×

กรรมการนิสิตวิศวะ จุฬาฯ แถลงการณ์ เสียใจ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ถูกจับโยนบก หลังผ่านมา 67 ปี

โดย THE STANDARD TEAM
28.10.2020
  • LOADING...
กรรมการนิสิตวิศวะ จุฬาฯ แถลงการณ์ เสียใจ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ถูกจับโยนบก หลังผ่านมา 67 ปี

วันนี้ (28 ตุลาคม) กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ถึงกรณี ‘โยนบก’ จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2496 โดยมีรายละเอียดระบุว่า

 

ตามที่ได้มีการพูดถึงในสังคมอย่างกว้างขวางกรณี ‘โยนบก’ จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2496 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในวันดังกล่าวได้มีการเรียกประชุมนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกว่า 3,000 คน เพื่อชี้แจงกรณีที่หนังสือมหาวิทยาลัย 23 ตุลาฯ ซึ่งมี จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นสาราณียกรถูกระงับการจัดพิมพ์ เนื่องจากหนังสือเล่มดังกล่าวมีเนื้อหาและภาพปกที่แตกต่างไปจากที่เคยจัดทำ ระหว่างการชี้แจงของจิตรได้มีนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งขึ้นไปบนเวที และจับจิตร ‘โยนบก’ ลงมายังด้านล่างของเวที เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อสังคมของชาวประชาคมจุฬาฯ ณ ขณะนั้นเป็นอย่างมาก

 

ในอดีตชาวจุฬาฯ จะมีวิธีการลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการ ‘โยนน้ำ’ โดยมีนัยที่จะให้ผู้กระทำผิดได้สำนึกต่อการกระทำและชำระล้างความผิดที่ได้กระทำไป แต่สำหรับกรณี ‘โยนบก’ ไม่ปรากฏว่ามีการใช้วิธีนี้ในการลงโทษนอกเหนือไปจากที่จิตรถูกกระทำในวันดังกล่าว ด้วยบริบททางสังคมที่แตกต่างกันระหว่างอดีตและปัจจุบัน ทางกรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่ามิอาจใช้มุมมองของสังคมปัจจุบันมาพิจารณาว่าเหตุการณ์การลงโทษผู้กระทำผิดที่เกิดขึ้นในครั้งอดีต ทั้งการ ‘โยนน้ำ’ และ ‘โยนบก’ นั้นเหมาะสมหรือไม่ 

 

อย่างไรก็ตาม กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าการ ‘โยนบก’ ในกรณีที่จิตรถูกกระทำนั้นถือเป็นการลงโทษรูปแบบหนึ่งซึ่งจิตรไม่สมควรได้รับ เพียงเพราะต้องการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัยในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากเดิม

 

แม้ว่าในกรณี ‘โยนบก’ จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2496 จะมีประจักษ์พยานกว่า 3,000 คนที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้น แต่ข้อเขียนที่ปรากฏในบันทึกที่สามารถเป็นหลักฐานใช้อ้างอิงนั้นมีอยู่เพียงจำกัด ทางกรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าหลักฐานซึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏดังกล่าวมิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ทั้งหมดอย่างครบถ้วนทุกมุม จึงมิอาจนำมาใช้พิจารณาตัดสินอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่

 

ดังนั้น กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีมติในการออกแถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อแสดงความเสียใจต่อ จิตร ภูมิศักดิ์ และครอบครัว จากกรณีที่จิตรได้ถูกกระทำความรุนแรงในเหตุการณ์ดังกล่าวมา ณ ที่นี้

 

ทั้งนี้ กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอยึดมั่นในหลักการไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ และผลักดันให้เกิดการแสดงออกทางความคิดที่แตกต่างและสร้างสรรค์ตามแนวทางสันติวิธี

 

สำหรับ จิตร ภูมิศักดิ์ ถือเป็นนักคิดด้านการเมือง นักประวัติศาสตร์ และนักภาษาศาสตร์ นับเป็นนักปราชญ์และนักปฏิวัติทางความคิดและวิชาการคนสำคัญของประเทศไทย จิตรเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่กล้าถกเถียงและคัดค้านปราชญ์คนสำคัญด้วยวิธีคิดที่มีเหตุผลและลุ่มลึก มีความโดดเด่นจากผลงานการค้นคว้าทางวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง ขณะเดียวกันจิตรยังมีความคิดต่อต้านระบบเผด็จการและการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูงมาโดยตลอด ผลงาน 3 รายการของเขาได้รับยกย่องเป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • หนังสือ กรณี ‘โยนบก’ 23 ตุลา โดยสำนักพิมพ์นกฮูก
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising