×

ชื่นแช่ม รามราชภักดี: ผู้พยายามยกระดับแม่บ้านแม่เรือนหลังปฏิวัติ 2475

26.01.2021
  • LOADING...
ชื่นแช่ม รามราชภักดี: ผู้พยายามยกระดับแม่บ้านแม่เรือนหลังปฏิวัติ 2475

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ชานันท์ ยอดหงษ์ เปิดคอลัมน์ ‘แม่ก็คือแม่’ กับ THE STANDARD เพื่อเล่าถึงผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญ คุณูปการต่อสาธารณประโยชน์ เป็นผลผลิตและหมุดหมายวิวัฒนาการสังคม แต่ถูกลืม โลกไม่จำ ไม่ถูกพูดถึง ตั้งใจเขียนเพื่อรำลึกถึงและขอบคุณพวกเธอ
  • ชื่นแช่ม รามราชภักดี เป็นภรรยาข้าราชการสำคัญที่พยายามจะยกระดับสถานภาพสตรี และเผยแพร่ความรู้สำหรับแม่บ้านแม่เรือนภรรยาข้าราชการให้มีบทบาทสาธารณะสมกับการปฏิวัติสยาม 2475
  • ชื่นแช่มได้ก่อตั้งสมาคมสตรีศรีลานนาไทยที่เชียงใหม่ เพื่อให้เป็นเครือข่ายสตรีขนาดใหญ่ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผู้หญิง สร้างโรงเรียนประชาชน และงานสาธารณประโยชน์ต่างๆ
  • มีงานเขียนหลายชิ้นของเธอที่เป็นคู่มือแม่บ้านบ้านเรือน และให้ความสำคัญกับผู้หญิงในฐานะพลเมือง มากกว่าจะเป็นเพียงแม่และเมียเท่านั้น และปลุกใจพลเมืองหญิงในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจ

ชื่นแช่ม รามราชภักดี (พ.ศ. 2449-2524) เป็นอีกสตรีผู้หนึ่งที่พยายามจะยกระดับสถานภาพสตรี และเผยแพร่ความรู้สำหรับผู้หญิง 

 

เธอโตมาในสังคมข้าราชการที่มักเต็มไปด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจในครอบครัว สามีและภรรยามีสถานภาพแตกต่างกันอย่างชัดเจน นอกเหนือจากการจัดระดับชั้นระหว่างภรรยาน้อย ภรรยาหลวง 

 

อย่างไรก็ตาม การที่เธอเป็นลูกสาวชนชั้นนำ ก็ทำให้เธอได้เข้าถึงทรัพยากรทางสังคมมีโอกาสและสถานะที่ดีกว่าหญิงชนชั้นอื่น ซึ่งก็ช่วยประกอบสร้างให้เธอเป็นหญิงที่มีความรู้ความสามารถได้ไม่ยาก

 

เธอเป็นลูกสาวของพระยาวิเชียรปราการ (ชื้น คชภูมิ) กับแย้ม นามสกุลเดิม อิศรางกูร สามีของชื่นแช่มคือพระยารามราชภักดี (สวัสดิ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา) ข้าราชการมหาดไทยว่าราชการในหลายจังหวัด

 

 

แม่บ้านแม่เรือนไม่ใช่แค่มีหน้าที่แม่และเมียเท่านั้น

 

สำหรับเธอ ภรรยาจะต้องมีความรู้เป็นเพื่อนคู่คิดสามีได้ ไม่ใช่หญิงรับใช้ปรนนิบัติสามี มีพื้นที่จำกัดแต่ในครัวเรือนหรือสมบัติประดับบารมีสามี แต่ต้องเคียงข้างสามีบนพื้นที่สาธารณะ และมีบทบาทสำคัญนอกบ้านได้ 

 

ดังนั้น ผู้หญิงจึงต้องรู้จักมารยาทการเข้าสังคม รู้จักการทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภรรยาของข้าราชการ เธอจึงได้เขียนตำราหลักปฏิบัติสำหรับภรรยาราชการ โดยภรรยาข้าราชการเอง เรื่อง ‘บุคคลิกภาพภรรยานักปกครอง’ จากประสบการณ์ที่พบเห็นมาจากการที่เธออยู่ในแวดวงราชการ ให้เป็นคู่มือให้กับผู้หญิงที่เป็นภรรยาของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ชนชั้นนำ นักปกครอง ในฐานะที่ภรรยามีผลต่อหน้าตา ความสง่างามของสามี สามารถให้คุณให้โทษแก่สามีได้ในวงการราชการ ทั้งเป็นผู้ปกครองหรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา

 

ต่อมาเธอแต่งนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ‘วีรสตรีที่ประวัติศาสตร์ลืม’ เพื่อแสดงให้เห็นถึงผู้หญิงก็มีบทบาทในเรื่องการเมืองภาครัฐ การสงคราม ยอมสละความสุข ความรักส่วนตัวเพื่อชาติได้ หากแต่ไม่ได้อยู่ในความสนใจของประชาชน ผ่านตัวละคร ‘พระสุพรรณกัลยาณี’ และได้นำมาตีพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานศพพ่อของเธอ

 

 

การก่อตั้ง ‘สมาคมสตรีศรีลานนาไทย’ พ.ศ. 2491

 

ในช่วงเวลาที่เธอติดตามสามีไปปฏิบัติราชการที่เชียงใหม่ช่วง พ.ศ. 2489-2490 และได้เห็นว่าเชียงใหม่มีอุตสาหกรรมในครัวเรือน ผู้หญิงในพื้นที่เองสามารถแบ่งเวลามาทำงานสาธารณะ และตื่นตัวที่จะสร้างสาธารณะกุศล บำเพ็ญประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทางศาสนา เธอจึงก่อตั้งสมาคมของผู้หญิง ‘สมาคมสตรีศรีลานนาไทย’ และจดทะเบียนใน พ.ศ. 2491

 

แช่มชื่นตั้งข้อสังเกตว่า เชียงใหม่มีวัดมาก แต่ไม่มีโรงเรียนอนุบาลของรัฐ ผู้ปกครองต้องฝากลูกเรียนโรงเรียนคริสต์ศาสนาแทน ทำให้ชาวเชียงใหม่ที่มีการศึกษาสมัยใหม่ขณะนั้นนับถือศาสนาคริสต์มากขึ้น เพราะมีสถาบันขัดเกลาตั้งแต่เด็ก ซึ่งรวมถึงลูกสาวเธอด้วย เพราะเธอเองก็ส่งลูกสาวไปเรียนในโรงเรียนมิชชันนารี เธอเห็นว่าลูกของเธอไหว้พระเยซูมากกว่าพระพุทธเจ้า จึงร่วมมือกับข้าหลวงประจำจังหวัด ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และภรรยา หาเงินในการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ป้องกันเด็กในพื้นที่เปลี่ยนศาสนาไปตามระบบการศึกษาสมัยใหม่โดยมิชชันนารี เธอของบประมาณจากรัฐบาลสร้างโรงเรียนอนุบาลในพื้นที่วัด

 

และเพื่อหาเงินสร้างโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ชื่นแช่มจึงเขียนหนังสือชื่อเดียวกับสมาคม ‘สตรีศรีลานนาไทย’ พิมพ์ 200,000 เล่ม ขายราคาเล่มละ 5 บาท เพื่อเป็นคู่มืออนามัยสำหรับแม่บ้าน ให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อนามัย ตั้งแต่การจ่ายตลาดเลือกเนื้อสัตว์ การทำความสะอาดก่อนนำมาทำอาหาร ความรู้ด้านเชื้อโรค พยาธิและการกำจัด การแต่งบ้านให้สวยงามในราคาประหยัด และสำหรับบ้านที่มีพื้นที่แคบ รวมถึงสูตรทำอาหารคาวหวาน

 

สมาคมสตรีศรีลานนาไทยของเธอมีสมาชิกถึง 400 คน และกลายเป็นการสร้างเครือข่ายชุมชนระหว่างผู้หญิงชนชั้นนำเก่า ตระกูลชนชั้นเจ้าจากอาณาจักรล้านนา กับประชาชนหญิง นักธุรกิจ และข้าราชการจากกรุงเทพฯ ในฐานะผู้อุปถัมภ์สมาคม และได้จัดกิจกรรมพบปะสมาคมทุกเดือน เพื่อแสดงวิธีประดิษฐ์ของใช้ ทำดอกไม้ อาหารคาวหวาน และกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ต่างๆ เช่น ช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นกลับคืนภูมิลำเนาเดิม อุปถัมภ์นักเรียนที่ไม่มีผู้อุปการะ ช่วยเหลือครอบครัวยากจน ผู้ไม่มีอาชีพแน่นอน ช่วยเหลือด้านการศึกษาให้ครอบครัวผู้มีลูกมาก และในช่วงสงครามเกาหลีก็ได้ส่งของขวัญให้ทหารที่ไปรบ

 

สมาคมของเธอเป็นที่สนใจของสตรีหัวก้าวหน้าขณะนั้นเป็นอย่างมาก นิตยสารสตรีสารที่ถือว่าเป็นนิตยสารผู้หญิงหัวก้าวหน้าในขณะนั้นลงข่าวชื่นชมสนับสนุนสมาคมของเธอ

 

‘สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีลานนาไทย’ พ.ศ. 2497

 

ต่อมารัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีโครงการที่จะตั้งสมาคมสตรีประจำจังหวัดทั่วประเทศ ในนาม ‘สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง’ สมาคมสตรีของเธอจึงได้น้อมรับนโยบายเข้าร่วมกับโครงการเป็น ‘สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีลานนาไทย’ จังหวัดเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2497

 

และในคราวเปิดสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงที่จังหวัดสมุทรปราการ เธอก็ได้เขียนบทความ ‘อุดมคติของข้าพเจ้า’ ลงในหนังสือที่ระลึกวันเปิดสมาคมส่งเสริม เพื่อเชิดชูผู้หญิงที่เป็นภรรยาแม่บ้านแม่เรือนว่า

 

“ผู้ที่เกิดมาเป็นสตรีจะต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีโดยสมบูรณ์ ชาติจะเจริญได้ก็ต้องอาศัยบุคคลแต่ละครอบครัวเจริญดี ครอบครัวแต่ละครอบครัวจะเจริญได้ก็ต้องอาศัยแม่เรือนที่ดีเป็นหลัก เพราะถ้าสตรีผู้เป็นแม่บ้านแม่เรือนคนใดขาดความเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีแล้ว บ้านเรือนหรือครอบครัวนั้นย่อมประสพแต่ความเสื่อม”

 

เนื่องจากชื่นแช่มเป็นภรรยาข้าราชการชั้นสูงคนหนึ่งที่ต้องการยกระดับสถานภาพสตรี แต่พื้นที่และโอกาสของผู้หญิงยังคงมีจำกัดมากตามเงื่อนไขของค่านิยมในขณะนั้น เธอจึงเลือกให้ความสำคัญกับความหมายของสถานะแม่บ้าน ในฐานะหน้าที่ของผู้หญิงที่จะมีส่วนช่วยในการสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจตามนโยบายของรัฐบาลขณะนั้น และพยายามอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติตามนโยบายโครงการต่างๆ ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่พยายามสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจ ในฐานะที่เป็นโอกาสหนึ่งที่แม่บ้านจะมีส่วนร่วมกับกิจการบ้านเมืองได้ 

 

เธอเองก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เลื่อมใสในการทำงาน ความสามารถ และอุดมการณ์ของจอมพล ป. อย่างมาก ถึงกับเขียนสรรเสริญในคำไว้อาลัยสามีของเธอเอง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising