วันนี้ (20 พฤษภาคม) อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ทางสำนักวิจัยปรับลดมุมมองการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2563 นี้ลง โดยคาดว่าจะอยู่ที่ -8.9% จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะอยู่ราว -6.4% และตามสมมติฐานใหม่นี้ถือว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวรุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่เศรษฐกิจไทยในปี 2541 หดตัว 7.63% (ซึ่งปี 2541 GDP ไตรมาส 2 หดตัวลึก 12.53%)
ทั้งนี้ ไตรมาส 1/63 GDP ไทยอยู่ที่ -1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวถึง 38% กระทบต่อธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ อุปสงค์ภาคต่างประเทศก็ชะลอตัว และกระทบภาคการส่งออกของไทย โดยการระบาดของโควิด-19 จากจีนไปทั่วโลก มีผลให้มีคนว่างงานในหลายประเทศ และคนก็ระมัดระวังในการจับจ่ายซื้อของ เมื่อการส่งออกกระทบ ภาคการผลิตจึงมีปัญหาตามมา
อย่างไรก็ตาม ความหวังของเศรษฐกิจไทย อย่างการลงทุนของภาครัฐยังมีความล่าช้าในการออกงบประมาณรายจ่าย ทำให้การบริโภคและการลงทุนของรัฐบาลหดตัว
ขณะที่ไตรมาส 2/63 คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังหดตัวต่อเนื่อง อาจสูงถึง 14% แม้รัฐบาลจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบผ่านมาตรการชดเชยรายได้ต่างๆ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยลดภาระผู้กู้ชั่วคราว รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมอัดฉีดเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้
ทว่าความเสี่ยงไตรมาส 2/63 ยังมีปัจจัยความเสี่ยงสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคต่างประเทศ ที่การส่งออกสินค้ามีโอกาสหดตัวได้ถึง 20% และจำนวนนักท่องเที่ยวมีโอกาสหดตัวได้ถึง 90%
อย่างไรก็ตาม คาดว่าไตรมาส 2/63 GDP จะหดตัวมากที่สุด และทยอยลดการหดตัวลงในช่วงที่เหลือของปี โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังอาจหดตัวราว 10%
“แต่สำหรับนักลงทุน เขากลับมองโลกในด้านบวก มองว่าเศรษฐกิจกำลังจะถึงจุดต่ำสุดในช่วงนี้ สถานการณ์กำลังคลี่คลายไปด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อ และมองสภาพคล่องที่มีล้นประกอบกับราคาสินทรัพย์ที่ย่อลงอยู่ในระดับที่น่าสนใจในการลงทุน เราจึงเห็นราคาหุ้น และราคาสินทรัพย์ต่างๆ ทะยานกลับขึ้นไปได้อย่างรวดเร็ว หลังดิ่งลงมาในช่วงเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน เป็นภาพคล้ายๆ กับสายฟ้าฟาด นั่นเพราะนักลงทุนมองอนาคต ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์มองปัจจัยพื้นฐานในปัจจุบัน เราจึงเห็นภาพผลกระทบจากโควิด-19 ในภาพที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นร่วมกันคือ อนาคตจะสดใสกว่าปัจจุบัน และเราจะสามารถฝ่าฟันให้พ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ในไม่ช้า” อมรเทพกล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum