×

ถอดบทเรียนนาทีชีวิตของ คริสเตียน อีริกเซน อะไรที่ช่วยให้เรายังไม่สูญเสียเขาไป

13.06.2021
  • LOADING...
ถอดบทเรียนนาทีชีวิตของ คริสเตียน อีริกเซน อะไรที่ช่วยให้เรายังไม่สูญเสียเขาไป

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ภาพจากกล้องถ่ายทอดสดได้ถ่ายเจาะเข้าไปถึงจุดเกิดเหตุ และทำให้เราได้เห็นกองกลางอินเตอร์ มิลานในวัย 29 ปีนอนไม่ได้สติอยู่ในสนาม
  • ซิมง เคียร์ กัปตันทีมชาติเดนมาร์ก เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับคำชื่นชมมากที่สุดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเขารีบวิ่งมาดูเพื่อนทันที และเมื่อเห็นอีริกเซนนอนสิ้นสติและกำลังชัก สิ่งที่เขาทำก่อนอย่างแรกคือการป้องกันไม่ให้เพื่อนเอาลิ้นอุดปากตัวเอง เพราะเวลานั้นนั่นคือสิ่งแรกที่สำคัญที่สุด
  • ปกติแล้วเรื่องแผนการจัดการหรือมาตรการเกี่ยวกับเรื่องชีวิตและความปลอดภัยนั้นคือสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกเสมอ โดยเฉพาะในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับใหญ่ ซึ่งจะมีการกำหนดเป็น Protocol หรือมาตรการในการปฏิบัติที่ชัดเจน

นาทีที่ 41 ของการแข่งขันเกมยูโร 2020 คู่ระหว่างเดนมาร์กและฟินแลนด์ได้เกิดสิ่งที่ไม่มีใครคาดฝันขึ้น เมื่อ คริสเตียน อีริกเซน จอมทัพทีมชาติเดนมาร์กเดินเสียหลักก่อนล้มหมดสติต่อหน้าแฟนฟุตบอลที่ชมอยู่ในสนามพาร์เคน สเตเดียม

 

ภาพจากกล้องถ่ายทอดสดได้ถ่ายเจาะเข้าไปถึงจุดเกิดเหตุ และทำให้เราได้เห็นกองกลางอินเตอร์ มิลานในวัย 29 ปีนอนไม่ได้สติอยู่ในสนาม ดวงตาเบิกโพลง ท่ามกลางความตกใจของเพื่อนนักฟุตบอลทั้งทีมเดนมาร์กและฟินแลนด์ ก่อนที่ผู้ตัดสินจะหยุดเกมและทีมแพทย์ได้รุดลงมาดูอาการทันที

 

เมื่อเจ้าหน้าที่ซึ่งมาพร้อมกับเปลสนามและอุปกรณ์ในการช่วยชีวิตมาถึงตัวพร้อมกับหยิบอุปกรณ์ CPR มาเตรียมใช้ นาทีนั้นทุกคนตระหนักแล้วว่าอาการของอีริกเซนเข้าขั้นร้ายแรง

 

ขณะที่ภาพจากสัญญาณการถ่ายทอดสดยังไม่ได้ตัด (ซึ่งปกติแล้วภาพจะถูกตัดแต่คาดว่าเป็นปัญหาเรื่องของ Feed สัญญาณภาพที่มาเหมือนกันทั่วโลก แม้กระทั่งในอังกฤษเอง BBC ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนัก) ทำให้เราได้เห็นขั้นตอนการช่วยชีวิตของอดีตกองกลางท็อตแนม ฮอตสเปอร์ แม้ว่าจะมี ‘กำแพงมนุษย์’ เพื่อนร่วมทีมชาติเดนมาร์กที่มายืนบังเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของเพื่อนที่กำลังอยู่ในระหว่างนาทีชีวิตแล้วก็ตาม

 

ความกลัวเริ่มครอบงำ ไม่มีใครอยากสูญเสียใครไปในการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะกับคนที่เป็นที่รักของคนมากมายอย่างอีริกเซน

 

เวลาผ่านไปหลายนาทีแต่เหมือนกับหลายปี เสียงเชียร์กลับมาดังกระหึ่มอีกครั้งในสนาม ก่อนที่ทีมแพทย์จะนำตัวอีริกเซนขึ้นเตียงฉุกเฉินและนำตัวออกจากสนาม ซึ่ง ณ เข็มนาฬิกานั้นหลายคนเริ่มใจชื้น เพราะนั่นหมายถึงสัญญาณชีพของเขาน่าจะกลับมาแล้ว

 

ก่อนที่เราจะได้เห็นภาพของเขาปรากฏในโซเชียลมีเดีย โดยเป็นภาพระหว่างที่นอนอยู่บนเตียง ตายังลืมอยู่ และดูเหมือนจะได้สติแล้ว


ข่าวสารเริ่มไหลหลั่งพรั่งพรู ทุกคนเกาะติดกันไม่ใช่แค่นาทีต่อนาที แต่เป็นวินาทีต่อวินาที เพราะสิ่งที่ทุกคนอยากรู้คืออีริกเซนยังอยู่กับพวกเราทุกคนใช่ไหม

 

beIN SPORTS รายงานเป็นที่แรกว่าอีริกเซนยัง ‘มีชีวิต’ ก่อนที่จะมีแถลงการณ์จากยูฟ่าตามมาว่าอีริกเซนมีอาการคงที่และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล Rigshospitalet ในเมืองโคเปนเฮเกนแล้ว

 

พลันนั้นเราจึงได้ถอนหายใจด้วยความโล่งอก

 

ก่อนที่จะมีข่าวดีตามมาอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ ซึ่งต้องขอบคุณบรรดานักข่าวและสำนักข่าวที่ทำหน้าที่รายงานอย่างใกล้ชิด ทำให้เราได้รู้ว่าอีริกเซนพ้นขีดอันตราย มีสติ และสามารถสื่อสารได้

 

แม้ว่าหลังจากนี้เขาจะต้องเข้ารับการตรวจอีกมากมายเพื่อหาสาเหตุ และอาจจะใช้เวลาอีกนานในการพักรักษาตัว โดยที่อาจจะไม่มีโอกาสในการกลับมาเล่นฟุตบอลอาชีพอีก

 

แต่อย่างน้อยที่สุดเขายังมีชีวิตอยู่ และไม่มีอะไรสำคัญมากไปกว่านี้อีกแล้ว

 

และนั่นทำให้ผมเองมองย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทบทวนถึงสถานการณ์นาทีชีวิต และหาคำตอบว่าอะไรคือสิ่งที่ช่วยให้เรายังไม่สูญเสียเขาไป

 

นอกจากช่วยชีวิต คริสเตียน อีริกเซน แล้ว ซิมง เคียร์ ยังช่วยปกป้องหัวใจภรรยาของอีริกเซนไม่ให้แตกสลายด้วย

 

1. สติและการตัดสินใจ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับอีริกเซนนั้นเป็นภาพที่ฉีกหัวใจ ต่อให้ไม่ใช่ญาติสนิทหรือมิตรสหายหากเห็นใครที่ล้มลงสิ้นสติตรงหน้าแบบนั้นเป็นใครก็ใจสั่นแข้งขาอ่อน

 

เพื่อนนักเตะทั้งทีมเดนมาร์กและฟินแลนด์ก็เช่นกัน หลายคนหน้าซีดเผือด ขาสั่น กลั้นน้ำตาไม่ไหว แต่ก็มีคนที่มี ‘สติ’ มากพอที่จะอ่านสถานการณ์ทั้งหมดได้อย่างรวดเร็ว และทำให้เขาตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

 

ซิมง เคียร์ กัปตันทีมชาติเดนมาร์ก เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับคำชื่นชมมากที่สุดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเขารีบวิ่งมาดูเพื่อนทันที และเมื่อเห็นอีริกเซนนอนสิ้นสติและกำลังชัก สิ่งที่เขาทำก่อนอย่างแรกคือการป้องกันไม่ให้เพื่อนเอาลิ้นอุดปากตัวเอง เพราะเวลานั้นนั่นคือสิ่งแรกที่สำคัญที่สุด

 

นอกจากนั้นเขายังมีส่วนในการช่วยทำ CPR ในระหว่างที่แพทย์สนามกำลังรุดไปดูอาการ

 

เคียร์ไม่ได้เป็นคนเดียวที่มีสติ ยังมี แอนโทนีย์ เทย์เลอร์ ผู้ตัดสินชาวอังกฤษที่ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องในสถานการณ์คับขันด้วยการสั่งหยุดเกมทันทีภายในเวลาแค่ 5 วินาทีหลังจากที่อีริกเซนล้มลง ก่อนจะขอให้ทีมแพทย์รีบเร่งมาดูอาการของอีริกเซนในทันที

 

สติและการตัดสินใจของทั้งสองคนนี้มีค่าเท่ากับชีวิตของนักฟุตบอลคนหนึ่งที่เกือบต้องจากไปก่อนวัยอันควร

 

ภาพ: @qurbanquliyev_/ Twitter

หลังเหตุการณ์ของอีริกเซน ภาพวิธีการทำ CPR กลายเป็นภาพที่มีการถูกส่งต่อมากที่สุด เพราะทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญ

 

2. ความรู้

ย้อนกลับไปที่ขั้นตอนการช่วยชีวิตของอีริกเซน ซึ่งเริ่มตั้งแต่การที่แคร์สังเกตเห็นอาการชักของเพื่อน ไปจนถึงการตัดสินใจกู้ชีพอย่างถูกต้องของทีมแพทย์ในสนาม (แม้ว่าภาพจากการถ่ายทอดสดจะชวนให้รู้สึกว่าทำไมวิ่งลงไปกันช้าจังก็ตาม)

 

พวกเขาสามารถตัดสินใจทำในสิ่งที่ต้องทำได้อย่างถูกต้อง เกิดจาก ‘ความรู้’ รู้ว่ามีสิ่งใดที่ต้องทำบ้างในสถานการณ์นี้ และเข้าใจสถานการณ์ ทำให้เลือกตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

 

ลองจินตนาการดูว่าหากเป็นเราเจอคนที่อยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกัน เราจะสามารถให้การช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องหรือไม่ คนที่จะช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องจริงๆ นั้นมีจำนวนกี่คน

 

หากไม่รู้ หรือรู้ไม่จริง รู้ไม่ถึง ราคาในการลงทะเบียนเรียนคือชีวิตของคนคนหนึ่ง

 

 

3. การจัดการอย่างมืออาชีพ

ปกติแล้วเรื่องแผนการจัดการหรือมาตรการเกี่ยวกับเรื่องชีวิตและความปลอดภัยนั้นคือสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกเสมอ โดยเฉพาะในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับใหญ่ ซึ่งจะมีการกำหนดเป็น Protocol หรือมาตรการในการปฏิบัติที่ชัดเจน

 

หากเกิดเหตุการณ์นี้จะต้องดำเนินการอย่างไร จาก 1 ไป 2 ไป 3 ไป 4 โดยมาตรการการปฏิบัตินั้นจะครอบคลุมทั้งหมดไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะนำไปสู่อะไรก็ตาม

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอีริกเซนทำให้เราได้เห็นการจัดการอย่างมืออาชีพของฝ่ายจัดการแข่งขัน ที่แม้จะมีบางอย่างให้ ‘เอ๊ะ’ บ้าง เช่นเรื่องการกันสายตาของคนรอบข้างในระหว่างที่แพทย์กำลังทำการรักษาเพื่อความเป็นส่วนตัว ที่ปล่อยให้เพื่อนนักเตะทีมชาติเดนมาร์กมาเป็นคนยืนบังอยู่นานกว่าจะมีฉากบัง แต่ก็เข้าใจได้ในความคับขันของสถานการณ์

 

นอกนั้นแล้วทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้องตั้งแต่การลงไปของทีมแพทย์ที่ไปกันอย่างพร้อมเพรียง (อาจจะเหมือนวิ่งช้าแต่เขาต้องแบกเตียงไปด้วย และต้องวิ่งในจังหวะพร้อมเพรียงกันไม่ใช่ต่างคนต่างวิ่ง) การให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงทีด้วยการใช้เครื่อง AED และการทำ CPR

 

จากนั้นคือการนำตัวออกจากสนามเพื่อส่งโรงพยาบาลซึ่งคราวนี้มีการกั้นความเป็นส่วนตัวได้ดี (และมีแฟนบอลฟินแลนด์ที่โยนธงชาติของตัวเองมาให้เพื่อช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวของอีริกเซน) และโรงพยาบาลก็อยู่ไม่ไกลจากสนาม รถพยาบาลพร้อมที่จะออกทันที ซึ่งที่สุดแล้วก็สามารถช่วยชีวิตผู้เคราะห์ร้ายได้สำเร็จ

 

สำหรับแฟนบอลในสนามที่อยู่ในความสับสนก็มีการคอยประกาศข่าวแจ้งความคืบหน้าเป็นระยะ ทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อยจนถึงขั้นที่สามารถกลับมาทำการแข่งขันได้อีกครั้ง ทั้งๆ ที่หากย้อนกลับไปใน 1-2 ชั่วโมงก่อนหน้าแล้วแทบไม่อยากเชื่อว่าจะกลับมาแข่งกันต่อได้

 

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้อย่างยิ่ง เพราะมันเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่และทุกเมื่อ ส่วนตัวแล้วอยากเห็นในบ้านเราให้ความสำคัญอย่างแท้จริง

 

ไม่ใช่เฉพาะในการแข่งขันระดับชาติหรือระดับประเทศ แต่ควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกระดับ ไปจนถึงสนามฟุตบอลเช่าทุกแห่ง ที่หากเรามีความรู้ มีสติ และมีการจัดการที่ดี เราอาจจะลดความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้นได้มาก

 

เหมือนที่ผมเคยสูญเสียพี่ที่เคารพคนหนึ่งไปเพราะหัวใจหมดแรงกะทันหันเมื่อ 1 ปีก่อนหลังเริ่มมีอาการปรากฏในระหว่างการเล่นฟุตบอล

 

การจากไปของเขาทำให้ผมและพี่ๆ ร่วมทีมหลายคนได้แต่คิดเสียใจจนถึงทุกวันนี้ว่า “ถ้าวันนั้นเรา…”

 

ดังนั้นในความยินดีที่เรายังไม่เจอข่าวร้ายกับเหตุการณ์ของอีริกเซนในวันนี้ นี่คือโอกาสดีที่เราจะได้ถอดบทเรียนวิธีรับมือนาทีชีวิตไปด้วยกัน

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

FYI
  • โลกฟุตบอลเคยสูญเสียนักฟุตบอลหลายคนจากอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หนึ่งในนักเตะที่ไม่มีใครลืมเลยคือ มาร์ค วิเวียน โฟเอ กองกลางทีมชาติแคเมอรูนที่เสียชีวิตในรายการคอนเฟเดอเรชันส์คัพเมื่อปี 2003
  • คนที่รอดชีวิตราวปาฏิหาริย์ก่อนหน้าอีริกเซนคือ ฟาบริซ มูอัมบา ที่หัวใจวายในระหว่างเกมเอฟเอคัพกับสเปอร์ส จนหัวใจหยุดเต้นไปนานถึง 78 นาที แต่สุดท้ายยังมีชีวิตถึงทุกวันนี้แม้จะต้องเลิกเล่นฟุตบอลไปเลยก็ตาม
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X