ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ลดพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีเหลือต่ำกว่า 1% ภายใน 3 ปี เดินหน้าทุ่มสรรพกำลังดันพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ทั้งสินเชื่อบ้านและรถยนต์ สินเชื่อในอาเซียน เพื่อดันพอร์ตสินเชื่อรวมทั้งปี 2567 โตมากกว่า 5% รับยังจับตาภาพรวมเศรษฐกิจไทยหลังจากล่าสุดหั่นคาดการณ์ GDP เหลือ 2.3% และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับ ‘มีความเสี่ยง’
พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อรวมในปี 2567 เติบโต 5% โดยมุ่งเน้นการเติบโตในพอร์ตลูกค้าในอาเซียน ธุรกิจรายใหญ่ และธุรกิจรายย่อย โดยเฉพาะรายย่อยที่จะมุ่งเน้นสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งจะนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินที่ครบครันทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ รวมถึงสินเชื่อจำนำทะเบียน ที่คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2567
พอลกล่าวว่า สำหรับตลาดสินเชื่อในอาเซียน ธนาคารจะเน้นการเติบโตภายใต้เครือข่ายของ CIMB ที่กระจายอยู่เกือบทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยธนาคารตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อในอาเซียนราว 10% ปีนี้ ซึ่งจะโฟกัสในอินโดนีเซียมากขึ้น ต่อเนื่องจากมาเลเซียและสิงคโปร์ที่รุกหนักในปีก่อนไปแล้ว นอกจากการให้สินเชื่อแล้ว ปีนี้จะเห็นการให้บริการอย่างครบวงจรเพื่อให้ความสะดวกกับลูกค้าธนาคารมากขึ้น ทั้งการให้บริการสินเชื่อระหว่างประเทศ การให้บริการทางการเงินและการชำระเงินอย่างครบวงจรมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสินเชื่อเอสเอ็มอี ปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 2.5% ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับสินเชื่อทั้งหมด ธนาคารมีแผนลดสัดส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง โดยใน 3 ปีจากนี้คาดว่าจะเหลือไม่ถึง 1% ของพอร์ตสินเชื่อรวม
สาเหตุหลักที่ลดสัดส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีเนื่องจากจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารไม่ได้มากนัก จึงไม่เกิด Economy of scale ในเชิงการทำธุรกิจ อีกทั้งลักษณะของธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยค่อนข้างมีความซับซ้อน และอาจต้องการผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เฉพาะเจาะจงมากๆ ทำให้ธนาคารแข่งขันลำบากเมื่อเทียบกับเจ้าอื่นๆ ในตลาด
ตัน คีท จิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
ทางด้าน ตัน คีท จิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวเสริมถึงตลาดสินเชื่อรายย่อยว่า ธนาคารมองว่าตลาดสินเชื่อรายย่อยมีศักยภาพในการเติบโต แม้ว่าภาพรวมหนี้เสียโดยรวมของตลาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งสินเชื่อรถและสินเชื่อบ้าน แต่ธนาคารจะควบคุมความเสี่ยงด้วยการเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพมากขึ้น เช่น สินเชื่อบ้านที่ราคา 3-5 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนสินเชื่อรถยนต์ก็เน้นลูกค้าที่มีโปรไฟล์น่าเชื่อถือ เช่น มีรายได้เกิน 3-5 หมื่นล้านบาท
“การปล่อยสินเชื่อรถและสินเชื่อบ้านยอมรับว่ามีการเข้มงวดมากขึ้น ทั้งการคัดกรองลูกค้าอย่างเข้มข้น ไปสู่ลูกค้าที่มีศักยภาพมากขึ้น ส่งผลให้การอนุมัติสินเชื่อของธนาคารปรับลดลงเหลือเพียง 50-60% จากเดิม 70% สำหรับสินเชื่อบ้าน ส่วนสินเชื่อรถ อัตราการอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ 40%”
สำหรับภาพรวมหนี้เสียปีนี้ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คาดการณ์ว่าจะใกล้เคียงกับปี 2566 โดยคาดปีนี้จะอยู่ที่ 3.3-3.5% และเชื่อว่าหนี้เสียน่าจะอยู่ในทิศทางที่บริหารจัดการได้
มุ่งกลยุทธ์ Digitalize for Value
อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญคือ Digitalize for Value ที่มุ่งเน้นการใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนและยกระดับการให้บริการในโลกยุคใหม่ ผ่านแอปพลิเคชัน CIMB THAI Digital Banking ที่ส่งผลให้ธุรกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถขยายฐานบัญชีดิจิทัลเพิ่มเป็น 4 แสนราย ปริมาณธุรกรรมบนแอปที่ทะยานสู่ 90% และธุรกรรมจองซื้อหุ้นกู้และพันธบัตรทั้งตลาดแรกและตลาดรองทะยานเกิน 6.6 หมื่นล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2563
ทั้งนี้ การมี Digital Ecosystem ที่ครอบคลุม ส่งผลให้ธนาคารคว้ารางวัล Wealth Management Platform of the Year – Thailand 4 ปีติดต่อกัน ปีนี้ทีม Digital เตรียมปรับโฉม UX/UI และเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ๆ ยกระดับความสะดวกสบายไปอีกขั้น
นอกจากนี้ CIMB THAI ยังตั้งเป้ารักษาความเป็นผู้นำตลาด และที่หนึ่งในใจลูกค้า Wealth Management ท่ามกลางสภาวะตลาดที่มีความท้าทาย ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการแนะนำลูกค้า เลือกลงทุนให้ถูก ‘จังหวะ’ ผ่านการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ CIMB THAI คัดสรรมาให้ลูกค้า ทั้งหุ้นกู้ในตลาดแรก หุ้นกู้ตลาดรอง หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง เงินฝากดอกเบี้ยสูง เงินฝากสกุลต่างประเทศ (FCD) กองทุน ประกัน บริการ Wealth Credit Line (วงเงินพิเศษเพื่อมอบสภาพคล่องให้ลูกค้าที่มีเงินลงทุนกับธนาคาร) และพร้อมจูงมือลูกค้าไปลงทุน Offshore Fund โดยเฉพาะ Alternative Investment มีความน่าสนใจที่ไม่อ้างอิงต่อปัจจัยหลักอย่างทิศทางดอกเบี้ยหรือค่าเงิน แต่อยู่บนสินทรัพย์ที่ไปลงทุน ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายขยายธุรกิจและฐานสมาชิก CIMB Preferred (ลูกค้าที่มีเงินฝากหรือเงินลงทุน 3 ล้านบาทขึ้นไป) ให้เติบโตอีก 12% จากปัจจุบันมีลูกค้า 1 แสนราย
“ผลงานชิ้นโบแดง คือการที่ CIMB THAI ครองอันดับ 1 ‘หุ้นกู้’ ด้วยมูลค่าการค้าตราสารหนี้ปี 2566 ทะลุ 7 แสนล้านบาท และคว้ารางวัลระดับโลก 10 ปีซ้อน สะท้อนความเชี่ยวชาญของทีม Treasury & Markets ที่ดูแลการลงทุนช่วยลูกค้ามีสภาพคล่องผ่านบริการรับซื้อ-ขายหุ้นกู้ เป็นที่มาของแคมเปญปีนี้ หุ้นกู้คือ CIMB THAI” พอล วอง กล่าว
ปีนี้ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซคาร์บอน 36%
เจสัน ลี หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ทุกมิติของการทำธุรกิจของธนาคารจะขับเคลื่อนบนแกน Sustainability สอดรับกับเป้าหมายกลุ่ม CIMB ที่จะบรรลุ Green, Social Sustainable Impacted Products and Services (GSSIPS) จำนวน 1 แสนล้านริงกิต หรือ 7.7 แสนล้านบาทในปี 2567 โดยปี 2566 ทีมสินเชื่อรายใหญ่ได้สนับสนุนสินเชื่อความยั่งยืนจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ในการทำงานบนวิถีความยั่งยืน Net Zero ปี 2567 ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 36% เทียบกับปี 2562 (Scope 1 และ 2) และเพื่อปลุกกระแสสังคมรวมพลังสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน ปีนี้ธนาคารจะจัดสัมมนา The Cooler Earth Sustainability Series ตลอดทั้งปี ทั้งการฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลก, เสวนาโต๊ะกลมสินเชื่อยั่งยืน และสัมมนาใหญ่ร่วมกับ UN ESCAP ขึ้นอีกครั้งหลังจากจัดขึ้นครั้งแรกปี 2566