×

‘จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส’ เสน่ห์การซื้อขายแบบ Facebook Groups จุดเริ่มต้นจากเพื่อนธรรมศาสตร์

15.04.2020
  • LOADING...

ช่วงนี้หน้าฟีดของหลายคนน่าจะเห็น Facebook Groups จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ผ่านตาเป็นจำนวนมาก ในช่วงที่ต้องรักษาระยะห่าง หมกตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้แอดมิน หรือคนก่อตั้งมีไอเดียคลายเหงา ตั้งกลุ่มเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อให้ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันมาแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อซื้อขายสินค้าต่างๆ เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญ เพราะนอกจากซื้อสินขายสินค้าทั่วๆ ไป อาหารการกิน ของใช้เล็กๆ น้อยๆ แล้ว บางครั้งก็มีการขายที่ดินในระดับราคาพันล้านบ้าง หรือขายคอนโดบ้าง และที่น่าสนใจคือสินค้าต่างๆ ไม่ใช่แค่มีคนขาย แต่มีคนซื้อจริงๆ

 

THE STANDARD พูดคุยกับ อาร์ม-ปาณพล จันทรสุกรี ผู้ก่อตั้งและแอดมินของกลุ่ม จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ซึ่งปัจจุบัน (15 เมษายน) มีสมาชิกเกิน 1 แสนคนแล้ว

 

อาร์ม เป็นศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รหัส 51 ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทอีเวนต์ ออร์แกไนเซอร์ และมาร์เก็ตติ้ง เอเจนซี อาร์มเล่าให้ฟังว่าทั้ง 2 บริษัทที่ทำงานอยู่รายรับเป็นศูนย์ เพราะงานต่างๆ ก็ต้องงดจัดหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19

 

จุดเริ่มต้นมาจากที่คุณแม่ของอาร์ม หลังจากเกษียณแล้วก็เปิดรับออร์เดอร์ขนมเล็กๆ ตนเองก็ไปช่วยบ้างวันเสาร์-อาทิตย์ แต่พอช่วงนี้ว่างก็เลยได้อยู่บ้าน เลยอยากจะเปิดรับออร์เดอร์มากขึ้น ประกอบกับเพื่อนที่ทำงานเห็นจึงได้นำไปช่วยโพสต์ขายในกลุ่มหมู่บ้าน ซึ่งมีสมาชิกเพียง 3-4 ร้อยคน แต่มียอดออร์เดอร์อยู่พอสมควร

 

จากนั้นเมื่อตนเองเห็นกลุ่มธรรมศาสตร์และการฝากร้านเริ่มคึกคักเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา จึงได้ตั้งกลุ่มดึงเพื่อนๆ ใกล้ชิดที่สนิทกันเข้ามาก่อน ซึ่งตอนแรกมีเป้าหมายแค่อยากขายขนมของตนเอง วันแรกก็มีสมาชิกประมาณ 8,000 คน

 

พอวันรุ่งขึ้นเริ่มมีคนเข้าร่วมกลุ่มมาซื้อขายหลักหมื่น ก็เลยมีการตั้งทีมงานที่อยู่ที่บริษัทมาช่วยกันดู เพื่อคัดกรองให้กลุ่มมีคุณภาพ และหลังจากนี้อาจต่อยอดในการทำ Offline Market หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันศักยภาพของทีมงานและตนเองก็พร้อมอยู่แล้ว เนื่องจากทำอีเวนต์ ออร์แกไนเซอร์อยู่แล้ว

 

สิ่งหนึ่งที่ทำให้การขายของในกลุ่มได้รับความนิยมคือความเป็นกันเอง และมีการบอกต่อแบบปากต่อปาก บางคนอาจขายขนม พอเข้ามานอกจากขายขนมแล้วก็ยังได้อุดหนุนอาหารของอีกคน พอกินอร่อยก็บอกต่อ เสมือนเป็นการแลกเปลี่ยนพึ่งพาอาศัยกันในยามที่ทุกคนอาจอยู่ในสภาวะวิกฤตหรือขาดรายได้

 

อาร์มกล่าวทิ้งท้ายว่า “เสน่ห์อย่างหนึ่งของการขายของในกลุ่ม Facebook คือเราได้เห็นตัวตนซึ่งกันและกัน ต่างจากที่เราเปิดเพจ เรามักจะไม่รู้จักตัวตนกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อ ผู้ขาย มีความเป็นกันเองมากยิ่งขึ้น”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X