×

ชวน เตรียมหารือประธานองคมนตรี ร่วมถกกรรมการสมานฉันท์ในฐานะผู้มีประสบการณ์ เป็นอดีตนายกฯ

โดย THE STANDARD TEAM
05.11.2020
  • LOADING...
ชวน เตรียมหารือประธานองคมนตรี ร่วมถกกรรมการสมานฉันท์ในฐานะผู้มีประสบการณ์ เป็นอดีตนายกฯ

วันนี้ (5 พฤศจิกายน) ที่รัฐสภา ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดเผยถึงท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ประกาศไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า คณะกรรมการดังกล่าวยังไม่ได้มีการตั้งขึ้นมา โดยตอนนี้เป็นการติดต่อกับผู้ใหญ่เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นในฐานะผู้มีประสบการณ์และผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มา ซึ่งหลายท่านให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ และที่มาของคณะกรรมการปรองดองนั้นมาจาก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถ้าเราปฏิเสธไม่รับมาก็เหมือนกับการมองข้ามความสำคัญของการแก้ไข เราต้องทำการเมืองให้การเมืองในระบอบรัฐสภามีความมั่นคงและไม่มีปัญหามากเกินไป หรือเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงและการประทุษร้าย 

 

ชวนกล่าวต่อไปว่า ไม่มีอะไรแก้ได้ร้อยทั้งร้อย แต่ถ้าเราลดลงมาได้ก็เป็นประโยชน์ คนรุ่นก่อนก็มีความขัดแย้ง เช่น มาจากการเลือกปฏิบัติ การแบ่งพรรคแบ่งพวก การใช้สื่อวิทยุชุมชนให้ร้ายไปถึงสถาบันฯ หรือบุคคล หรือขัดแย้งกันถึงขนาดที่เดินทางเข้าบางจังหวัดไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องทบทวนและแก้ไข เพื่อรองรับอนาคตที่เปลี่ยนแปลง

 

“การจะเชิญบุคคลใดมาเป็นกรรมการนั้นไม่ได้ง่าย เพราะผู้ใหญ่ที่ตนคุยด้วยไม่ได้หมายความว่าจะเข้ามาเป็นกรรมการ แต่พวกท่านเห็นด้วยกับการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ซึ่งรายละเอียดต้องหารือกันอีกครั้ง” ชวนกล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่คณะกรรมการชุดนี้จะต้องมีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามานั่งด้วย ชวนกล่าวว่า ต้องเอาความสมัครใจ ที่ตนเชิญตัวแทนพรรคฝ่ายค้านคือ สุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน มาคุย เพราะตอนนั้นฝ่ายค้านประกาศก่อนว่าจะไม่เข้าร่วมด้วย ตนจึงขอคำยืนยันจากสุทิน แต่สุทินบอกว่าขอดูแนวทางก่อน แต่วันนั้นเรื่องใหญ่คือความเห็นของ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานวุฒิสภาให้ความเห็นในทางที่เราไม่เคยมาก่อน

 

เมื่อถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะได้เห็นภาพของประธานสภาไปพบกับกลุ่มเยาวชนเพื่อให้เข้ามาร่วมกระบวนการสมานฉันท์ ชวนกล่าวว่า ตนคิดว่าใครที่เต็มใจก็จะไปคุยด้วย แต่สมมติถ้าเรามีคณะกรรมการแล้ว จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ตนมีหน้าที่ดูว่าจะเอารูปแบบอะไร จะคัดใครเข้ามา ควรเอาคนประเภทใด มองปัญหาอย่างไร แต่ไม่ถึงขั้นไปเป็นประธานเอง

 

“เราตั้งใจเอาคนที่มีความตั้งใจที่จะเห็นการปรองดอง แต่ใครที่ยื่นคำขาดมาก็เป็นเรื่องเขาไป และเราก็จะทำงานในส่วนของเราไป ผมบอกเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าไปแล้วว่าให้แยกระหว่างเรื่องการชุมนุมกับเรื่องอนาคต” ชวนกล่าว

 

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประธานวุฒิสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในระหว่างการหารือกับประธานรัฐสภา ชวนกล่าวว่าเป็นเรื่องความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งมองว่าทำให้ความขัดแย้งในเรื่องนี้ลดลงไปมาก

 

เมื่อถามว่าการหารือกับอดีตนายกรัฐมนตรีนั้นได้หารือครบทุกคนหรือไม่ ชวนกล่าวว่า ยังติดต่อ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่ได้ ตนตั้งใจจะพูดกับทุกคน แม้แต่ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ก็จะไปกราบเรียนในฐานะท่านเป็นผู้ใหญ่และเป็นนายกฯ มาเช่นกัน แต่สำหรับ ธานินทร์ กรัยวิเชียร นั้นต้องดูก่อนว่าสุขภาพท่านไหวหรือไม่ แต่จะลองไปสอบถามดู เพราะตนรู้จักกับครอบครัวท่าน

 

ชวนกล่าวต่อไปว่า การเดินสายหารือขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเมืองนั้น ไม่ได้เจาะจงเฉพาะอดีตนายกฯ เท่านั้น แต่ตั้งใจจะคุยกับอดีตประธานสภาด้วย ขณะเดียวกันการจะมีคู่ขัดแย้งเข้ามานั่งในคณะกรรมการชุดนี้หรือไม่นั้น ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของเรา จึงเป็นที่มาของการกำหนดรูปแบบของคณะกรรมการไว้หลายลักษณะ ซึ่งตอนนี้พยายามประสานงานกับบุคคลหลายฝ่าย เราตั้งใจจะเอาคนที่มีความประสงค์ร่วมมองการแก้ไขในวันข้างหน้าร่วมกัน ไม่ใช่เอามาทะเลาะกัน

 

เมื่อถามว่าการที่จะไปหารือกับประธานองคมนตรีแสดงว่าจะมีการหารือในเรื่องสถาบันด้วยหรือไม่ ชวนกล่าวว่า ไม่ครับ เรียนว่าตั้งใจจะไปกราบเรียนท่านในฐานะที่ท่านมีประสบการณ์ ไม่เกี่ยวกับเรื่องสถาบันฯ ไม่มีเหตุผลไปคุยเรื่องนั้น แต่หารือกับท่านในฐานะอดีตนายกฯ คนหนึ่ง

 

ชวนกล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวตนได้โทรศัพท์ไปขออภัยต่อบุคคลที่ สิระ เจนจาคะ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ ได้มีการต่อว่า โดยตนเองไม่ได้ตั้งใจจะประกาศชื่อพวกท่านเพื่อให้อีกคนเอาชื่อท่านมาพูดในทำนองที่ไม่เหมาะสม และยืนยันว่าตนเองไม่เคยเชิญ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มาร่วมด้วยแต่อย่างใด

 

สำหรับการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ แต่ก่อนหน้านั้นอาจจะมีการหารือกันก่อนเพื่อกำหนดแนวทางในการลงมติที่อาจใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นหากการประชุมรัฐสภาไม่จบในวันที่ 17 พฤศจิกายน จะประชุมต่อไปถึงวันที่ 18 พศจิกายน หรือถ้าไม่เห็นด้วยกับการประชุมวันที่ 18 พฤศจิกายน ก็จะต้องไปประชุมกันอีกครั้งในภายหลัง 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X