วานนี้ (18 พฤศจิกายน) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA (โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และวัคซีนจุฬาฯ) ในงานเสวนา CHULA the Impact ครั้งที่ 5
โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ในฐานะผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ (วัคซีน ChulaCov19) เปิดเผยความคืบหน้าของวัคซีน ChulaCov19 ในช่วงหนึ่งของงานเสวนาว่า ขณะนี้วัคซีน ChulaCov19 วัคซีนเทคโนโลยี mRNA ที่จุฬาฯ ผ่านการทดลองในคนระยะที่ 1-2 ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยผลเบื้องต้นวัคซีนพบว่าผู้เข้าทดลองมีอาการข้างเคียงเล็กน้อย แต่ยังไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง ตัววัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีไม่น้อยกว่าวัคซีน Pfizer อีกทั้งยังสามารถป้องกันสายพันธุ์ได้หลากหลาย เช่น อัลฟา, เบตา และเดลตา ที่ยังมีการระบาดทั่วโลกเวลานี้
“ผลสรุปเบื้องต้นวัคซีนมีความปลอดภัย ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงมากกว่าผู้ติดเชื้อธรรมชาติ ได้ประสิทธิภาพสูงไม่ด้อยกว่าวัคซีน Pfizer ที่เป็นเทคโนโลยีเดียวกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่การทดลองในคนระยะที่ 3 เพื่อเห็นว่าไม่ได้ด้อยกว่าเมื่อเทียบกับ Pfizer ซึ่งได้ผลิตวัคซีนบรรจุขวด Made in Thailand เรียบร้อยแล้ว” ศ.นพ.เกียรติกล่าว
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอทดสอบคุณภาพ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนจะเริ่มรับอาสาสมัครได้ก่อนสิ้นปีนี้ ฉีดจริงต้นปีหน้า ดูผลในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อรวบรวมข้อมูลขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉินกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หากเป็นไปตามแผนคาดจะได้ใช้จริงในกลางปี 2565
อ้างอิง: