับแบรนด์มากมายไม่ว่าจะเป็น Kloset, Issue, Carnival, Indigo Skin, Yothaka รวมไปถึงนิตยสาร GQ หรือ Vogue ในการผลิตเสื้อยืดรุ่นพิเศษ วันนี้เขามาพร้อมกับแบรนด์น้องใหม่อย่าง Circular แบรนด์เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิลจากเสื้อเผ้าเก่าและเศษเหลือใช้จากกระบวนการทอผ้า อีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้บริโภครุ่นใหม่ตระหนักถึงที่มาของสิ่งที่เขาสวมใส่ และอยากส่งต่อแรงบันดาลใจในรูปแบบเสื้อผ้าในชีวิตประจำวัน

 

ตอนนี้อุตสาหกรรมรีไซเคิลเกี่ยวกับสิ่งทอในบ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง

การรีไซเคิลสิ่งทอในบ้านเราถือว่าค่อนข้างใหม่นะครับ ก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยได้ยินการรีไซเคิลจากขวดเพชรที่เอาขวดเพชรมาหลอม แล้วเอาไฟเบอร์มาทำเป็นเส้นด้ายและทอเป็นผ้าผืนใหม่ ซึ่งก็มีบริษัทในไทยเริ่มทำแล้ว แต่อาจจะยังเฉพาะกลุ่ม 

 

แต่ในยุโรปและอเมริกา เทคโนโลยีเกี่ยวกับความยั่งยืนถือว่าไปไกลมากและกว้างขวางกว่าเรามาก ไม่ว่าจะเป็นการรีไซเคิลไนลอนของแบรนด์แฟชั่นในต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการรีไซเคิลขนแกะ เพราะเขาเป็นประเทศเมืองหนาว ไปจนถึงเทคโนโลยีปลูกฝ้ายในห้องทดลอง จากปกติปลูกฝ้ายต้องใช้น้ำมหาศาล ใช้พื้นที่เยอะมาก หรือแม้กระทั่งเอาสาหร่ายทะเลหรือนมมาทำเป็นเสื้อผ้าก็มี

 

เราเริ่มต้นจาก SC GRAND ก่อนในฐานะบริษัทผลิตสิ่งทอจากการรีไซเคิลที่เน้นของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหลัก แต่จริงๆ มันยังมีนวัตกรรมมากมาย ซึ่งเราก็ทำงานกันอีกเยอะ เราอาจจะเป็นเครือโรงงานเจ้าแรกที่เปิดตัวจริงจัง

 

 

แล้วทำไมถึงกลายมาเป็น Circular พอจะเล่าที่มาที่ไปของแบรนด์นี้ให้เราฟังหน่อยได้ไหม

เราเพิ่งเปิด Circular ตอนสิ้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และกำลังจะมีร้านเป็นของตัวเองภายในปีนี้ ส่วนใหญ่ตอนนี้จะเป็นการฝากขายไปพร้อมๆ กับจัดนิทรรศการให้ความรู้แทนการเปิดตัวงานใหญ่ชื่อว่า Journey of Textile Recycling ที่เล่าว่า อุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้อันดับ 2 ก็คืออุตสาหกรรมสิ่งทอหรืออุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อให้คนเข้าใจเกี่ยวกับภาพรีไซเคิลว่ามันทำมาจากอะไร

 

ผ้ารีไซเคิลของเราไม่ได้ทำมาจากขวดเพชร แต่หลักๆ คือทำมาจากของเสียในอุตสาหกรรมแฟชั่นและอุตสาหกรรมสิ่งทอ พวกของเสียจากกระบวนการผลิต รวมทั้งเสื้อผ้าเก่าเราก็เอามาด้วย แล้วเปลี่ยนมาเป็นเสื้อผ้าใหม่

 

ที่ผ่านมา SC GRAND ได้ทำร่วมกับหลายแบรนด์ก็จริง เพราะเขาเห็นว่าผ้าของเรามันสามารถดีไซน์ได้หลายอย่าง แต่คอนเซปต์แต่ละแบรนด์ก็จะแตกต่างกันออกไป การทำเสื้อผ้าออกมามันก็จะเป็นคนละไลฟ์สไตล์กัน เราก็เลยตัดสินใจทำแบรนด์ Circular ขึ้นมา เพื่อสื่อสารให้คนเข้าใจเกี่ยวกับผ้ารีไซเคิล SC GRAND ว่าสามารถนำไปผลิตเสื้อผ้าได้หลากหลายสไตล์

 

 

แล้วทำไมถึงตั้งชื่อว่า Circular 

สิ่งที่เราทำมันเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพราะทุกอย่างมันเชื่อมโยงถึงกันหมด เรารู้ว่าทรัพยากรบนโลกนี้มีจำกัด จนในอนาคตทุกอย่างจะขับเคลื่อนด้วยแนวคิดนี้ ของที่ถูกทิ้งหรือของเสียจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติให้ได้มากที่สุด จากน้ำเสียที่เราใช้กันจะต้องเข้าสู่บ่อบำบัด แล้วถูกสารแยกก่อนถึงลงทะเล แต่ในอนาคตอาจจะมีระบบบำบัดน้ำเสียน้ำดีภายในบ้านเลยด้วยซ้ำ เพราะถ้าเรายิ่งสิ้นเปลือง มันจะมีผลกระทบเกี่ยวกับมลภาวะและตามมาด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ แต่มันจะเป็นแบบนี้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย

 

แล้วอะไรคือสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการเป็นหนึ่งในผู้เริ่มต้นนวัตกรรมแบบนี้

จุดที่ยากก็คือการสื่อสาร ทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าวัตถุดิบที่เป็นของเสียมันไม่ได้เป็นมลพิษอะไร มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่คุณผลิตมาใส่นั่นแหละ แค่มันเป็นเศษผ้าบ้าง เศษด้ายบ้าง หรือเป็นเสื้อผ้าที่ไม่ผ่าน QC บ้าง และไม่ได้ใส่ยากอย่างที่คิดเลย เราอยากอธิบายให้เข้าใจว่ามันก็ยังใส่ได้อยู่นะ เรามีการส่งไปสถาบันในการทดสอบทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งออกแบบให้สวยงามได้ แล้วมันก็มีอิมแพ็กที่ดีต่อทรัพยากรของโลกด้วย

 

 

สินค้าแรกๆ ของ Circular เป็นอย่างไรบ้าง

ที่จริงที่วางขายอยู่ตอนนี้เราจะเน้นไม่ฟอกย้อมก่อน สีเก่ามาแบบไหนของใหม่ก็เป็นแบบนั้น สมมุติว่าเสื้อของทีมฟุตบอลสีแดงในอังกฤษ ออกแดงเฉดนี้ในฤดูกาลการแข่งขันครั้งนี้ แต่อีกทีมในยุโรปจะออกสีแดงอีกเฉดหนึ่ง มันก็จะเป็นเฉดสีกระดำกระด่างไม่เท่ากัน เราเน้นธรรมชาติของสิ่งที่เราได้มาโดยที่ไม่ผ่านการฟอกย้อม วัตถุดิบที่เป็นของเสียมาแบบไหนเราก็ใช้สีนั้นเลย 

 

คอลเล็กชันแรกของ Circular จะเน้นจุดแข็งของ SC GRAND ก็คือเสื้อผ้าที่ไม่ได้ผ่านการฟอกย้อม ตอนนี้ก็จะมีสินค้าคลาสสิก ใส่ได้ง่ายในชีวิตประจำวัน อย่างคาร์ดิแกน ถุงเท้า เสื้อโปโล ชุดเดรสที่ทำมาจากผ้ายืด Single Jersey แล้วค่อยๆ ขยับเป็นสินค้าที่ต้องอาศัยการฟอกย้อมบ้าง เช่น เสื้อเชิ้ตที่ผมใส่อยู่เราผสม Organic Cotton 30% และรีไซเคิลคอตตอน 70% เรามีการฟอกย้อมเพราะว่าถ้าเป็น Cotton ที่ไม่ผ่านการฟอกย้อมจะเป็นสีดิบ แต่ถ้าอยากให้สีสวยขึ้นมันอาจจะต้องฟอกสี แต่ที่เหลือจะเป็นเศษผ้า เสื้อผ้าเก่า ที่มันเป็นสีนั้นอยู่แล้วแล้วมาผสมกัน แล้วช่วงกลางปีก็จะเริ่มเป็นผ้า เริ่มมีการฟอกย้อมมากขึ้น

 

จากที่จับเนื้อผ้ามารู้สึกว่ามันมีความดิบอยู่เหมือนกัน แตกต่างจากผ้าทั่วไปมาก

คนอาจจะมองว่าทำไมสีไม่เท่ากัน ทำไมมีตำหนิเยอะจัง แต่สิ่งที่ท้าทายคือ โรงงานแต่ละโรงงานมีการใช้วัตถุดิบแตกต่างกัน เช่น บางที่สั่งฝ้ายจากออสเตรเลีย คนนี้สั่งจากอเมริกา คนนั้นอาจจะสั่งจากอินเดียหรือจีน เพราะฉะนั้นใยก็ไม่เท่ากันแล้ว การที่เราเอามารีไซเคิลใหม่ เสื้อตัวนี้มันก็จะมีจุดเป็นธรรมดา เวลาไปซัก 10-20 ครั้ง ผิวสัมผัสจะคล้ายๆ กับผ้าลินินที่เป็นตะปุ่มตะป่ำ สีอาจจะดูไม่เท่ากัน แต่มันก็เป็นคาแรกเตอร์ของผ้า เรามองว่ามันคือ Beauty of Waste 

 

เราต้องค่อยๆ สื่อสาร บอกเรื่องราวที่แท้จริง ว่าสิ่งที่เราทำมันต้องโปร่งใสและตรวจสอบที่มาที่ไปได้ เราอยากให้ลูกค้าได้สแกน QR Code แล้วรู้ว่ามันสร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง ส่วนผสมมาจากที่ไหน ช่วยประหยัดทรัพยากรอะไรได้บ้าง ใช้พลังงานเท่าไร ใครเป็นคนทำ ตอนนี้เราเริ่มทำแล้ว แต่ว่าเราทดลองทำกันในบริษัทอยู่ทั้งระบบน่าจะสิ้นปี เพราะมันต้องมีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง

 

 

แล้วผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้างครับ

โอเคนะครับ ที่ผ่านมาเราได้ทำงานกับหลายแบรนด์ในไทย เช่น Carnival, Kloset, dtac และนิตยสาร Vogue ประเทศไทย ที่เอาเสื้อยืดของเราไปเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์พิเศษของทางนิตยสาร จริงๆ มีหลายแบรนด์ก็ติดต่อเรามาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เราไม่สามารถเดลิเวอร์จำนวนผ้าได้ตามที่เขาต้องการ เพราะปีที่แล้วเป็นปีแรกที่เราเพิ่งเปิดตัว เรายังต้องพัฒนาอีกหลายจุด

 

หรืออย่างค่ายเพลง LOVEiS และนักร้อง-ดาราที่มีชื่อเสียงที่เขาทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองก็เคยติดต่อมาหาทางเรา เนื่องจากเขาไปเห็น SC GRAND และศึกษาว่าเราทำอะไรมาบ้าง เขาเลยอยากทำบางอย่างร่วมกับเรา โดยที่มี Circular สามารถเข้าไปเป็น Supplier เขาในการผลิตเสื้อผ้าของเขาได้

 

 

แสดงว่าคนรุ่นใหม่ก็เริ่มสนใจแล้วใช่ไหม

ใช่ครับ ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่สนใจ เพราะว่าเขาต้องการรู้ที่มาที่ไปของเสื้อผ้าว่ามันทำมาจากอะไร ผลิตที่ไหน ผลิตจากวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ มันมีความเป็นธรรมชาติในการผลิตไหม ฉันซื้อไปแล้วมันทำลายสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า เขามีความตระหนักรู้มากกว่าแค่ซื้อรวดเดียว จนรวมตัวกันกลายเป็นคอมมูนิตี้ของเขาเอง หรือทำอะไรสักอย่างให้วงการแฟชั่นยั่งยืนมากขึ้น อย่างที่ผมศึกษามา มีแบรนด์ Upcycling เกิดขึ้นเยอะมาก เอาเศษผ้าหรือเอาเสื้อผ้าเก่าแปะๆ แล้วก็ทำให้มันมีคุณค่าขึ้นมา 

 

แต่นอกจากคนรุ่นใหม่ที่เริ่มใส่ใจแล้ว เริ่มมีองค์กรและแบรนด์แฟชั่นอย่างที่กล่าวไปที่หันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้ บวกกับมันเป็นเทรนด์ทั่วโลกด้วย ทั้งเรื่อง Climate Change และนโยบายของประชาคมโลกที่ทำให้แบรนด์แฟชั่นและเสื้อผ้าหลายแบรนด์ตั้งมั่นที่จะปรับตัว เราก็เลยมาปรับตัวเพื่อเข้าไปสนับสนุนเทรนด์นี้ และสร้างคุณค่าบางอย่างให้กับโลกใบนี้

 

 

สุดท้ายอยากให้เห็นแบรนด์ Circular และวงการแฟชั่นและสิ่งทอของเราเดินหน้าไปทางไหน

เราอยากให้ Circular เป็นแบรนด์ที่มาสร้างความตระหนักรู้ถึงเรื่องการรีไซเคิลโดยเฉพาะ เราอยากทำให้คนเห็นว่าทาง Circular สามารถทำเสื้อผ้ารีไซเคิลหรือเสื้อผ้าที่ยั่งยืนได้จริงๆ นะ แล้วมันออกมาสวยงามได้โดยที่คุณภาพใกล้เคียงเดิมเลย นอกจากซื้อเสื้อผ้าจากเราแล้ว เราให้ข้อมูลเพิ่มเติมเขาไปด้วย และมันก็จะส่งต่อความยั่งยืนมากขึ้น รวมทั้งเราตั้งใจที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับ Value Chain ในอุตสาหกรรมแฟชั่น ว่าทุกคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน อันนี้คือจุดประสงค์หลักที่เราเปิดแบรนด์ขึ้นมา

 

สำหรับใครก็ตามที่สนใจปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาในอนาคต คุณซื้อเสื้อผ้าจาก Circular ไป ก็เอากลับมารีไซเคิลได้จริงๆ ตอนนี้เราก็มีโปรโมชันอยู่ที่สยามดิสคัฟเวอรี ก็คือคุณเอาเสื้อยืดเก่าไป 1 ตัว คุณก็จะได้ Voucher ส่วนลด 10% สำหรับการซื้อเสื้อผ้า Circular เราก็จะเอาเสื้อผ้าเก่าตรงนั้นมารีไซเคิลและออกแบบเป็นผ้าใหม่ เป็นคอลเล็กชันให้กับ Ecotopia ในช่วงกลางปีนี้ 

 

ใครจะรู้ แบรนด์ของเราอาจส่งต่อสร้างแรงบันดาลใจให้หลายๆ คนก็ได้ เพราะเชื่อว่าในอนาคตมันมีต้องมีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีกเยอะแน่นอน สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราคาดหวังก็คือ ให้หลายๆ แบรนด์เห็นว่าผ้ารีไซเคิลหรือผ้า Sustainable Textile จาก SC GRAND สามารถรังสรรค์เสื้อผ้าได้หลากหลายแบบ และลดผลกระทบรวมทั้งลดของเสียที่อุตสาหกรรมของเราได้สร้างเอาไว้

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X