×

ฝ่าวิกฤตโควิดด้วย HealthTech ทำความรู้จัก CHIVID แอปพลิเคชันที่ช่วย Home & Community Isolation [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
21.09.2021
  • LOADING...
CHIVID

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • หลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้ HealthTech เป็นเมกะเทรนด์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของโลก และเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ยิ่งเจอเข้ากับวิกฤตโควิดเป็นปัจจัยเร่ง ส่งผลให้ HealthTech ยิ่งต้องเร่งพัฒนา เพราะเป็นห้วงเวลาที่ประชาคมโลกต่างต้องการโซลูชันใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา
  • CHIVID คือแอปพลิเคชันสำหรับ Home & Community Isolation พัฒนาขึ้นโดยสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม ปตท. และ บริษัทพัฒนานวัตกรรมและซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ บริษัท เมดเอนไซ จำกัด (Medensy) ซึ่งเป็นระบบอำนวยความสะดวก เฝ้าระวังและติดตามสังเกตอาการของผู้ป่วยในระยะไกล โดยใช้  AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูลก่อนวินิจฉัยโดยแพทย์

ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเร่งเร้าให้ประชาคมโลกต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากโรคอุบัติใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาวัคซีน ยารักษา ระบบ และนวัตกรรมในการดูแลรักษาผู้ป่วย ฯลฯ ท่ามกลางวิกฤตดังกล่าวที่เราไม่อาจปล่อยให้บุคลากรทางการแพทย์ต่อสู้เพียงลำพัง จึงต้องหาทางจำกัดการติดเชื้อ และลดการสูญเสียชีวิตผู้คนให้ได้มากที่สุด ท่ามกลางมรสุมนี้สิ่งหนึ่งที่ THE STANDARD คิดว่าน่าสนใจก็คือ หลายภาคส่วนทั่วโลกมีการนำ ‘เทคโนโลยีทางการแพทย์และการรักษา’ หรือ ‘HealthTech’ เข้ามาใช้ในการช่วยต่อกรกับโรคระบาดชนิดนี้ เช่นเดียวกับในประเทศไทยของเรา

 

วิกฤตการณ์โลกเร่งเร้าให้ HealthTech ต้องก้าวหน้า

 

CHIVID

HealthTech เป็นเมกะเทรนด์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของโลก

ยิ่งเจอเข้ากับวิกฤตโควิดยิ่งต้องเร่งพัฒนา

 

ความจริงแล้วแม้จะไม่มีวิกฤตโควิดเข้ามาเป็นแรงเสริม แต่ด้วยกระแสการดูแลสุขภาพ (Health Conscious) ที่มาแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพ ประกอบกับปัจจัยที่หลายประเทศทั่วโลกต่างก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) ล้วนส่งผลให้ HealthTech นั้นเป็นเมกะเทรนด์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของโลก และเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มจะเติบโตสูงอยู่แล้ว ยิ่งเจอเข้ากับวิกฤตโควิดเป็นปัจจัยเร่งที่ส่งให้ HealthTech ยิ่งต้องพัฒนา เพราะเป็นห้วงเวลาที่ประชาคมโลกต่างก็ต้องการโซลูชันใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา

 

สำหรับประเทศไทยของเรา HealthTech เริ่มมีบทบาทมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะเติบโต และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอนาคตอันยั่งยืนของประเทศ โดยในปี 2564 นี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า เม็ดเงินการใช้จ่ายสำหรับ HealthTech ของไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 300-400 ล้านบาท ทั้งยังคาดอีกว่าในระยะอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะมีการเติบโตมากขึ้นถึง 10-12% เลยทีเดียว

 

HealthTech ช่วยในการต่อสู้กับโควิดได้อย่างไร? 

 

CHIVID

ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี

สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และการรักษาได้อย่างกว้างขวาง

 

เราสามารถนำเอาความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และการรักษาได้อย่างกว้างขวาง สำหรับในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาและมีให้เห็น เช่น ระบบติดตามบุคคล ซึ่งทำให้ทราบประวัติการเดินทางว่าไปยังสถานที่เสี่ยงที่ไหนมาบ้าง ช่วยในเรื่องจำกัดการแพร่กระจายเชื้อ ระบบติดตามการแพร่ระบาด เครื่องมือช่วยประเมินอาการเบื้องต้น รวมถึงลงทะเบียนรับวัคซีน ตลอดจนมีการนำ Internet of Medical Things (IoMT) มาเชื่อมต่อกับเครือข่ายที่ใช้ในงานด้านสุขภาพ มีการนำระบบแพทย์ทางไกล หรือ ‘Telemedicine’ มาให้บริการ เช่น การปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์ ฯลฯ จะเห็นได้ว่ามีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสุขภาพเหล่านี้มาใช้ในการต่อสู้กับวิกฤตโควิดในหลายๆ ด้าน และล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้มีการเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน ที่ THE STANDARD คิดว่าน่าสนใจมากอย่างหนึ่งนั่นก็คือ ‘CHIVID’

 

รู้จักกับ CHIVID แอปพลิเคชันสำหรับ Home & Community Isolation

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าที่ผ่านมามีจำนวนผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้สถานพยาบาลไม่สามารถจะรองรับได้ไหว ดังนั้นเพื่อช่วยลดปัญหาเตียงไม่พอ ประกอบกับผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่ได้มีอาการรุนแรงน่าเป็นห่วงมาก เช่น ผู้ป่วยสีเขียวกับสีเหลืองที่สามารถแยกกักตัวเองที่บ้านและภายในชุมชน หรือรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามได้ จึงได้มีการนำ HealthTech อย่าง CHIVID เข้ามาช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการจัดการและดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้

 

CHIVID

แอปพลิเคชัน HealthTech ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าสู่การรักษาเบื้องต้น

ในรูปแบบ Home & Community Isolation 

ช่วยแบ่งเบาภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ด้วย AI

 

แอปพลิเคชันดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จับมือกับบริษัทพัฒนานวัตกรรมและซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ บริษัท เมดเอนไซ จำกัด (Medensy) ซึ่งเป็นระบบอำนวยความสะดวกในการเฝ้าระวัง และติดตามสังเกตอาการของผู้ป่วยในระยะทางไกล โดยออกแบบและปรับปรุงให้มีความสะดวกในการใช้งานสำหรับผู้ป่วย เพื่อส่งข้อมูลเข้าระบบ และระบบคัดกรองอาการโดยใช้ AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูลก่อนการวินิจฉัยโดยแพทย์ เรียกได้ว่าเป็นแอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนามาเพื่อช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการติดตามอาการ และดูแลรักษากลุ่มผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) การกักตัวในชุมชน (Community Isolation) และโรงพยาบาลสนาม (Hospitel) ในช่วงการระบาดของโรคโควิดโดยเฉพาะ 

 

การต่อยอดองค์ความรู้

ก่อนหน้าที่จะพัฒนาแอปพลิเคชัน CHIVID นี้ นักวิจัยจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ได้พัฒนา AI-base feature ชื่อ PACMAN ที่ขณะนี้ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปได้ใช้งานผ่านเว็บไซต์ www.pacman-covid19.com/o2 เพื่อใช้ในการแปลผลภาพถ่ายเครื่อง Pulse Oximeter เป็นตัวเลขเพื่อให้ประชาชนที่ยังใช้งานเครื่อง Pulse Oximeter ไม่เป็นนั้นสามารถใช้งาน และเข้าใจค่าตัวเลขที่วัดได้อย่างถูกต้อง 

 

ซึ่งทีมพัฒนาแอปพลิเคชัน CHIVID ได้มองเห็นถึงประโยชน์ในการใช้ AI ดังกล่าวมาใช้ในการช่วยลดภาระงานฝั่งการแพทย์ที่จะต้องกรอกข้อมูลผู้ป่วย รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยที่ยังไม่เข้าใจว่าเลข SpO2 และ HR เป็นค่าอะไร สามารถส่งข้อมูลที่ถูกต้องให้กับแพทย์ได้ และทำให้ง่ายต่อการอัปเดตอาการป่วยรายวัน

 

CHIVID

 

ผู้ป่วยสามารถใช้งานได้อย่างง่ายดาย 

ในการนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ CHIVID นั้น ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้ป่วยโควิดที่อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลที่เข้าร่วม หลังจากแพทย์ทำการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะแจ้งผู้ป่วยให้ลงทะเบียนใช้งานระบบผ่านแอปพลิเคชัน LINE ในการติดตามอาการต่อไป ซึ่งในการติดตามอาการนั้น ผู้ป่วยจะต้องส่งข้อมูลสุขภาพรายวันผ่านทาง LINE Official Account ที่ลงทะเบียนไว้ ในการส่งอัปเดตอาการป่วยรายวันนั้น ระบบได้มีการพัฒนาให้ผู้ป่วยสามารถกรอกข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยมีการนำ AI ชื่อ PACMAN เข้ามาช่วยในการกรอกข้อมูล เพียงถ่ายรูปค่าจากหน้าจอ Pulse Oximeter รุ่นอะไรก็ได้ ระบบจะแปลผลภาพถ่ายเป็นตัวเลขให้อัตโนมัติพร้อมคำแนะนำ

 

ช่วยแบ่งเบางานบุคลาการทางการแพทย์ 

บุคลากรทางการแพทย์ที่งานล้นมือสามารถใช้งานแอปพลิเคชัน CHIVID เพื่ออำนวยความสะดวกและมีประโยชน์ดังนี้ 

 

  1. ใช้สำหรับการยืนยันรับผู้ป่วยใหม่เข้าระบบ 
  2. ใช้ดูรายการผู้ป่วยปัจจุบันในระบบ สามารถเรียกดูรายการผู้ป่วยในระบบทั้งหมด โดยเรียงลำดับตามค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด (SpO2) อุณหภูมิ (Temperature) ชีพจร (Pulse) ค่าความดันโลหิต (Blood Pressure) และอัตราการหายใจ (Respiratory Rate) หรือเข้าดูข้อมูลผู้ป่วยเฉพาะรายบุคคล เพิ่ม Tag กรองดู Vital Sign เฉพาะค่าที่สนใจ นอกจากนี้ระบบยังสามารถแจ้งเตือนเมื่อจำเป็น รวมถึงทำการสั่งยา และให้การรักษาที่จำเป็นให้กับผู้ป่วยแต่ละรายได้อีกด้วย

 

CHIVID

 

  1. ใช้บันทึกความคืบหน้าอาการของผู้ป่วย 
  2. ใช้ติดตามสถานะการส่งยาและอุปกรณ์ต่างๆ ให้ผู้ป่วย 
  3. ใช้ประเมินอาการ และส่งต่อผู้ป่วยเพื่อทำการรักษา 

 

https://youtu.be/DoqLAq8iNxY

การใช้งาน CHIVID

 

ระบบ CHIVID มีระบบการจัดระเบียบคนไข้ที่สามารถแยกผู้ป่วยตามทีมรักษา หรือพื้นที่รับผิดชอบได้ เพื่อให้ดูแลและติดตามผู้ป่วยได้ง่าย อีกทั้งยังมีฟังก์ชันที่อำนวยความสะดวกให้แพทย์อื่นๆ เช่น พิมพ์เวชระเบียนเพื่อใช้เบิกจ่าย ออกใบรับรองแพทย์ สั่งและบันทึกสถานะของการจัดส่งยาและอุปกรณ์ รวมถึงยังมีหน้า Dashboard ที่ใช้สำหรับดูภาพรวมผู้ป่วยในแต่ละวันได้อีกด้วย

 

CHIVID

 

จากที่กล่าวมาเราจะเห็นได้เลยว่า CHIVID เป็น HealthTech แอปพลิเคชันที่มีประโยชน์มาก สามารถช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการกรอกข้อมูลผู้ป่วย ช่วยในระบบช่วยเหลือการตัดสินใจทางการแพทย์ (Clinical Decision Support System) และเมื่ออาการป่วยแย่ลง ระบบจะเปลี่ยนสถานะจากผู้ป่วยสีเขียวเป็นสีเหลืองหรือสีแดง พร้อมแจ้งเตือนไปยังแพทย์โดยอัตโนมัติ เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการส่งต่อรักษาต่อไป จึงกล่าวได้ว่า HealthTech อย่าง CHIVID มีประโยชน์มากภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิดแบบนี้ เพราะช่วยแก้ปัญหาให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาเบื้องต้น และยังช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรด่านหน้าได้อย่างมากมาย 

 

การพัฒนาสำเร็จเป็นจริงได้ด้วยทุนสนับสนุน

ทั้งนี้ การพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยในการต่อกรกับโควิดอย่าง CHIVID นั้นไม่อาจสำเร็จเป็นจริงไปได้เลย หากไม่ได้รับการสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณเงินทุนในการพัฒนา ซึ่งโชคดีที่กลุ่ม ปตท. นั้นยึดมั่นปณิธานยืนหยัดเคียงข้างสังคมไทยตลอดมา และได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศไทย จึงได้ให้การสนับสนุนสถาบันวิทยสิริเมธี มานับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2558 ด้วยเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของ VISTEC ซึ่งบูรณาการวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถทำงานวิจัยเชิงลึก สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางภาคอุตสาหกรรม S-Curve ที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยในอนาคต ไม่ว่าจะทางด้าน Digital, Robotics และ Bio-Industry เพื่อเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

 

CHIVID

กลุ่ม ปตท. สนับสนุนทุนพัฒนาแอปพลิเคชัน CHIVID

 

ที่ผ่านมากลุ่ม ปตท. ได้มีการสนับสนุนงบประมาณโครงการ ซึ่งมีความสอดคล้องกับการดำเนินงานของกลุ่ม จึงได้สนับสนุนและร่วมมือกับภาครัฐและภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตโรคโควิดมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ ‘โครงการลมหายใจเดียวกัน’ รวมถึงโครงการพัฒนาแอปพลิเคชัน CHIVID ก็นับเป็นอีกครั้งที่ VISTEC ได้รับการสนับสนุนสำหรับประเด็นนี้ ผศ.ดร.ธีรวิทย์ วิไลประสิทธิ์พร อาจารย์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ VISTEC ได้กล่าวว่า 

 

“สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ VISTEC ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม ปตท. เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชัน CHIVID ซึ่งมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระงาน และช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยในการติดตามอาการของกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิดที่แยกกักตัวที่บ้าน หรือกักตัวในสถานที่ซึ่งชุมชนจัดไว้รองรับ รวมถึงโรงพยาบาลสนาม โดยสามารถอำนวยความสะดวกในการรวบรวมข้อมูล และส่งข้อมูลเข้าระบบ คัดกรองอาการของผู้ป่วยในเบื้องต้นด้วยเทคโนโลยี AI ก่อนการวินิจฉัยของแพทย์ต่อไป ทั้งนี้ แอปพลิเคชันดังกล่าวจะยังสามารถพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อต่อยอดการทำงานให้มีประโยชน์ต่อการใช้งานในระบบดูแลสุขภาพของประเทศไทยต่อไปได้ในอนาคต” 

 

ปัจจุบัน แอปพลิเคชัน CHIVID ได้ถูกนำไปใช้หลายแห่ง อาทิ โรงพยาบาลกระทุ่มแบน, โรงพยาบาลบางปะกง, โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็นประโยชน์ต่อระบบการดูแลสุขภาพของประเทศต่อไปในอนาคตได้อย่างกว้างขวาง สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ของโลก ที่มุ่งเน้นการดูแลรักษาสุขภาพด้วย HealthTech ซึ่งหากโรงพยาบาลไหนสนใจอยากใช้งานระบบ CHIVID สามารถติดต่อได้ที่ LINE @medensy หรือ Inbox Facebook Fanpage: Interfaces ได้เลย

 

ต้องบอกว่างานนี้น่าชื่นชมกลุ่ม ปตท. ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเร่งพัฒนา HealthTech เพื่อแก้ไขวิกฤตโควิด จึงได้ยื่นมือให้การสนับสนุนพัฒนาแอปพลิเคชัน CHIVID ซึ่งช่วยทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเข้าถึงการรักษาตัวเบื้องต้น ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมากมาย แถมยังเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อความยั่งยืนของประเทศไทยเราในอนาคตอีกด้วย 

FYI

พันธกิจในการสนับสนุน VISTEC ที่ผ่านมาของ ปตท. 

  • ที่ผ่านมากลุ่ม ปตท. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนเงินบริจาคเพื่อการศึกษาให้แก่โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี เป็นระยะเวลา 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2565-2574) เป็นเงินบริจาค 7,768 ล้านบาท 
  • ก่อนหน้านั้นได้สนับสนุนงบดำเนินการในช่วงก่อสร้าง และเริ่มต้นดำเนินการตั้งแต่ปี 2556-2560 จำนวน 5,745.9 ล้านบาท และระหว่างปี 2561-2564 อีกจำนวน 2,500 ล้านบาท
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X