วันนี้ (26 กันยายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงแนวทางการควบคุมการใช้กัญชาหลังมีบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มหนึ่งอยากให้ รมว.สาธารณสุข ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ในการประกาศควบคุมการใช้กัญชา ขณะที่มีภาคประชาชนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยในการห้ามปลูกบ้านละ 15 ต้น รวมถึงการให้กลับไปเป็นยาเสพติดว่า เรื่องนโยบายเร่งด่วนกระทรวงสาธารณสุขนั้น ประกาศออกมาเป็นภาพรวมเรื่องเศรษฐกิจสุขภาพ หมายความว่าจะนำสุขภาพไปสร้างเศรษฐกิจในมิติสุขภาพที่มีหลายองค์ประกอบ อาทิ ศูนย์กลางการแพทย์ (เมดิคัลฮับ) ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เรื่องวิชาการ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งกัญชาอาจจะอยู่ในมุมนี้ การให้บริการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพ มิติเหล่านี้อยู่ในการประกาศนโยบายเร่งด่วน ไม่ได้เน้นไปที่กัญชา
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วความชัดเจนเรื่องกัญชาเป็นอย่างไร เนื่องจากรอกฎหมายมาควบคุมอยู่นานมากแล้ว นพ.ชลน่านกล่าวว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุขรับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีแล้ว เราได้เร่งรัดโดยตั้งคณะทำงานมาพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข โดยนโยบายได้เน้นย้ำว่ากัญชาทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นมุมโดยตรงของกระทรวง จึงต้องไปดูกฎหมายที่จำเป็นออกมาใช้บังคับ จะพยายามจัดทำกฎหมายและเสนอโดยเร็วที่สุด ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นรัฐบาลร่วมกันก็ต้องปรึกษาหารือร่วมกัน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการอนุญาตปลูก 15 ต้น จะมีความชัดเจนอย่างไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า เมื่อมีในกฎหมายเดิมก็ต้องไปพิจารณาว่า การปลูกเพื่อนำสู่การผลิต เพื่อการแพทย์และสุขภาพนั้น ปลูกอย่างไรที่จะได้คุณภาพมาตรฐาน หากปลูกแล้วไม่สามารถนำไปใช้ในเรื่องการเข้าสู่อุตสาหกรรมทางการแพทย์เพื่อสุขภาพก็จะทำให้พี่น้องขาดโอกาส ดังนั้น แล้วแต่กฎหมายที่จะเขียนมา เพราะในมุมการผลิตนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จากนี้เรื่องสันทนาการจะไม่สามารถทำได้แล้วใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตามนโยบายเราต้องเน้นเพื่อการแพทย์ เพื่อสุขภาพ เพราะถ้านอกจากนี้ก็ไม่ใช่มุมของเพื่อการแพทย์และสุขภาพ ดังนั้นต้องมีกฎหมายออกมาว่าจะควบคุมดูแลกันอย่างไร การใช้จะใช้อย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพ ซึ่งถ้าจะมีกฎหมายมารองรับ เช่น พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่เคยพิจารณากันมาแล้ว ก็ต้องไปดูในรายละเอียด ว่าจะมีบทบัญญัติใดมาควบคุมดูแลที่นอกเหนือไปจากการแพทย์และสุขภาพอย่างไร
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากนี้ผู้ประกอบการที่เปิดเพื่อเสพแบบสันทนาการยังเปิดต่อไปได้หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราต้องคิดใน 2 มิติ กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงที่ต้องสร้างสุขภาพ ถ้ากิจการหรือกิจกรรมที่เขาทำนั้นไม่กระทบต่อสุขภาพ ไม่มีผลต่อสุขภาวะโดยรวม เรื่องมิติเชิงสังคม ก็อาจจะมีกฎหมายเข้าไปกำกับดูแล ควบคุม ส่วนจะปูพรมตรวจร้านที่เปิดสันทนาการหรือไม่นั้นอยู่ที่ตัวกฎหมายให้อำนาจไว้ อย่าไปคิดว่าจะปูพรมหรือไม่ปูพรม ตอนนี้เราต้องพยายามทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทุกฝ่ายได้ประโยชน์บนพื้นฐานที่ไม่ทำลายสุขภาพ ไม่ทำลายพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก เยาวชนในสังคมไทย อย่างไรก็ตามย้ำว่า การนำสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่ไม่เหมาะสม หรือเกินกว่ากำหนด ในระยะเวลาที่มากกว่ากำหนดไว้ จะเป็นผลร้ายต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่จะคืนบางส่วนของกัญชาให้กลับเป็นยาเสพติด นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องนี้สามารถพิจารณาควบคู่ไปได้ เพราะ พ.ร.บ. ต้องยกร่างเข้าสภา ส่วนประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ใช้ขณะนี้คือประมวลกฎหมายยาเสพติดให้อำนาจไว้ และอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ส. และกรรมการควบคุมป้องกันยาเสพติด และกระทรวงสาธารณสุข หากเห็นพ้องต้องกันที่จะประกาศ ว่าอะไรที่จะเป็นยาเสพติด สำหรับตัวที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งไม่ใช่แค่กัญชาตัวเดียว แต่ถ้ายกตัวอย่างกัญชา คือพืชที่มีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอยู่ในตัว หากจะประกาศให้เป็นยาเสพติด ก็ต้องไปทำข้อตกลงแล้วจึงประกาศบังคับใช้ ซึ่งจะทำได้เร็วกว่าการตรา พ.ร.บ. และขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยกันว่าจะคืนส่วนใดบ้าง กำลังปรึกษาหารือกับกระทรวงยุติธรรม โดยจะนัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเราจะมองเห็นร่วมกันอย่างไร ไม่ให้กระทบ ทำลาย หรือกดทับในส่วนที่ทำให้คนสูญเสียโอกาส ส่วนตนยึดหลักเรื่องการแพทย์และสุขภาพเป็นหลัก
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า การปรับปรุงประกาศกระทรวง และผลักดันร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะประกาศเป็นนโยบาย Quick Win หรือไม่ นพ.ชลน่านตอบว่า “ไม่” เพราะไม่ได้อยู่ใน 13 นโยบาย Quick Win ที่ประกาศแล้วในตอนแรก เนื่องจากกฎหมายต้องใช้เวลา เพราะ Quick Win เป็นแผนเร่งรัดปฏิบัติการ ต้องเร่งทำให้เกิดผลสำเร็จภายในเวลาที่ต้องการ ผลลัพธ์ที่ได้ต้องพิสูจน์ได้ จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องกัญชามีสิ่งที่จะต้องร่วมกันพิจารณาอย่างมาก ทั้งตัวประกาศและข้อกฎหมายต่างๆ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น หากประกาศบนพื้นฐานของความไม่รอบคอบก็จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี