วันนี้ (15 มิถุนายน) ชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะวิปพรรคร่วมรัฐบาล ได้ลุกขึ้นเพื่อเสนอญัตติให้สภาได้รวมพิจารณากับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เนื่องจากเห็นว่ายังมีร่าง พ.ร.บ. อีก 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ตามระเบียบวาระเรื่องด่วนที่ 14 ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ตามระเบียบวาระเรื่องด่วนที่ 15 และ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …. ซึ่ง อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ กับคณะ เป็นผู้เสนอ ตามระเบียบวาระที่ 6.3
ชินวรณ์กล่าวว่า ตนเห็นว่าร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 4 ฉบับ เป็นเรื่องทำนองเดียวกันและเกี่ยวเนื่องกัน น่าจะนำมาพิจารณาพร้อมกัน ตามข้อบังคับข้อ 55 (2) แต่แยกลงมติในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการทีละฉบับตามลำดับ ตามข้อบังคับที่ 117 วรรค 3
จากนั้นได้ลุกขึ้นชี้แจงเพิ่มเติมถึงประเด็นในเรื่องความเกี่ยวเนื่องหรือทำนองเดียวกันของกฎหมายทั้ง 4 ฉบับว่า หลักของกฎหมายฉบับนี้ จากการที่ได้เสนอขอแก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มีประเด็นสำคัญคือเรื่องคู่สมรสเท่าเทียม ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลก็เห็นว่ามีความยินดีที่จะรับรองสิทธิเสรีภาพในเรื่องดังกล่าว แต่เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ถึง 60 กว่ามาตรา อาจกระทบกับมาตราอื่นหรือกฎหมายอื่น หรืออาจกระทบต่อหลักการ ประเพณีและวัฒนธรรม ตลอดจนกฎหมายรัฐธรรมนูญที่รับรองเรื่องชาย-หญิงด้วย จึงเห็นว่าขณะนี้สมควรที่จะมีกฎหมายเฉพาะสำหรับในเรื่องคู่ชีวิต ที่ให้บุคคลที่มีลักษณะทางเพศหลากหลายมีโอกาสได้รับการรับรองโดยกฎหมายให้เป็นคู่ชีวิต
สำหรับประเด็นเรื่องการเปรียบเทียบถึงความเกี่ยวเนื่องในกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนั้น ชินวรณ์กล่าวว่า จากการศึกษากฎหมายทั้งหมดแล้วพบว่ามีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องอย่างชัดเจน เมื่อดูร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ทั้งของคณะรัฐมนตรีและของ ดร.อิสระ รวมทั้งกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องสมรสเท่าเทียมของธัญวัจน์ ก็จะเห็นว่ามีสถานะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของครอบครัว เพียงแต่ฉบับหนึ่งใช้คำว่าคู่ชีวิต แปลว่าบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถที่จะใช้ชีวิตเป็นคู่ชีวิตตามกฎหมายนี้ ส่วนของธัญวัจน์ใช้คำว่าคู่สมรส ซึ่งมีประเด็นที่อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นหญิง-ชาย และเกี่ยวข้องกับสิทธิตามกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับเรื่องครอบครัวในเรื่องอื่นด้วย
ซึ่งเรื่องที่เห็นชัดเจนว่ามีความเกี่ยวพันกันคือเรื่องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน เรื่องการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน เรื่องอำนาจการจัดแทนผู้เสียหายในคดีอาญา หรือสามี-ภรรยา เรื่องการรับบุตรบุญธรรม เรื่องการรับมรดก เรื่องเป็นผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ เรื่องลงนามความยินยอมให้รักษาพยาบาล เรื่องจัดการศพ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องและเกี่ยวพันกัน ดังนั้นหากสภาเปิดกว้างและยอมรับความจริงว่าวันนี้จะเป็นหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งที่จะต้องยอมรับสิทธิและเสรีภาพขั้นเบื้องต้นในเรื่องนี้ เราก็น่าที่จะร่วมกันดำเนินการเพื่อนำเอาสาระสำคัญของแต่ละฉบับไปพิจารณาร่วมกันในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.)
ชินวรณ์กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ตนจึงยืนยันด้วยหลักการและเหตุผลว่า ที่เสนอให้รวมพิจารณานั้นเป็นไปตามข้อบังคับข้อ 55 (2) และให้ลงมติทีละฉบับ ก็เป็นข้อบังคับที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งใช้มาโดยตลอดในเรื่องการรวมระเบียบวาระ ที่จะให้มีการรวมลงมติหรือแยกการลงมติ
นอกจากนี้ชินวรณ์ได้ลุกขึ้นชี้แจงในประเด็นข้อบังคับข้อที่ 64 เพื่อยืนยันเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในการปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพว่า ท่านประธานเองก็ได้คำนึงถึงหลักกฎหมาย หลักข้อบังคับที่ชัดเจน และต้องใช้มติของที่ประชุมเป็นการตัดสินใจ การจะอ้างว่าข้อบังคับข้อที่ 64 หากกระทำแล้วอาจขัดรัฐธรรมนูญนั้น ตนก็เห็นว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ เพราะข้อบังคับข้อที่ 64 ที่บัญญัติว่า ญัตติใดถึงเวลาพิจารณาในที่ประชุมแล้ว การเสนอญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันจะกระทำมิได้นั้น หมายความว่าเป็นเรื่องที่ได้มีมติหรือเคยตกไปแล้ว หรือหยิบยกขึ้นมาแล้วเสนอญัตติเช่นเดียวกันนั้นจะทำมิได้ แต่ในกรณีข้อบังคับข้อ 55 ซึ่งเป็นบทบัญญัติก่อนข้อบังคับข้อ 64 ได้เขียนไว้ชัดเจนเช่นเดียวกันว่า การเสนอญัตติในทำนองเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกันสามารถรวมพิจารณาได้