×

เลือกตั้ง 2566 : ‘คริส โปตระนันทน์’ จาก ‘คุณหนู’ ผู้มีเส้นสาย สู่ ‘พรรคเส้นด้าย’ เป้าหมายทลายการใช้เส้น

17.04.2023
  • LOADING...
คริส โปตระนันทน์

THE STANDARD สัมภาษณ์ คริส โปตระนันทน์ หัวหน้าพรรคเส้นด้าย ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ( ส.ส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เขต 6 (พญาไท-ดินแดง) เบอร์ 12  

 

อดีตสังกัดพรรคก้าวไกล พรรคซึ่งเขาเคยมีส่วนร่วมตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ หลังลาออกจากก้าวไกล คริสได้ตั้งพรรค ‘เส้นด้าย’ ด้วยชื่อกลุ่มอันมีบทบาทสำคัญเป็นที่รู้จักในฐานะเอกชนที่เข้าช่วยเหลือผู้คนใน กทม. และปริมณฑล ในสถานการณ์วิกฤตโควิด แต่ผลงานอันโดดเด่นนี้ไม่ได้เป็นจุดแข็งให้เขาสามารถไปต่อกับพรรคเดิมได้ เป็นที่มาของพรรคใหม่ ‘พรรคเส้นด้าย’

 

ถ้าไม่มีโควิด จะมีกลุ่มเส้นด้ายหรือไม่ 

 

ถ้าไม่มีโควิดวันนั้น ผมคงไม่ตั้งกลุ่มเส้นด้าย แต่ก็ยังมีวิธีการทำงานแบบ คริส โปตระนันทน์ ที่มีมานานมากแล้ว ตอนมีโควิดผมเห็นว่าไม่มีรถรับส่งผู้ป่วย ผมจึงตั้งกลุ่มเส้นด้ายขึ้นมาเพื่อทำรถรับส่ง เดือนเมษายนปี 2564 ยังคิดว่าน่าจะจัดการได้ ไม่ได้ถึงกับมองโควิดว่ากระจอก แต่ตอนนั้นก็ไม่มีใครทำสิ่งที่ควรจะทำ 

 

วันนั้นเกิดกลุ่มเส้นด้ายเพราะมีคนที่ผมรู้จัก เขาเสียชีวิตเพราะไม่มีรถรับส่ง เราก็คิดในใจว่าประเทศนี้เป็นบ้าอะไร อยู่ดีๆ จะหารถรับส่งคนป่วยโควิดไม่ได้

 

เราก็หารถกระบะมารับส่ง แล้วไม่ได้ทำเฉพาะในเขตที่ผมลงเลือกตั้งคือพญาไท แต่มีเคสที่ไปรับถึงสมุทรปราการ เป็นกิจกรรมที่เกิดจากแรงกระตุ้นทางการเมืองก็จริง แต่ว่าไม่ได้มุ่งหวังคะแนนการเมืองในเขต แม้วันนั้นผมก็อยากเป็น ส.ส. เขต แต่ถ้ามุ่งหวังเฉพาะในเขตก็คงทำในเขตอย่างเดียว เช่นเดียวกับกลุ่มสายไหมต้องรอดที่เน้นเขตสายไหม อย่างไรก็ตามทั้งกลุ่มสายไหมต้องรอดและกลุ่มเส้นด้ายเป็นกลุ่มอาสาเป็นเอกชนที่มีข้อจำกัดอยู่แล้ว สายไหมต้องรอดเขาโฟกัสในพื้นที่ ส่วนกลุ่มเส้นด้ายโฟกัสที่ กทม. และปริมณฑล

 

วันนั้นพยายามจะสร้างระบบเอกชนซึ่งไม่มีใครทำ พอเราทำแล้วเจอปัญหาที่ท้าทายเรื่อยๆ ก็แก้ปัญหาเรื่อยๆ ตอนที่เริ่มรู้สึกจะแย่คือ โควิดเยอะมาก แล้วเราเริ่มกลายเป็นที่พึ่งของสังคม คนนึกถึงกลุ่มเรา เป็นบริการที่ถ้าทำไม่ดีเขาจะด่าเราแล้ว 

 

ช่วงขึ้นสูงมากช่วงปลายเดือนมิถุนายน ปลายเดือนกรกฎาคมปีนั้น ช่วงนั้นแย่มาก เตียงไม่มีจริงๆ ก่อนหน้านั้นคือในช่วงเมษายน-พฤษภาคม ผมยังรู้สึกว่าเตียงยังมีแต่ระบบการจัดการของรัฐไม่ดี ผู้ป่วยกับเตียงจึงไม่เจอกัน แต่ช่วงกรกฎาคมคือไม่มีเตียงจริงๆ 

 

บทบาทเส้นด้ายจึงเริ่มเปลี่ยนจากแค่การช่วยเหลือ เป็นการพูดเพื่อเปลี่ยนระบบใหญ่ เป็นบทบาทผลักดัน พอสื่อมวลชนติดตามมาทำข่าวทำให้คนเริ่มรู้จักแล้วเราแทบจะเป็นระบบหลัก อย่างไรก็ตาม เคสที่เป็นข่าวก็ถือว่ามีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับเคสที่ทำจริงซึ่งมีจำนวนมาก ยังมีสิ่งที่ไม่เป็นข่าวเกิดขึ้นอีกเยอะ 

 

ส่วนที่เป็นข่าวเป็นสิ่งที่เราตั้งใจผลักดัน เช่น คนเริ่มหาเตียงไม่ได้ เราต้องการผลักดันให้มีการส่งยาไปที่บ้าน ตอนที่ดินแดงมีคนติดโควิดแล้วเตียงเต็ม ผมเอาเต็นท์ไปกางให้เขาพัก เพื่อช่วยเขาและเป็นสัญลักษณ์ให้คนรู้ว่า ตอนนี้มีปัญหาเตียงเต็มแล้ว ต้องมีการจัดการ ต้องมีวิธีการรับมือหลายๆ แบบ แล้วเราก็เริ่มโพสต์ผลักดันให้มีการส่งยาไปที่บ้าน เป็นบทบาทการพูดเพื่อผลักดันสังคม

 

ถ้าได้เป็น ส.ส. เข้าไปในรัฐสภา จะผลักดันเรื่องอะไรบ้าง

 

เรื่องสาธารณสุข เพราะมั่นใจว่าตัวเองรู้จักปัญหาสาธารณสุขในประเทศนี้ดีไม่น้อยไปกว่าใคร หลังรับมือโควิด ทราบว่าต้องมีสิ่งที่ต้องแก้เยอะ เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องผลักดัน 

 

นอกจากนั้น มีเรื่องกำจัดระบบเส้นสายออกจากเมืองไทย แก้กฎหมายเอาระบบเส้นสายออก ศัตรูของเส้นด้ายไม่ใช่เพียงโควิด แต่เป็นเรื่องเส้นสาย เพราะเป็นเหตุทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคม ทั้งเส้นสายในธุรกิจ และเส้นสายในระบบกระบวนการยุติธรรม 

 

ส่วนผู้สมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค มีทั้งตำรวจที่ถูกรังแกเรื่องเส้นมาก่อน และมีผู้พิพากษาศาลฎีกาที่พร้อมกำจัดเรื่องเส้นในระบบยุติธรรม ซึ่งตอนนี้ระบบแย่ทั้งกระบวนการ เป็นวาระที่จะผลักดัน 

 

อีกเรื่องที่สำคัญคือ การแทรกแซงทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนไม่มีเส้นโดนเอาเปรียบ แล้วคนมีเส้นได้ผลประโยชน์มากตอนนี้ 

 

ช่วง 3-4 ปีมานี้เน้นลงภาคสนาม ไม่เน้นทำงานในห้องแอร์ ทำไมเลือกทำงานลักษณะนี้ ติดโควิดมาแล้วกี่รอบ

 

ติดโควิดมา 2 รอบ แต่ไม่เคยกลัว ผมอยากเล่าให้ผู้อ่าน THE STANDARD ฟัง การทำงานตรงนี้มันเป็นความรู้จริงๆ 

 

ส่วนที่ผมเคยเรียนและเคยอ่านมาจากในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม มันก็เป็นความจริงนะ แต่มีข้อยกเว้นเยอะ ความสามารถในการดีลกับคนเป็นเรื่องใหญ่กว่าตำราเยอะมาก ผมจึงอยู่ในภาคสนามและพยายามเรียนรู้ แต่คิดว่าเราก็ยังต้องพัฒนาตัวเองต่อไปอีก

 

ผลงานความโดดเด่นของกลุ่มเส้นด้าย ทำไมจึงไม่ใช่จุดแข็งที่จะร่วมงานไปต่อกับพรรคเดิมคือพรรคก้าวไกล 

 

จริงๆ ก็เป็นจุดแข็ง แข็งขึ้นมาเรื่อยๆ จนเขารู้สึกว่ามันแข็งเกินไป มีบางกลุ่มในพรรครู้สึกว่าพวกผมมีปัญหา กลุ่มผมถูกกีดกันออกจากหลายการประชุม เขารู้สึกว่าผมกำลังแข็งข้อ เขามองว่าการมีกลุ่มในพรรคจะทำให้เกิดการต่อรอง ซึ่งจริงๆ แล้วการต่อรองเป็นเรื่องดีหรือไม่ ต้องมานั่งคุยกัน 

 

ผมเห็นว่าการต่อรองไม่ใช่ปัญหา เพราะการต่อรองเป็นเรื่องปกติในทางการเมือง แต่ว่าในพรรคใดก็ตาม เมื่อไม่มีระบบประชาธิปไตยแล้ว เมื่อกลุ่มผมแข็งขึ้นก็จะถูกโจมตีภายในพรรคมากขึ้น กลุ่มเส้นด้ายไม่เคยมีข่าวเสียหายหรือถูกโจมตีจากภายนอกพรรค แล้วผู้มีอำนาจในพรรคหรือกลุ่มโปลิตบูโร ฟังกลุ่มอื่นโดยไม่เชื่อกลุ่มผม ผมจึงอยู่ในพรรคเดิมต่อไปไม่ได้ 

 

ลองดูลำดับผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเดิม โปลิตบูโรชอบใครคนนั้นก็ได้ลำดับต้น ดูจากลำดับปาร์ตี้ลิสต์ก็ได้

 

ผลงานโดดเด่นแต่เป็นภัย?

 

ใช่ ผลงานเด่นแล้วเป็นภัย สุดท้ายก็ใช้วัฒนธรรมเดิมๆ มีการกีดกัน เขาต้องการคนที่จงรักภักดี เขาไม่ต้องการคนที่มีความคิดเป็นของตัวเอง ผมไม่ได้พูดเพื่อทำลาย แต่หวังว่าวันหนึ่งพรรคก้าวไกลจะกลายเป็นสถาบันพรรคการเมืองที่เปิดกว้าง ที่ยอมให้คนเกลียดกันได้ ยอมให้คนถกเถียงกันได้ ถ้าต้องรักกันตลอดเวลาก็ไม่ต่างจากการกลายเป็นพรรคพวก ไม่ใช่พรรคการเมือง ขอให้เขาเปลี่ยน เขาน่าจะเป็นสถาบันพรรคการเมืองได้ในอนาคต แต่ว่าวันนี้สำหรับกองเชียร์ไม่ได้เสียหาย แต่คนทำงานอยู่ลำบาก

 

คริสเจอผู้คนที่หลากหลาย เจอโลกใบใหม่ช่วงปีไหน 

 

ปี 2562 หลังแพ้เลือกตั้งปี 2562 ก็คลุกคลีกับคนในชุมชนมาตลอด ส่วนก่อนหน้านั้นเป็น ‘คุณหนู’ ไม่เคยลงชุมชน ชอบอ่านหนังสือ บรรยายพิเศษ สอนหนังสือ และว่ายน้ำ ต้องยอมรับว่าชีวิตไม่ลำบาก แต่ไม่ใช่ว่าไม่สู้ 

 

หลังเลือกตั้ง 2562 ได้เข้าใจโลกอีกใบหนึ่ง ผมโตที่ราชบุรี ผมเข้าใจคนจนต่างจังหวัด แต่ไม่เคยเข้าใจคนจนในกรุง มาเข้าใจคนจนในกรุงเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นคนละแบบกับต่างจังหวัด แล้วเพิ่งทราบว่าสลัมใน กทม. มีเยอะขนาดนี้

 

ที่มาถ้อยคำ ‘เส้นด้าย’ เส้นเล็กและทำได้ 

 

เริ่มจากมองว่า ‘คนมีเส้น’ ได้อะไรๆ มาโดยตลอด ส่วนกลุ่มเราไม่มีเส้นก็ต้อง ‘ได้’ ด้วย 

 

เพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่าให้เพิ่มคำว่า ‘เส้น’ เพราะคนอื่นมีเส้นใหญ่ ส่วนเรามี ‘เส้นด้าย’ เป็นเส้นเล็กที่พ้องเสียงกับ ‘ได้’ ที่มาจากคำว่า ‘ทำได้’ ดังนั้น ‘เส้นด้าย’ เป็นเส้นเล็กไม่ใช่เส้นใหญ่ และทำได้โดยไม่ต้องใช้เส้น

 

ก่อนหน้าที่จะตั้งกลุ่มเส้นด้าย ช่วงนั้นคนธรรมดาในยุคโควิดไม่สามารถเข้าถึงอะไรๆ ได้เลย แล้วคนที่จะได้คือคนที่มีเส้น ได้ตรวจ-ได้เตียง-ได้รักษา-ได้ยา ก็คือเป็นคนมีเส้นได้หมดเลย 

 

มองสถานะตัวเอง เป็นคนมีเส้น หรือ ไม่มีเส้น 

 

พูดตามตรง ชีวิตผม ผมอยู่ในกลุ่มประชากรที่มีเส้น ผมเป็นลูกข้าราชการ พอจะมีคอนเนกชัน มีฐานะในระดับหนึ่ง ผมมีเส้นมาทั้งชีวิต 

 

ผมสงสัยในชีวิตที่ผมเกิดมาโดยตลอด ผมเกิดมาเป็นลูกผู้พิพากษา หัวหน้าคณะศาลฎีกา คนจะรู้จักนามสกุลผม อาจเป็นเพราะพ่อและญาติผู้ใหญ่ ตระกูลผมทำงานรับราชการมาโดยตลอด แล้วบ่อยครั้งก็ได้รับความสะดวกสบาย แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ดี ผมรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม ไม่ได้ภูมิใจที่ได้รับความสะดวกสบายแบบนี้ เพียงเพราะเจ้าหน้าที่รัฐเห็นนามสกุล เรื่องนี้เป็นคำถามในใจผมอยู่ตลอด 

 

ขณะเดียวกัน การที่โตมากับคุณพ่อที่เป็นนักกฎหมาย เราก็รู้ว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง สังคมที่เป็นนิติรัฐ สังคมที่ทุกคนต้องอยู่ใต้กฎหมายเป็นอย่างไร ในประเทศไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น 

 

คุณพ่อเคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 2544 สมัยที่มีปาร์ตี้ลิสต์ครั้งแรก สมัย ชวน หลีกภัย แต่ผมก็ไม่เคยคิดจะเข้าพรรคประชาธิปัตย์เลย

 

กิจกรรมสมัยเป็นนิสิตจุฬาฯ 

 

เข้าเรียนนิติศาสตร์ จุฬาฯ ปี 2549 สมัย ‘เสื้อเหลือง’ เคลื่อนไหว ต่อมามี ‘เสื้อแดง’ ซึ่งผมมองว่าตัวเองเป็น ‘เสื้อแดง’ ตั้งแต่สมัยนั้น ผมเคยลากลำโพงมาตั้งที่ลานคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แล้วเชิญพี่ๆ น้องๆ รวมถึงอาจารย์มาเสวนาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการชุมนุม การปิดสนามบินถูกต้องหรือไม่? นายกฯ มาตรา 7 มีความชอบธรรมหรือไม่?

 

เรารู้สึกว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งผิดมาตลอดตั้งแต่ปี 2549 พ่อผมเรียนจบอเมริกา บอกว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แบบนี้ มองเรื่องสิทธิแบบอเมริกา ผมเรียนนิติศาสตร์ จุฬาฯ ในยุคที่ประเทศไทยไม่มีรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกฉีกหลัง 19 กันยายน 2549 ฉะนั้น ผมเรียนกฎหมายช่วงที่เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศมากที่สุด ผมเลือกเรียนกฎหมายมหาชนเพราะมองว่าเป็นกฎหมายสำคัญในการจัดการปัญหาประเทศนี้ ประเทศมีปัญหาเพราะนักกฎหมายมหาชนในช่วงนั้น 

 

ผมไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2550 และมองว่ามีปัญหามาก มีการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ 2550 วันนั้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ( คมช.) มีบทบาทตั้งองค์กรอิสระ แล้วองค์กรอิสระมาตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กลายเป็นตั้งกันเองวนไปมาของเครือข่าย คมช. ช่วงนั้นก็มีดีเบตประเด็น ‘ไพร่-อำมาตย์’

 

ถ้าเรียนกฎหมายตอนนั้นต้องวิเคราะห์ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ทำให้จิตใจผมเต็มไปด้วยความรู้สึกว่า กฎหมายในประเทศไทยเกิดจากคนมีเส้นมาโดยตลอด เห็นปัญหามาตั้งแต่ปี 2550 ไม่ใช่เพิ่งมีปัญหาหลังรัฐประหารปี 2557 ก่อนหน้านี้เคยมีการฆ่าคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมเมื่อปี 2553 ด้วย

 

ตอนปี 2552 ผมจัดขบวนพาเหรดล้อการเมืองของจุฬาฯ ในงานฟุตบอลประเพณี ซึ่งปกติขบวนล้อการเมืองจะจัดโดยฝั่งธรรมศาสตร์ ส่วนฝั่งจุฬาฯ จะเรียกว่าขบวนสะท้อนสังคม แต่ปีนั้นผมทำพาเหรดล้อการเมืองในขบวนของจุฬาฯ สะท้อนปัญหาประชาชนอยู่ภายใต้ทหาร แต่มีบางไอเดียถูกเซ็นเซอร์โดยทางมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยให้เหตุผลว่าดูรุนแรง 

 

ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 

 

ตอนเรียนเมืองนอก ไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่อังกฤษ และไปเรียนกฎหมายที่อเมริกา การทลายทุนผูกขาด ป้องกันการผูกขาด ผมเป็นคนร่างนโยบายทลายทุนผูกขาดที่เกิดขึ้นในพรรคอนาคตใหม่ 

 

ก่อนทำงานการเมืองเคยไปบรรยายพิเศษที่จุฬาฯ กับมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ไม่ใช่อาจารย์ประจำ ไปบรรยายตามคำเชิญให้ไปสอน พอทำการเมืองก็ทำงานสอนน้อยลงมาก 

 

ลงสมัครรับเลือกตั้งปี 2566 ในนาม ‘พรรคเส้นด้าย’

 

ในส่วน ส.ส. เขตส่งผู้สมัครเฉพาะใน กทม. ส่วนปาร์ตี้ลิสต์ตอนแรกตั้งใจจับเบอร์ให้ได้เบอร์สุดท้าย เพราะจำนวนพรรคเยอะมาก จะได้จำง่ายว่าเป็นพรรคสุดท้าย แต่ปรากฏว่ามีพรรคที่คิดเหมือนกัน 4 พรรค จึงไม่มีใครยอมเข้าก่อน สุดท้ายจับสลากกัน พรรคผมได้เบอร์ 64 

 

เวลาประชาชนต้องเข้าไปหาเบอร์ 64 ในบัตรเลือกตั้งที่ต้องเลือกพรรค จากที่มีทั้งหมด 60 กว่าพรรค ประชาชนสามารถดูเบอร์พรรคเส้นด้าย เบอร์ 64 ได้โดยดูหมายเลขจากลำดับท้ายๆ ของตารางบัตรเลือกตั้ง 

 

ส่วน ส.ส. เขต ส่ง 20 กว่าคน ส่วนตัวผมเอง คริส โปตระนันทน์ ลงสมัคร ส.ส. กทม. เขต 6 (พญาไท-ดินแดง) เบอร์ 12  

 

ผมจะรู้จักกับประชาชนในพื้นที่พญาไทมาก่อน แต่ตอนโควิดตั้งกลุ่มเส้นด้ายก็ได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในเขตดินแดงด้วย ทำให้เขารู้จักเรา แต่อย่างไรก็พยายามที่จะไปเจอพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด 

 

เราเชื่อว่าความเป็นตัวเรา บวกวิธีคิดใหม่ของพรรคใหม่ น่าจะทำให้เรามีสิทธิที่จะชนะในเขตนี้ได้ เพราะว่ารอบนี้เป็นบัตร 2 ใบ คนจะเลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบ 

 

คนที่ลงสมัคร ส.ส. เขตพญาไท-ดินแดง ในรอบนี้มีคนทำพื้นที่อยู่ไม่กี่คน น่าจะเพียงแค่ 3 คนที่ทำพื้นที่ เราจึงเป็นตัวเลือก 1 ใน 3 อยู่แล้ว แต่จะมากพอหรือไม่ต้องรอลุ้น 

 

ผมเบอร์ 12 ไม่ใช่เลขตัวเดียวอาจจะหาเสียงยาก แต่หวังว่าคนจะจำเราได้ จากผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่ถ้าหากจะหาวิธีการจำคือเลข 12 เป็นเลขฐานธรรมชาติ หนึ่งปีมี 12 เดือน หรือหนึ่งโหลมี 12 ชิ้น จำได้ง่ายมากครับตัวเลขนี้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X