×

มองอาเซียน เห็นซีไอเอ็มบี ไทย และเป้าหมายสู่แบงก์ขนาดกลาง

05.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins read
  • ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2552 ด้วยจุดยืนสำคัญคือการเป็นธนาคารที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
  • ซีอีโอของแบงก์ซีไอเอ็มบี ไทย ยอมรับว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ยาก แม้จะเห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เติบโต แต่พบว่าเศรษฐกิจไทยยังส่งสัญญาณอิ่มตัวให้เห็นชัดเจน
  • สิ่งที่บรรดานายแบงก์กังวลในตอนนี้อาจไม่ใช่การแข่งขันในวงของธนาคารด้วยกันเอง แต่การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่(และใหญ่)ในคราบของ ‘Non-bank’ เป็นเรื่องที่ต้องจับตา

ภาคการเงินการธนาคาร คือโดมิโนตัวที่สองหลังจากธุรกิจสื่อที่เจอกับแรงผลักขนาดใหญ่อย่าง Digital Disruption และนำไปสู่ภาวะที่ ‘ต้องเปลี่ยน’ ด้วยอัตราเร่ง ไม่เพียงเป็นการสร้างความได้เปรียบในโลกธุรกิจใหม่ แต่เป็นการสร้างวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อความอยู่รอด ก่อนที่จะกลายเป็นอดีตโดยไม่รู้ตัว

 

 

ขณะที่บรรดาธนาคารพาณิชย์ประกาศเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสิ่งใหม่ๆ กันโครมคราม ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ยังคงเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป สุขุม แต่มองเกมใหญ่ในฐานะธนาคารแห่งอาเซียน สำนักข่าว THE STANDARD ติดตามแผนธุรกิจในปี 2561 และพูดคุยกับ กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย รวมถึงสิ่งมองไกลกว่าเรื่องแบงก์ด้วยกันเอง

 

ถึงเวลา Fast Forward ตั้งเป้าเป็นแบงก์ขนาดกลางปี 2565

“เราอยู่ระหว่างการปรับฐานครั้งสำคัญ เป็น Fast Forward ที่ต้องทำเร็ว แต่ใช้แรง(คน)เท่าเดิม”

 

หากย้อนไปที่จุดเริ่มต้น ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย แปลงโฉมจาก ‘ไทยธนาคาร’ และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อปี 2552 ด้วยจุดยืนสำคัญคือการเป็นธนาคารที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน แม้จะใหญ่ แต่โจทย์ในขณะนั้นไม่ง่ายเลย เนื่องจากการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ประเทศไทยที่มีก็ดุเดือดอยู่แล้ว ขณะเดียวกันการเปลี่ยนเกมธุรกิจจากของเดิมที่มีไปสู่ทิศทางใหม่ที่วางไว้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย  

 

“การเปลี่ยนแปลงนี้มิใช่เพียงการเปลี่ยนรูปแบบและสีสันของชื่อและโลโก้ของธนาคารเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าเรามีพันธสัญญาทางธุรกิจที่จะสนับสนุนให้ลูกค้าของธนาคารแสวงหาโอกาสทางการเงินอีกด้วย และในการก้าวรุดไปข้างหน้านั้น เราจะใช้การต่อยอดบนฐานทางธุรกิจที่มีอยู่ภายในกลุ่มเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางด้านการเงินที่ครบวงจร เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหมาะสม” เป็นคำกล่าวของ สุภัค ศิวะรักษ์ ซีอีโอในขณะนั้น (2552)

 

หนึ่งทศวรรษผ่านไป แม้จะยังไม่ใช่ผู้เล่นรายใหญ่ในประเทศไทย แต่ภาพลักษณ์และทิศทางของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ถือว่าชัดเจนขึ้นมาก มีผู้นำองค์กรคนใหม่ที่พร้อมประกาศเร่งเครื่องไปข้างหน้าด้วยแนวคิด Fast Forward ซึ่ง กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศว่าปี 2561 นี้เป็นก้าวแรกสู่หนทางการเป็นธนาคารระดับกลาง ซึ่งจะต้องมีกำไรก่อนหักภาษีไม่น้อยกว่า 1.2-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี มีสถานะทางการเงินที่มั่นคง และเป็นสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งด้านอาเซียนมากที่สุด เขาเชื่อว่าความฝันนี้จะเป็นจริงได้ในปี 2565

 

 

แบงก์ปรับฐานและกระบวนการทำงาน รวมถึงเพิ่มอัตรากำลังในธุรกิจที่ธนาคารมีศักยภาพ ซึ่งกิตติพันธ์มองว่าทำได้น่าพอใจทีเดียว หากพิจารณาจากข้อมูลสำคัญพบว่า ในปี 2560 ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มีสินทรัพย์ราว 3 แสนล้านบาท อัตราเติบโตของสินเชื่อ 3.2% กำไรก่อนหักสำรองปรับเพิ่มเป็น 5.7 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% กำไรสุทธิกลับมาเป็นบวกที่ 385 ล้านบาท อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมอยู่ที่ 57.9% มีจำนวนสาขา 86 แห่ง และพนักงานกว่า 3.7 พันคนที่ต้องดูแล

 

“ถึงแม้ Cost to Income Ratio ของเราจะสูงเมื่อเทียบกับแบงก์อื่นที่อยู่ที่ 40-50% แต่เมื่อย้อนกลับไปตอนที่เราเริ่มซื้อกิจการต่อจากไทยธนาคารเมื่อปี 2552 ตอนนั้นสัดส่วนนี้มีมากกว่า 90% มันสะท้อนการบริหารรายจ่ายดีที่ขึ้น มีพัฒนาการทั้งการสร้างรายได้และการทำงานที่มีประสิทธิภาพขึ้น”

 

ซีอีโอของแบงก์ซีไอเอ็มบี ไทย ยอมรับว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ยาก แม้จะเห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เติบโต แต่พบว่าเศรษฐกิจไทยยังส่งสัญญาณอิ่มตัวให้เห็นชัดเจน นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อเนื่องจากการปิดตัวลงของธุรกิจโรงสีที่เคยเฟื่องฟูในช่วงโครงการรับจำนำข้าว รวมทั้งหนี้เสียทั้งระบบยังเป็นเรื่องใหญ่มากที่ตอนนี้ทุกธนาคารต้องเผชิญ ธุรกิจสำหรับลูกค้ารายย่อยถือเป็นดาวเด่นที่เติบโตถึง 10% โดยกลุ่มลูกค้า Wealth ยังให้การตอบรับที่ดี ขณะที่สินเชื่อรถเติบโตดีมากต่อเนื่อง

 

เมื่อพิจารณาส่วนลูกค้าองค์กร พบสัญญาณชะลอตัวกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ที่น่าห่วงคือลูกค้า SMEs ที่มีปัญหาหนี้มากและหดตัวชัดเจน ซึ่งธนาคารได้ปรับแนวทางและจะรุกตลาด SMEs ต่อไปบนพื้นฐานที่แข็งแกร่งมากขึ้น

 

 

สำหรับแผนธุรกิจในปี 2561 ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ไม่ได้ตั้งเป้าไว้หวือหวา หรือจะสร้างทอล์กออฟเดอะทาวน์ใดๆ หากแต่ยังคงเดินหน้าเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปสไตล์ซีไอเอ็มบี โดยควบคุมอัตราของหนี้เสียไว้ให้ต่ำกว่า 5% เพิ่มการตั้งสำรองให้มากขึ้นเป็น 100% ตามกำลังของสถานะทางการเงินที่มีและเอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจ นอกจากนี้ยังตั้งเป้าสินเชื่อโต 5% โดยอัตราการปล่อยกู้ต่อฐานเงินฝากอยู่ที่ 97-100%

 

กิตติพันธ์มองว่าปีนี้จะยังเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ และผลของการเปลี่ยนแปลงนี้จะเริ่มเห็นดอกผลที่ชัดเจนในกลางปี 2562 เป็นต้นไป เขาเน้นย้ำจุดยืนสำคัญที่เป็นข้อได้เปรียบทางธุรกิจของซีไอเอ็มบีที่เป็นสถาบันการเงินชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งจากนี้ต่อไปจะเห็นดีลธุรกิจที่สำคัญในอาเซียนต่อเนื่อง ทั้งเงินทุนที่หลั่งไหลไปขยายฐานที่อินโดนีเซีย และที่สำคัญคือประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV คือกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงและขณะนี้มีธุรกิจไทยจำนวนมากให้ความสนใจ ซึ่งยังเชื่อว่า Top of Mind ของพี่เลี้ยงที่ผู้ประกอบการอยากจะจับมือไปลุยตลาดอาเซียนยังคงเป็นแบรนด์ซีไอเอ็มบี

 

“การที่เราเป็นแบงก์ระดับภูมิภาค เรามีความสัมพันธ์กับบริษัทใหญ่ในอาเซียนแทบทุกบริษัท เดี๋ยวนี้แบงก์ระดับโลกบทบาทลดลงไปมาก เพราะในแบงก์ภูมิภาค รวมถึงแบงก์ไทยเก่งขึ้นเยอะ ในอนาคตเราจะช่วยลูกค้าพัฒนาห่วงโซ่อุปทานข้ามประเทศได้ เพราะเราเห็นว่าประเทศไหนต้องการอะไรและมีโอกาสตรงไหนที่ธุรกิจไทยจะไปเติมได้” กิตติพันธ์กล่าว

 

 

นอกจากนี้ THE STANDARD ยังได้มีโอกาสพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับซีอีโอของซีไอเอ็มบี ไทย และพบว่าสิ่งที่บรรดานายแบงก์กังวลในตอนนี้อาจไม่ใช่การแข่งขันในวงของธนาคารด้วยกันเอง แต่การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่(และใหญ่)ในคราบของ ‘Non-bank’ เป็นเรื่องที่ต้องจับตา

 

“เราต้องจับตาดู เพราะพวกเขาเก่ง อันนี้ต้องยอมรับ พวกเขามีต้นทุนต่ำกว่าเราเยอะ แบงก์มีต้นทุน 40-50% แต่นอนแบงก์ที่เข้ามาทำธุรกิจการเงินบนแพลตฟอร์มของตัวเองมีต้นทุนประมาณ 20% เท่านั้นก็เข้ามาแข่งให้สินเชื่อกับเราได้แล้ว ใครจะไปรู้ วันข้างหน้ายักษ์ใหญ่ค้าปลีกก็อาจมาแข่งด้วยก็ได้ เพราะฐานข้อมูลเขามีอยู่แล้ว เทคโนโลยีก็มี”

 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักการเงินที่เห็นวัฏจักร มายา และปรากฏการณ์ยักษ์ล้มของอุตสาหกรรมการเงินมาหลายครั้ง กิตติพันธ์เชื่อว่ากลุ่มสถาบันการเงินผ่านวิกฤตมาแล้วหลายครั้ง และมีประสบการณ์พอตัวกับเรื่อง Credit Cycle ขณะที่กลุ่มนอนแบงก์อาจยังไม่เคยเผชิญกับปัญหาในระดับที่ธนาคารเคยเจอ แม้เทคโนโลยีจะเก่งกาจและแม่นยำในเรื่องการวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อการปล่อยกู้สินเชื่อ แต่เรื่องการติดตามหนี้ (Debt Collection) ยังเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความเข้าใจและทักษะการบริหารจัดการระดับสูงในมิติที่มากกว่าเหตุผลของระบบจะเข้าใจได้

 

ยังไม่นับรวมการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากเครื่องมือทางการเงิน (IFRS 9) ที่บรรดาธนาคารพาณิชย์ต้องเผชิญในปี 2562 และจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินผ่านตัวเลขทางบัญชีของบรรดาแบงก์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงถือว่าปี 2561 ก็จะยังไม่ใช่ปีที่ง่ายเลยของอุตสาหกรรมนี้ ผู้ที่ปรับตัวทัน รับมือได้ดี และวางหมากได้ถูกจุด ก็จะยังก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง

 

ไม่ต้องตีลังกาแหวกแนวหรือทำอะไรหวือหวา แต่ก็เติบโตได้เรื่อยๆ อย่างที่ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ทำ     

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising