*ขอบคุณ ‘ความคลั่งรัก’ ของเพจไดโนเศร้า และ ‘ความเหงา’ ของหว่องกาไว ที่เป็นแรงบันดาลใจในบทความนี้*
สารภาพว่าตอนเด็กมากๆ ที่ดูหนังเพราะคาดหวังแค่ความสนุก เราเคยดู Chungking Express (1994) ไม่รู้เรื่องแม้แต่นิดเดียว จนวันหนึ่งที่อายุมากขึ้น เริ่มรู้ว่าเสน่ห์ของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ความสนุกที่เคยตามหา แต่เป็นความรู้สึกลึกๆ บนสีหน้า แววตา อากัปกิริยา และบทสนทนา (ที่เมื่อก่อนไม่เคยเข้าใจ) ของตัวละครที่ซ่อนอยู่
ไม่แน่ใจว่าเราเริ่มเข้าใจสิ่งนั้นเมื่อไร แต่คุ้นๆ ว่าประสบการณ์ส่วนตัวในตอนนั้นน่าจะมีอาการ ‘อกหัก’ และ ‘ความเหงา’ มานั่งเป็นเพื่อนดูหนังอยู่ข้างๆ เราด้วย และหลังจากนั้น Chungking Express ก็กลายเป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรดที่กลับมาดูได้ซ้ำๆ รวมทั้งรอบล่าสุดในโปรเจกต์ The World of Wong Kar-Wai’s Retrospective ของสหมงคลฟิล์ม
ตอนแรกเราคาดหวังแค่ว่าจะได้กลับไปดูชีวิตของตัวละครที่เรารักบนจอใหญ่ แต่เพราะเราดันไปรู้จักกับเพจ @ไดโนเศร้า (แท็กเพจ ไดโนเศร้า | Facebook) ที่กำลังเผยแพร่ลัทธิ ‘คนคลั่งรัก’ ให้ระบาดอย่างหนัก จนเราอดคิดไม่ได้จริงๆ ว่าถ้าหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันแล้วชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร
พวกเขาอาจจะเปลี่ยนจากการส่งจดหมาย ใช้เพจเจอร์หรือโทรศัพท์บ้านเพื่อส่งข้อความ เป็นการกดปุ่มแชร์สเตตัสของไดโนเศร้า เพื่อส่งข้อความไปถึง ‘ไอ้ต้าว’ ทั้งหลาย หรือไม่แน่ ปรมาจารย์ผู้กำกับอย่างหว่องกาไว อาจเป็นหนึ่งในแอดมินเพจไดโนเศร้าอยู่ด้วยก็ได้ใครจะไปรู้
ก่อนหน้านี้เราเคยโฟกัสเฉพาะประเด็น ‘วันหมดอายุ’ แต่คราวนี้เรารู้สึกว่า Chungking Express คือหนังที่ช่วยส่งเสียงแทนชาวคลั่งรัก เพราะถ้าลองหยิบ ‘ประโยคจำ’ ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวละครต่างๆ มากางดูอีกครั้ง เราจะเห็น ‘สมการ’ ที่เหมือนใช้คนละตัวแปร แต่มีความสอดคล้องกันอยู่ ชนิดที่ถ้าเติมข้อความไปข้างหลังเพียงเล็กน้อยก็อาจมีคนเข้าใจว่าเป็นข้อความจากเพจไดโนเศร้าได้เหมือนกัน เช่น
“ในช่วงเวลาที่อยู่ใกล้กันที่สุด เราอยู่ห่างกันเพียง 0.01 เซนติเมตร อีก 55 ชั่วโมงต่อมา ผมตกหลุมรักผู้หญิงคนนี้ >> แหม ขุดหลุมเก่งจังเลยนะ ไอ้ตะเล้กผมทองฟัดหัวใจโลกตะลึง”
“ในเวลาผิดหวังเรื่องความรัก ผมจะออกไปวิ่ง เพราะการวิ่งจะเผาผลาญน้ำในร่างกาย มันจะได้ไม่มีเหลือมาเป็นน้ำตา >> แล้วจะได้มีแรงมาวิ่งไล่ตามแกต่อได้ยังไงล่ะ อย่าเอาแต่วิ่งอย่างเดียว ช่วยกลับมาตอบแชตเราด้วยน้า ไอต้าวหนูผีวิ่งหนีเก่งจริงๆ เลย”
“ถ้าความทรงจำสามารถบรรจุกระป๋องได้ ผมหวังว่ามันจะไม่มีวันหมดอายุ ถ้าต้องมี ผมขอให้มันเป็น 10,000 ปี >> ช่วยอยู่ทำร้ายกันไปนานๆ เลยน้า ไอ้ต้าวสับปะรดกระป๋องหมดอายุวันที่ 1 พฤษภา”
ตัวอย่างประโยคจาก ‘คนคลั่งรักหมายเลข 1’ ในนามของ เหอจื้ออู่ หรือ นายตำรวจหมายเลข 223 (ทาเคชิ คาเนชิโร) หนุ่มช้ำรักที่ชอบสร้างเงื่อนไขประหลาดให้ชีวิต และเชื่อว่าทุกอย่างบนโลกล้วนมีวันหมดอายุ แน่นอนว่า ‘ความรักเองก็เช่นกัน’
เขาถูก อาเมย์ แฟนสาวบอกเลิกในวันที่ 1 เมษายน 1994 และกำหนดเงื่อนไขแรกว่า ถ้าเธอไม่กลับมาภายใน 1 เดือน ความรักของเขาและเธอเป็นอันสิ้นสุด ชีวิตประจำวันของเขาไม่มีอะไรมากไปกว่าการออกไปวิ่ง เพราะเชื่อว่าเหงื่อที่ระเหยออกมาจะทำให้ไม่เหลือน้ำไหลออกมาจากดวงตาอีกต่อไป
หลังจากนั้นเขาไปยืนที่หน้าโทรศัพท์สาธารณะเครื่องเดิม เพื่อโทรไปเช็กว่าคนรักของเขาทิ้งข้อความอะไรไว้หรือเปล่า และไปหาซื้อสับปะรดกระป๋องที่จะหมดอายุในวันที่ 1 พฤษภาคม 1994 มากิน
พร้อมกับตั้งเงื่อนไขในชีวิตไว้อีก 2 อย่างคือ ถ้าคนรักของเขาไม่กลับมา เขาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงชื่อเมย์อีกตลอดชีวิต และในขณะที่นั่งหมดอาลัยอยู่ในบาร์แห่งหนึ่ง เขาสัญญาว่าจะตกหลุมรักผู้หญิงคนแรกที่เดินเข้ามา และเขาได้เจอกับ ‘ผู้หญิงผมทอง’ ในชุดกันฝนกับแว่นกันแดดที่เข้ามาในชีวิต
และวันนั้นก็จบลงไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากเฝ้ามองเธอหลับและเอาเนกไททำความสะอาดรองเท้าส้นสูงให้เธอ เพราะแม่เคยสอนเขาไว้ว่า ผู้หญิงคู่ควรกับรองเท้าที่สวยงาม
“เธอบอกว่าอยากเปลี่ยนรสชาติดูบ้าง ก็จริงของเธอ ถ้าเลือกอาหารได้ ทำไมจะเลือกผู้ชายไม่ได้ >> แต่ถ้าเลือกแล้วไปไม่ไหว กลับมาทางนี้ก็ได้น้า จะซื้อเชฟสลัดและทุกอย่างที่เธอชอบให้กินทุกวันเลยค้าบ ไอ้ต้าวพิซซ่าช่างเลือก”
“ผมคิดว่าเราสองคนจะบินไปด้วยกันได้ไกล เหมือนกับเครื่องบินเจ็ตที่มีน้ำมันอยู่เต็มถัง แต่แล้วเครื่องบินของเรากลับเปลี่ยนเส้นทาง >> แล้วก็อวยพรให้เธอเจอคนที่ดีกว่าเรา แต่บอกได้เลยว่าหายังไงก็ไม่มีทางเจอหรอกนะ ไอ้ตะเล้กปลาทองความจำสั้นที่หลงทางกลับมาหาเค้าไม่ถูกซะที”
ต่อมาคือตัวอย่างประโยคจากนายตำรวจหมายเลข 663 (เหลียงเฉาเหว่ย) ‘คนคลั่งรักหมายเลข 2’ ที่เหงาและผิดหวังจากความรักเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างจากนายตำรวจหมายเลข 223 คือ เขาไม่เคยกำหนดเงื่อนไขใดๆ ให้กับความรัก เขาเพียงใช้ชีวิตต่อไป เพราะเชื่อว่าทุกอย่างต้องใช้ ‘เวลา’ กว่าที่สิ่งนั้นจะหายไป
ทุกวันของเขาวนเวียนซ้ำๆ อยู่กับการกินกาแฟดำ ออกไปทำงาน เข้าเวรกะดึก และกลับไปปลอบใจสิ่งของในห้องที่เขาเชื่อว่าทุกอย่างในห้องก็เสียใจกับการจากไปของแฟนเก่าเหมือนกัน เขาบีบน้ำตาให้ผ้าเช็ดตัว เป็นห่วงสบู่ที่เศร้าจนตัวเล็กลง พูดคุยกับตุ๊กตา และบอกกับฝักบัวว่าหยุดร้องไห้ได้แล้ว
คุณคิดว่านายตำรวจคนนี้เข้าข่าย ‘คลั่งรัก’ พอหรือยัง ถ้ายัง เราขอเชิญทุกคนพบกับ อาเฟย (เฟย์หว่อง) ‘คนคลั่งรักหมายเลข 3’ ที่ปรากฏตัวขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนคลั่งรักหมายเลข 2 ให้ค่อยๆ ดีขึ้นมา
“ฉันให้เวลาตัวเอง 1 ปีในจดหมายนั้น คืนนั้นฝนตกหนักเหมือนคืนนี้ เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่าง ฉันก็คิดถึงใครคนหนึ่ง ฉันอยากรู้ว่าเขาได้เปิดจดหมายของฉันไหม >> แต่จะเปิดหรือไม่เปิดก็ไม่เป็นไร เพราะตั้งแต่บอกว่าจะไปอาบน้ำในคืนนั้น แกก็ไม่เคยกลับมาตอบข้อความเราอยู่แล้ว แกคงรักความสะอาดมากเลยสินะ ไอ้ต้าวสบู่ก้อนตัวหอมฉุย”
อาเฟยคือตัวอย่างคนคลั่งรักที่พูดน้อย แต่เน้นลงมือทำจนหลายคนอาจมองว่าน่ากลัว เธอแอบวนเวียนอยู่ในสายตาของนายตำรวจหมายเลข 663 อยู่ตลอด ชวนคุยเมื่อเห็นว่าเขาเหงา คอยเสิร์ฟกาแฟดำให้โดยไม่ต้องร้องขอ
หนักข้อเข้าก็แอบไขกุญแจห้อง ไปทำความสะอาด จัดระเบียบข้าวของเครื่องใช้ ผ้าเช็ดตัว สบู่ก้อนอ้วน ปลาทองตัวใหม่ ปลากระป๋องที่อร่อยกว่าเดิม ไปจนถึงตุ๊กตายักษ์ที่เจ้าของยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามันไม่ใช่ตัวเดิมอีกต่อไปแล้ว
ในวันที่ความจริงเปิดเผย ทั้งคู่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าพูดคุยกันเล็กน้อย นวดเท้าให้ฝ่ายหญิง ผล็อยหลับบนโซฟาไปด้วยกัน และแยกย้ายกันไปใช้ชีวิต โดยมีตั๋วเครื่องบินในอีก 1 ปีข้างหน้า ที่เป็นเหมือนเครื่องยืนยันความสัมพันธ์ของทั้งคู่ว่าจะ ‘หมดอายุ’ ไปก่อนหรือเปล่า
และเพื่อไม่ให้เสียชื่อ ‘คนคลั่งรัก’ ทั้งคู่ที่ถึงแม้ไม่ได้ติดต่อ ไม่รู้ความเคลื่อนไหวของกันและกันมาตลอด 1 ปีเต็ม ก็ยังกลับมาเจอกันอีกครั้งในสถานที่เริ่มต้นความสัมพันธ์ คนหนึ่งเป็นแอร์โฮสเตสสาว (อาชีพเดียวกับแฟนเก่าของนายตำรวจ) อีกคนรับช่วงต่อกิจการร้านอาหารที่อาเฟยเคยทำงานอยู่ พร้อมกับบทสนทนาที่เติมเต็มหัวใจของชาวคลั่งรัก
“คุณอยากไปที่ไหนล่ะ”
“ที่ไหนก็ได้ที่คุณจะพาผมไป >> อย่าหนีเค้าไปไหนอีกน้า ไอ้ต้าวความรัก”
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: