×

CIMB มอง เศรษฐกิจไทยโตต่ำ กระจายรายได้ไม่ดี คาดแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย 4 ครั้งภายในปีหน้า ชี้ช่วยหนุนแก้ปัญหาโครงสร้างได้

09.07.2024
  • LOADING...
CIMB

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คงคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้ไว้ที่ 2.3% นับเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในตลาด พร้อมมองว่าประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาการกระจายรายได้ไม่ดีและรายได้ต่ำ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลง 4 ครั้งภายในปีหน้า ให้สอดคล้องกับระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย พร้อมมองว่าการลดดอกเบี้ยสามารถช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้

 

วันนี้ (9 กรกฎาคม) ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB Thai) คงคาดการณ์ GDP ทั้งปีไว้ที่ 2.3% และประเมินว่า GDP ไทยปีหน้าจะขยายตัว 3.2% พร้อมทั้งประเมินว่าภายในสิ้นปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยลงนโยบายลง 0.25% ก่อนจะลดอีก 3 ครั้งในปีหน้า ไปสู่ระดับ 1.5% ให้สอดคล้องกับระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย

 

เมื่อพิจารณา GDP ปี 2567 แยกเป็นรายไตรมาส CIMB Thai คาดว่า เศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 จะขยายตัว 1.8%YoY (ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเผยแพร่รายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้) ส่วนไตรมาสที่ 3 และ 4 คาดว่าจะขยายตัว 2%YoY และ 3.9%YoY ตามลำดับ

 

โดย ดร.อมรเทพเปิดเผยว่า สาเหตุที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะร้อนแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มาจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และการฟื้นตัวของตลาดต่างประเทศที่ช่วยหนุนการส่งออกของไทย

 

 

 

ทำไม CIMB Thai มอง กนง. เตรียมหั่นดอกเบี้ยรัวๆ

 

ดร.อมรเทพคาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนธันวาคมปีนี้ คณะกรรมการมีโอกาสจะลดดอกเบี้ยลง 0.25% จากระดับ 2.5% ไปสู่ระดับที่ 2.25% เนื่องจาก 2 ปัจจัย ดังนี้

 

  1. ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ได้แก่ ในเดือนกันยายนและธันวาคม ทำให้ กนง. ไม่ต้องกังวลเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะกว้างเกินไป (หากลดก่อน) จนกระทบเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุน

 

  1. ปราศจากความเสี่ยงจากมาตรการทางการคลัง หรือไม่มีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมากระตุ้นเศรษฐกิจให้ร้อนแรงในระยะสั้น จนส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ กนง. ก็น่าจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในระบบ

 

 

 

ลดดอกเบี้ยช่วยไทยปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้

 

ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติในมิติดอกเบี้ย โดยรัฐบาลต้องการให้ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่แบงก์ชาติต้องการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตามศักยภาพ เงินเฟ้อกำลังกลับเข้ากรอบ กังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาวจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และอาจต้องการเก็บกระสุนไว้รับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี ดร.อมรเทพประเมินว่า ในช่วงปีหน้าอาจมีการหั่นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% แม้ว่าการสื่อสารจากแบงก์ชาติ ณ ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน แต่เศรษฐกิจไทยในระยะยาวกำลังโตต่ำลง ธปท. จึงอาจต้องลดดอกเบี้ยเพื่อปรับสมดุล เร่งการปรับโครงสร้างได้

 

“ธปท. มีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ ไม่ใช่แค่เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น แต่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสามารถสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ ทำให้การสะสมทุนมีมากขึ้น เกิดการลงทุนมากขึ้น และบรรยากาศการลงทุนดีขึ้น

 

“อย่าลืมว่าหนึ่งในปัญหาของการปรับโครงสร้างบ้านเราคือการลงทุนน้อย ดังนั้นดอกเบี้ยที่ต่ำจึงจะช่วยสนับสนุนการลงทุน และช่วยผ่อนคลายบางจุดได้” ดร.อมรเทพกล่าว พร้อมย้ำว่า การลดดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับโครงสร้างเท่านั้น ไม่ใช่ตัวหลัก

 

พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า “เราไม่อยากให้ (ธปท.) กังวลเรื่องเงินเฟ้อให้มากเกินไป โดยประเมินว่าถึงลดอัตราดอกเบี้ยลง อัตราเงินเฟ้อก็จะยังอยู่ในกรอบ และจะไม่กระทบเสถียรภาพของตลาดเงินตลาดทุน”

 

ทั้งนี้ CIMB Thai คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ในปีนี้จะอยู่ที่ 0.8% ก่อนจะเข้าสู่กรอบล่างราว 1.3% ในปีหน้า

 

เศรษฐกิจไทยโตต่ำ กระจุก ไร้คุณภาพ

 

แม้การลดอัตราดอกเบี้ยจะมีส่วนช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้ แต่ ดร.อมรเทพมองว่า นโยบายการคลังควรมีบทบาทมากกว่า เนื่องจากเหตุผลต่างๆ ดังนี้

 

การส่งผ่านนโยบายทางการคลังไป ‘รวดเร็วกว่า’ นโยบายการเงินที่อาจต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน กว่าจะไปถึงภาคเศรษฐกิจจริง

 

เศรษฐกิจไทยไม่ได้เจอเพียงปัญหาโตต่ำ แต่ยังเผชิญปัญหาคุณภาพการกระจายตัวที่ไม่เท่าเทียม หรือความเหลื่อมล้ำด้วย โดยกำลังซื้อระดับกลางล่างยังไม่ฟื้น ขณะที่กำลังซื้อระดับบนเติบโตได้ ดังนั้น เราจึงต้องการสนับสนุนมาตรการทางการคลังแบบ ‘เฉพาะกลุ่ม’ (Targeted) เพื่อบรรเทาปัญหาความไร้คุณภาพนี้

 

“แม้จะดูเหมือนว่าเศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่ประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาการกระจายรายได้ไม่ดีและรายได้ต่ำ ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ที่เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยสามารถได้รับประโยชน์จากต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำ ช่วยให้พวกเขาอยู่รอด”

 

เปิดความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

 

ดร.อมรเทพมองว่า เศรษฐกิจไทยมี 4 ปัจจัยเสี่ยงหลัก เรียกย่อๆ ว่า GERM ได้แก่

 

G – Geopolitics – ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังป่วนโลก กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน ต้นทุนขนส่งสินค้าทางเรือจะสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่เป็นต้นทุนสำคัญในภาคการผลิตและขนส่ง ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ที่เคยคาดการณ์ 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอาจปรับขึ้นไปทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้หากสถานการณ์เลวร้าย และกระทบผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน รวมทั้งความขัดแย้งในยูเครนที่อาจยืดเยื้อและรุนแรงจนกระทบอุปทานน้ำมันของรัสเซีย ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวัน หรือเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่อาจกระทบห่วงโซ่อุปทานภาคการผลิต จนทำให้ราคาสินค้าบางประเภทโดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ปรับพุ่งขึ้นได้

 

E – Elections – การเลือกตั้งในหลายประเทศที่อาจเปลี่ยนขั้วการเมือง การเลือกตั้งแม้เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนไปบริหารประเทศ แต่เรามักพบการเมืองที่เปลี่ยนขั้ว มีผลต่อการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันออกไป เช่น การเลือกตั้งในอังกฤษและฝรั่งเศส กระทบต่อความเชื่อมั่นในการลดระดับหนี้สาธารณะ และกระทบต่อค่าเงินและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่น่าจับตาคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ จะมีความสำคัญต่อทิศทางการค้า การลงทุน และกระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ (Deglobalization) ที่จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้

 

R – Interest Rate – อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูงและลากยาว แม้เราคาดว่า Fed จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยช่วงเดือนกันยายนและธันวาคม จากระดับ 5.50% สู่ระดับ 5.00% ในปลายปีนี้ จากตัวเลขการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มแผ่วลง แต่หาก Fed ยังกังวลต่อทิศทางเงินเฟ้อที่ลดลงช้า และห่วงว่าหากปรับลดดอกเบี้ยเร็วเกินไปจะทำให้เงินเฟ้อกลับมาพุ่งขึ้นต่อได้ Fed อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น ความน่าสนใจของการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดเกิดใหม่ลดลง มีเงินทุนไหลออกจากตลาดทุนไทย และหาก Fed ส่งสัญญาณที่จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเลยในปีนี้ ค่าเงินบาทอาจพลิกกลับไปอ่อนค่าได้ต่อ ทะลุระดับ 37.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แทนระดับที่เคยคาดการณ์ 37.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะกระทบต้นทุนการนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะน้ำมัน ส่งผลให้เงินเฟ้อไทยปรับสูงขึ้นกว่าคาดได้ และ กนง. อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปีแทนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมอย่างที่เราคาด

 

M – Manufacturing – ภาคการผลิตอาจหดตัวต่อเนื่อง ความอ่อนแอของภาคการผลิตมีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอในช่วงที่ผ่านมา ทั้งขาดสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ขาด FDI หรือเติบโตรั้งท้ายในภูมิภาค หรือการที่ไทยนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนเป็นจำนวนมาก จนทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะตัวเลข MPI ที่หดตัวต่อเนื่อง แม้เราคาดว่าภาคการผลิตจะปรับตัวดีขึ้นไตรมาส 3 ตามการฟื้นตัวของตลาดโลกและความเชื่อมั่นดีขึ้น แต่หากไทยไม่สามารถยับยั้งการเร่งระบายสินค้าจากจีน SMEs ไทยจะกระทบหนักถึงขั้นปิดโรงงาน

 

“จากการที่จีนยังคงระดับการผลิตสินค้าเพื่อรักษาระดับการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้อุปสงค์ในประเทศชะลอและเผชิญสงครามการค้ากับชาติตะวันตก ซึ่งที่จริงจีนน่าจะผลิตลดลง แต่กลับนำผลผลิตส่วนเกินมาระบายในตลาดอาเซียนโดยเฉพาะไทย หากเป็นเช่นนี้ต่อเนื่อง ภาคการผลิตของไทยโดยเฉพาะโรงงานในกลุ่ม SMEs ที่ขาดความสามารถในการแข่งขันอาจต้องปิดตัวลง จนกระทบการจ้างงานและการบริโภคของคนไทยอีกทอดหนึ่ง ซึ่งหวังว่ารัฐบาลไทยจะมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาและเร่งให้ SMEs ไทยปรับตัวได้ในไม่ช้า” ดร.อมรเทพกล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X