วันนี้ (20 ธันวาคม) เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดมุกดาหาร อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ 1013/2564 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหาร โจทก์ สาวิตรี วงศ์ศรีชา โจทก์ร่วมที่ 1 อนามัย วงศ์ศรีชา โจทก์ร่วมที่ 2 กับ ไชย์พล วิภา จำเลยที่ 1 และ สมพร หลาบโพธิ์ จำเลยที่ 2 โดยมีโจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 จำเลยที่ 1 พราก ชมพู่-อรวรรณ วงศ์ศรีชา อายุ 3 ปีเศษ ซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากโจทก์ร่วมทั้งสองคือมารดาและบิดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร เมื่อระหว่างวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2563 จำเลยที่ 1 โดยเจตนาฆ่า นำอรวรรณซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 9 ปีไปทอดทิ้ง ณ เขาภูเหล็กไฟเพียงลำพัง โดยไม่มีอาหารและน้ำดื่มเพื่อให้อรวรรณพ้นไปเสียจากตน
โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล เป็นเหตุให้อรวรรณถึงแก่ความตาย และเมื่อระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2563 ภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จ จำเลยทั้งสองร่วมกันเคลื่อนย้ายศพผู้ตายแล้วถอดเสื้อผ้าและกางเกงออก เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่พบศพเข้าใจว่าผู้ตายถูกล่วงละเมิดทางเพศ และถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพผู้ตายหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า บริเวณที่พบศพอรวรรณผู้ตายอยู่บนเขาภูเหล็กไฟ ห่างจากจุดที่มีคนพบเห็นผู้ตายครั้งสุดท้ายประมาณ 1.5 กิโลเมตร และเป็นทางลาดชัน ประกอบกับบริเวณดังกล่าวมีการตรวจพบเส้นผมผู้ตายหลายเส้นที่มีลักษณะถูกตัดด้วยของแข็งมีคม จึงเชื่อว่าผู้ตายซึ่งมีอายุเพียง 3 ปีเศษไม่สามารถเดินขึ้นไปถึงบริเวณที่พบศพ และใช้ของแข็งมีคมตัดเส้นผมของตนเองได้ แต่ต้องมีคนร้ายพาผู้ตายไป
ปัญหาต่อมาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายหรือไม่ เห็นว่า ประการแรก ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 09.00 น. ผู้ตายเล่นอยู่บริเวณหน้าบ้านพัก และมี ก. พี่สาวผู้ตายนอนเล่นโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ใกล้เคียง กระทั่งเวลาประมาณ 09.50 น. ก. มองหาผู้ตายไม่เห็นจึงออกตามหา ดังนั้นผู้ตายต้องหายตัวไปก่อนช่วงเวลาดังกล่าว โดย ก. เบิกความว่าไม่ได้ยินเสียงผู้ตายร้องแต่อย่างใด เชื่อว่าคนร้ายที่พาผู้ตายไปต้องเป็นญาติหรือบุคคลใกล้ชิดในหมู่บ้านที่ผู้ตายรู้จักดี เนื่องจากผู้ตายจะร้องไห้หากถูกคนแปลกหน้าอุ้ม
เจ้าพนักงานตำรวจจึงสืบสวนกลุ่มบุคคลดังกล่าว 14 คน แบ่งเป็นญาติ 12 คน และบุคคลใกล้ชิด 2 คน พบว่า 13 คนมีหลักฐานยืนยันที่อยู่หรือตำแหน่งอ้างอิงจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ชัดเจน ยกเว้นจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่สามารถยืนยันฐานที่อยู่ได้แน่ชัดในเวลาที่ผู้ตายหายตัวไป
ประการที่สอง จำเลยที่ 1 ให้การเป็นข้อพิรุธหลายอย่าง เช่น จำเลยที่ 1 ให้การกับเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนว่า วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 มีนัดไปรับพระ ส. ที่วัดถ้ำภูผาแอก ขณะเดินทางไปวัด จำเลยที่ 2 โทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 1 ว่าผู้ตายหายตัวไป แต่ครอบครัวของจำเลยทั้งสองมีโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงเครื่องเดียวอยู่กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 2 จะโทรศัพท์แจ้งเรื่องแก่จำเลยที่ 1 อีกทั้งพระ บ. ซึ่งจำวัดอยู่ที่วัดถ้ำภูผาแอกเช่นกันยืนยันว่า วันดังกล่าวเวลาประมาณ 10.00 น. จำเลยที่ 1 เดินทางไปถึงวัดและพูดกับพระ บ. ว่า หลานหายเกือบไม่ได้ไปส่งพระ ทั้งที่ในขณะนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดตัวต้องยังไม่ทราบเหตุว่าผู้ตายหายตัวไป
ประการที่สาม พยานโจทก์ปาก ว. และ พ. ให้การในชั้นสอบสวนว่า พยานเห็นจำเลยที่ 1 อยู่บริเวณสวนยางพารา ซึ่งเป็นทางเดินที่สามารถเข้าถึงจุดที่ผู้ตายหายตัวไป ในช่วงเวลาที่คนร้ายลงมือกระทำความผิด โดยขณะที่มีการสอบสวนเรื่องนี้ จำเลยที่ 1 พยายามไปพูดคุยกับ ว. ให้ ว. บอกเจ้าพนักงานตำรวจว่า ว. พบจำเลยที่ 1 ในช่วงเวลา 07.00 น. ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้เจ้าพนักงานตำรวจสงสัยจำเลยที่ 1
จึงเป็นข้อพิรุธว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิด เหตุใดต้องพูดจาในลักษณะดังกล่าวกับพยานที่ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจตามข้อเท็จจริงที่ตนรู้เห็น แม้ต่อมาในขณะสืบพยาน พ. จะเบิกความว่า ตนไม่ได้เห็นจำเลยที่ 1 บริเวณสวนยางพารา แต่ก็เป็นการกลับคำภายหลังเกิดเหตุกว่า 2 ปี ซึ่งอาจทำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 คำให้การในชั้นสอบสวนของ พ. จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่า
ประการสุดท้าย ภายหลังเจ้าพนักงานตำรวจตั้งข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย จึงมีการเข้าตรวจค้นรถยนต์จำเลยที่ 1 พบเส้นผม 16 เส้น และวัตถุพยานอื่น โดยผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญปรากฏว่า เส้นผม 1 เส้นที่ตกอยู่ในรถยนต์จำเลยที่ 1 มีองศาของรอยตัด หน้าตัด และพื้นผิวด้านข้างตรงกันกับเส้นผมผู้ตาย 2 เส้น ซึ่งตรวจเก็บได้จากบริเวณที่พบศพผู้ตาย เส้นผมทั้ง 3 เส้นดังกล่าว จึงถูกตัดในคราวเดียวกันด้วยวัตถุของแข็งมีคมชนิดเดียวกัน เชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ของแข็งมีคมตัดเส้นผมผู้ตาย แต่ด้วยเหตุที่เส้นผมมีขนาดเล็กมาก จำเลยที่ 1 จึงไม่สังเกตว่ามีเส้นผมผู้ตายเส้นหนึ่งตกอยู่ในรถยนต์ของตน
ทั้งนี้ การสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจในคดีนี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปยังจำเลยที่ 1 มาแต่แรก หากเกิดจากการรวบรวมพยานหลักฐานและตั้งข้อสันนิษฐานอย่างเป็นลำดับขั้นตอนดังวินิจฉัยไว้ข้างต้น โดยไม่ปรากฏว่าผู้ที่เกี่ยวข้องคนใดมีสาเหตุโกรธเคือง หรือมูลเหตุชักจูงใจในการใส่ร้ายจำเลยที่ 1 จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่พาผู้ตายขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ
ปัญหาต่อมาต้องวินิจฉัยว่า ขณะพาผู้ตายขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ จำเลยที่ 1 รู้หรือไม่ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ร่วมทั้งสองหรือผู้ตายมาก่อน จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าหรือเจตนาทอดทิ้งผู้ตาย ประกอบกับรายงานการตรวจศพผู้ตายพบรอยช้ำใต้หนังศีรษะ บริเวณหน้าผากด้านซ้ายและท้ายทอยเป็นจ้ำๆ จึงอาจเป็นกรณีที่ผู้ตายหมดสติไป ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตรวจดูให้ดีเลยพาผู้ตายไปทิ้งไว้บนเขาภูเหล็กไฟ
การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเคลื่อนย้ายศพนั้น เห็นว่าภายหลังวันเกิดเหตุจนถึงวันที่พบศพผู้ตาย โจทก์ไม่มีพยานคนใดเบิกความว่าเห็นจำเลยทั้งสองขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ แม้ผลการตรวจเส้นผม 3 เส้นจากบริเวณที่พบศพผู้ตายมี mtDNA ตรงกับจำเลยที่ 2 แต่การตรวจหา mtDNA นั้นไม่สามารถใช้ระบุตัวบุคคลได้
เพียงแต่ระบุได้ว่าเป็นเส้นผมของบุคคลที่อยู่ในสายมารดาเดียวกับผู้ตายเท่านั้น เส้นผมดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องเป็นของจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว เห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสองในข้อหานี้
พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 317 วรรคแรก ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร จำคุก 10 ปี ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง
อนึ่ง คดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร ตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้งว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีข้อสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 เห็นควรพิพากษายกฟ้อง จึงให้รวมไว้ในสำนวน ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (1)